ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการทางถนน ระบุทางหลวงประเทศไทย ตามหลักวิศวกรรมรองรับความเร็วรถวิ่งประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากจะเพิ่มความเร็วต้องปรับปรุงถนนก่อน

นายณัฐพงศ์​ บุญตอบ​ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัย​วิศวกรรมจราจร มูลนิธิไทยโรดส์ กล่าวถึงนโยบายการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถทุกชนิด ทั้งส่วนบุคคลและรถสาธารณะ ที่วิ่งบนถนนที่มีการจราจร 4 ช่องทางจราจรขึ้นไป ให้สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากปัจจุบันที่สามารถใช้ความเร็วได้เฉลี่ย 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงว่า

ทางหลวงทุกเส้นในประเทศไทย ตามหลักการแล้วออกแบบมารองรับที่ความเร็วประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ยกเว้นเส้นทางมอเตอร์เวย์ ที่ออกแบบถนนมาเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ทราบว่าต้องมีการสำรวจถนนเส้นต่างๆ ว่าสามารถใช้ความเร็วได้หรือไม่ เพื่อนำร่องก่อน  และหากจะให้สมบูรณ์ ต้องมีการปิดจุดตัดหรือจุดกลับรถ เพราะจะเสี่ยงต่อรถที่ใช้ความเร็ว ดังนั้นต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยสูงสุด ก่อนดำเนินการ และต้องมีป้ายแจ้งเตือนที่ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนถนนร้อยละ 70 มาจากรถยนต์ใช้ความเร็ว จึงไม่เห็นด้วยหากเพิ่มความเร็วไปมากกว่าปัจจุบัน

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ThaiRoads ได้อธิบายถึงการใช้ความเร็วที่ความสัมพันธ์กับโอกาสการเกิดอุบัติเหตุและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ระบุว่า “ยิ่งขับเร็วยิ่งหยุดยาก” เมื่อเพิ่มความเร็วจาก 32 กม./ชม. เป็น 112 กม./ชม. หรือ 3.5 เท่า จะต้องใช้ระยะทางในการหยุดรถเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า เมื่อเจอรถคันหน้าเบรกกระทันหัน คนข้ามถนน หรือสัตว์วิ่งตัดหน้ารถ ก็เสี่ยงมากต่อการชน “ยิ่งเร็วยิ่งเจ็บหนัก” เมื่อความเร็วมากกว่า 80 กม./ชม.ขึ้นไป ถ้าชนกันจะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า การชนกันที่ความเร็ว 40 กม./ชม. ถึง 15 เท่า และความเร็วเพิ่มทุก ร้อยละ 10 จะเพิ่มแรงปะทะ ร้อยละ 21และเพิ่มความรุนแรงของอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตสูงถึง ร้อยละ 46 

นอกจากนี้ คนเดินถนนจะเสียชีวิตหรือไม่เมื่อถูกรถชนขึ้นอยู่กับความเร็ว หากถูกชนที่ความเร็ว 32 กม./ชม. คนเดินถนนจะมีโอกาสเสียชีวิตเพียงร้อยละ 5 และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45 ถ้าถูกชนที่ความเร็ว 48 กม./ชม. และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85 หากถูกชนที่ความเร็ว 64 กม./ชม.