เดิมทีทุกๆ 3 ปี เพียร์สันจะปรับแก้เนื้อหาตำราเรียนกว่า 1,500 หัว เพื่อให้อัปเดตทันต่อยุคสมัย ทว่าในวันที่ 16 กรกฎาคม เพียร์สันได้ประกาศว่ากำลังดำเนินการยุติการปรับแก้เนื้อหาของตำรากระดาษในระดับปริญญาตรีขึ้นไป และหันไปมุ่งอัพเดทเนื้อหาให้บ่อยขึ้นในฉบับตำราดิจิทัลแทน นั่นหมายความว่านักศึกษาที่ต้องการตำราเรียนที่มีเนื้อหาที่มีความรู้อัปเดตทันสมัยของเพียร์สันจะต้องหันไปใช้บริการอีบุ๊กส์แทน
การตัดสินใจในครั้งนี้ของเพียร์สันเป็นการปรับตัวเพื่อลดราคาของตำราลงให้นักศึกษาสามารถซื้อไหว เนื่องจากราคาของตำราเรียนในสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยสูงขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อถึง 4 เท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นักศึกษาจำนวนมากจึงหันไปซื้อตำราเรียนมือสองแทน หรือไม่ซื้อตำราเรียนบางเล่มไปเลย ทำให้ผู้ผลิตตำราสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไป
ราคาตำราอีบุ๊กส์ที่เพียร์สันให้บริการนั้นโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่เล่มละ 40 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,240 บาท) ไปจนถึง 79 (ราว 2,440 บาท) ดอลลาร์สหรัฐหากต้องการตำราพร้อมเครื่องมือช่วยเรียนรู้อื่นๆ เช่น ตัวช่วยทำการบ้าน ขณะที่ราคาตำรากระดาษบางเล่มนั้นสูงถึง 200-300 ดอลลาร์สหรัฐต่อเล่ม (ราว 6,170-9,280 บาท) โดยหากต้องการเช่ายืมฉบับกระดาษก็มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อเล่ม (ราว 1,850 บาท) ทางเพียร์สันเผยว่ารายได้ 62 เปอร์เซ็นต์ในขณะนี้มาจากผลิตภัณฑ์ดิจิทัลมากกว่ากระดาษ
ในปีหน้าเพียร์สันจะอัปเดตเนื้อหาตำรากระดาษเพียง 100 หัว จากที่ในปี 2019 นี้อัปเดต 500 หัว การหยุดอัปเดตเนื้อหาในตำรากระดาษทุก 3 ปี แล้วให้ไปอัปเดตในตำราดิจิทัลอย่างต่อเนื่องแทน จะช่วยลดต้นทุนในการพิมพ์หนังสือเล่มเดิมใหม่ ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในการสต็อกหนังสือในโกดังลงอีกด้วย
โมเดลการมุ่งให้บริการตำราดิจิทัลเป็นหลักของเพียร์สันจะเริ่มที่สหรัฐฯ เป็นแห่งแรก ก่อนจะขยายไปยังตลาดอื่นๆ อย่างสหราชอาณาจักรด้วย
ทั้งนี้ เพียร์สันไม่ใช่ผู้ผลิตตำราวิชาการและบริการการศึกษารายเดียวที่มุ่งสู่ตลาดดิจิทัล แม็กกรอว์-ฮิลล์ ก็ได้ลงทุนในคอนเทนต์ดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มาแล้วหลายปี การมุ่งสู่ตลาดอีบุ๊กส์เป็นหนึ่งในความพยายามปรับตัวของเพียร์สันหลังปลดพนักงานทั่วโลกหลายพันคนเมื่อต้นปี และขายกิจการอย่างสำนักสื่อไฟแนนเชียลไทม์สไปเพื่อลดค่าใช้จ่าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: