ไม่พบผลการค้นหา
คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเสวนา 'ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย ไม่แก้ไขเขียนใหม่เท่านั้น' ห่วงตั้ง ส.ส.ร.กินเวลานานถึง 2 ปี ไม่ตอบโจทย์ประเทศ เศรษฐกิจตกเหว หนุนการเมืองนอกสภา ชวนประชาชนล่าชื่อแก้รัฐธรรมนูญอย่าหยุดที่ 50,000 รายชื่อ

คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. จัดเสวนา 'ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย ไม่แก้ไขเขียนใหม่เท่านั้น' ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว โดยมี ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ และ รศ.สามชาย ศรีสันต์ จากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยวงเสวนาตั้งฉายาให้ รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญ (รธน.) ที่ทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ มีความวิปริตผิดเพี้ยนและพยายามทำให้สิ่งเหล่านี้ถูกต้อง ในนามของกฎหมายและไม่เปิดโอกาสให้เกิดการแก้ไขได้โดยง่าย ขัดขืนต่อความเปลี่ยนแปลง แม้จะมีแนวทางเสนอถึงการตั้ง ส.ส.ร.หรือจะแก้เพียงรายประเด็น ก็จะพบกับดักและหลุมพรางเต็มไปหมดตลอดเส้นทางการแก้ไข และการแก้ไข รธน.นี้จะกินเวลาไปอีกนาน 

ทั้งนี้วงเสวนา เสนอแนวทางผ่าทางตัน 

1.แก้ รธน.แล้วตั้ง ส.ส.ร.มาเพื่อร่าง รธน.ฉบับใหม่ ถือเป็นแนวทางที่จะพยายามโละ รธน. 2560 ทำให้เกิดการเปลี่ยนระบบการเมืองใหม่ แต่ใช้เวลานานอย่างต่ำไม่น้อยกว่า 2 ปี และจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่ตกเหวอยู่ในขณะนี้ 

2.แก้รายมาตรา ในบางประเด็น เลือกในบางประเด็นที่ไม่ต้องทำประชามติ โดยเฉพาะเรื่องของ ส.ว.และระบบเลือกตั้ง ที่ต้องสะท้อนความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น

โดยย้ำว่า ทั้ง 2 แนวทางนั้น มีปัญหาต้องทำการเมืองนอกสภา ให้เข้มแข็ง รักษาจังหวะก้าวให้เข้มแข็ง และขยายฐานขยายแนวทาง โดยเฉพาะการล่าชื่อร่วมแก้รัฐธรรมนูญ ที่ต้องไม่หยุดที่ 50,000 รายชื่อ 

รธน.2560 ทำให้ความวิปริตชอบด้วยกฎหมาย ขัดขืนต่อการเปลี่ยนแปลง

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ได้กล่าวถึง รธน.ปี 2560 ว่า สิ่งที่ตนเข้าใจก็เห็นว่าถูกคัดค้านมาตั้งแต่ก่อนประกาศใช้ และหลังใช้มาระยะเวลาหนึ่ง ฉายา คือ ปราบโกง แต่ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นได้ชัดว่าไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหามากมาย

ส่วนตัวมอง 2 ประเด็นในตัวของ รธน.2560 คือ 1.ทำให้ความวิปริตชอบด้วยกฎหมาย ยกตัวอย่างกรณีของ ส.ว.ที่ตั้งกันเอง ในส่วนขององค์กรอิสระ ส่วนนี้แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะมีเรื่องให้เอือมระอาเรื่อยมา ด้านสิทธิมนุษยชน ก็มีความผิดเพี้ยน ยกตัวอย่าง คนมายืนถือป้ายเฉยๆ แต่กลับมีความผิด 2.ขัดขืนต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย คือต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วยตัวเอง และต้องเปิดโอกาสให้ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม แต่สิ่งที่เห็น คือมีกับดักและหลุมพรางเต็มไปหมด 

สุดท้ายตัวของ รธน.ฉบับนี้ มีช่องทางให้แก้ไขยาก นี่คือ 2 สิ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่าแบบนี้อาจจะทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟในอนาคต เพราะมันวิปริต และไม่เปิดให้แก้ไข 

สมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกส่วนหนึ่งที่ถือว่าก็เป็นข้อสังเกต ในสถานการณ์ตอนนี้ มองถึง 4 ข้อ คือ 1.ส่วนตัวคิดว่า ข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นที่ว่า 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน เห็นได้ชัดว่าการคุมคามยังมีอยู่ ส่วนการรัฐประการยังตอบไม่ได้ ว่าจะมีหรือไม่ แต่สิ่งที่ต้องทำคือต้องหยุดคุกคามคามประชาชน ยกตัวอย่างกรณีนักเรียนไปเรียกร้องหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ตนมองว่าหากยังมีการคุกคามอย่างต่อเนื่อง การหยุดเรียนของนักเรียน ก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ อีกส่วนนึงอยากให้ลองเสนอมาตรการหากมีการรัฐประหาร ว่าจะมีมาตรการตอบโต้อย่างไร เพราะการเผชิญกับระบอบเผด็จการต้องมีแบบแผน 

2.คงเคยได้ยินคำว่า สงครามครั้งสุดท้าย ที่พูดบ่อยครั้ง แต่ตนมองว่าต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก แต่ก็ยังมีเรื่องที่ต้องให้จัดการอย่างต่อเนื่อง และไม่ใช่แค่การโค่นล้มรัฐบาล ต้องมีการมองแบบระยะสั้นและยาว ต้องตระหนักว่าในความเป็นจริง ไม่มีคำว่าสงครามครั้งสุดท้าย

3.ต้องแยกมิตร กับฝ่ายตรงกันข้าม เห็นคนจำนวนไม่น้อย ยืนตรงข้ามแต่กลับมาเป็นฝ่ายประชาธิปไตย จุดนี้ต้องมองให้เป็นความสำเร็จของการเคลื่อนไหว

4.ตนเห็นข้อเสนอดังกล่าว ในจุดยืนของนักเคลื่อนไหว คิดว่าสิ่งนี้คือฉันทามติโดยนัย นี่คือข้อตกลงร่วมกัน ประเด็นพื้นฐานที่จะเริ่มต้นนั้นจะเป็นตัวนำไปให้ถึงฝั่ง

อย่างไรก็ตาม การตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเพื่อแก้รัฐธรรมนูญก็สำคัญ และคิดว่าการล่ารายชื่อ ไม่ควรหยุดที่ 50,000 รายชื่อ แต่ควรเป็นแสนรายชื่อยิ่งดี เพราะตนมองว่าปริมาณ มีส่วนกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หลังจากนี้แนวทางจะไปทางไหน ตนไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้มาจากการเมืองนอกสภา ส่วนนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้เกิดการแก้ไขได้

การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย มาจากสามัญสำนึกไม่ใช่การเมืองของนักกฎหมาย 

ด้าน ศ.ธเนศ กล่าวว่า สถานการณ์การเคลื่อนไหวในปัจจุบันเพื่อเปลี่ยนแปลงร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในเรื่องของความชอบธรรม ไม่มีใครสามารถอ้างได้ แม้รัฐธรรมนูญก็อ้างไม่ได้ กลายเป็น​ว่าต้องขึ้นอยู่ว่าใครจะเป็น​ผู้ใช้อำนาจ โดยเป็นตรรกกะในการต่อสู้ทั้งหมดเพื่อชนะทางการเมือง ดังนั้นระบอบการปกครองใดๆ ก็ตาม จะทำงานได้จึงต้องมีเสถียรภาพ และประชาชนจะต้องยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม คสช.ก็ไม่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมองย้อนกลับไปประวัติศาสตร์ 10 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวที่แตกต่างไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือสลิ่ม แต่นำมาสู่ข้อเรียกร้องเดียวกัน นำไปสู่ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เอา ส.ว.ซึ่งคนส่วนใหญ่รับรู้ ไม่ใช่เขียนกันเอง ตีความกันเอง การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย มาจากสามัญสำนึกไม่ใช่การเมืองของนักกฎหมาย จึงต้องเป็นเหตุผลที่ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจได้

'รศ.สามชาย' แนะแก้รัฐธรรมนูญ ต้องยกร่างทั้งฉบับ

รศ.สามชาย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จำเป็นต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ต้องเห็นพ้องต้องกันของคนในสังคม ไม่ใช่คนที่กระจุกตัวอยู่ข้างบนอำนาจ รัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อประชาชน แต่ดีไซน์เพื่อใครบางคนบางกลุ่ม เกิดความเสื่อมถอยกระบวนการยุติธรรม การประดิษฐ์คำแปลกๆ สร้างความชอบธรรม ความเป็นชาติถูกทำให้กลายเป็นเรื่องส่วนตัว รัฐธรรมนูญทำให้สังคมไทยเป็นสังคมทหาร เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา กฎระเบียบไม่เท่าคำสั่ง เป็นไปเพื่อความมั่นคงของรัฐไม่ใช่เพื่อประชาชน ทำให้ทหารสอดแทรกการบริหารราชการแผ่นดินไปทุกภูมิภาค

การให้สิทธิเสรีภาพประชาชนอยู่ภายใต้เงื่อนไขความมั่นคงของรัฐ กฎหมายออกมาลิดรอนเสรีภาพอย่างประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มี พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ให้ทหารไปแทรกซึมปัญหาที่ดิน ป่าไม้ น้ำ จำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ตีความมั่นคงในเชิงทรัพยากร ควบคุมชาวบ้านไม่ให้มีปากมีเสียง 

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของเยาวชนว่า ถูกทหารเข้าไปแทรกแซงในโรงเรียน มีครูเป็นสลิ่ม โรงเรียนและมหาวิทยาลัยถูกบล็อก ส่งเข้าไปเจรจาห้ามเคลื่อนไหว นักเรียนถูกกดทับไว้นานแล้ว เขาจึงต้องออกมาเรียกร้อง บางครั้งมีทหารเข้าไปฝึกนักเรียน รับน้องระบบโซตัส ปลูกฝังการใช้อำนาจ

สมัยรัฐบาลทักษิณ มีคนบอกทำประเทศให้เป็นบริษัท แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันทำประเทศให้เป็นบ้านสงบสุข ใครเห็นต่างกำจัดให้หมดสิ้นไป ทหารเข้ามาอยู่ในบ้าน เอาประชาชนเป็นรั้วแทนตากแดดตากฝนพูดอะไรไม่ได้ เจ้าบ้านไม่อยู่ในบ้าน วิปริตเพราะทหารอยู่ในบ้านจัดการเรื่องต่างๆ มีหมอไล่ล่าคน ตำรวจคุกคามประชาชน รัฐธรรมนูญเผด็จการนี้ ทำให้รัฐอยู่เหนือรัฐธรรมนูญบิดเบือนความเป็นประชาธิปไตย ส่วนตัวขอเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ชั่วคราว ให้มีการเลือกตั้ง และให้มี ส.ส.ร.

รักษาบรรยากาศการเมืองการแสดงสิทธิเสรีภาพ จี้ให้เกิด ส.ส.ร.ไวที่สุด

เดชรัตน์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดจากแรงกดดันทางการเมือง ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงต้องยอมถอยออกมา เพื่อนำไปสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี โดยแบ่งออกช่วงแรก 4-5 เดือน ซึ่งรัฐบาลยอมถอยให้มีการตั้ง ส.ส.ร.แม้รัฐบาลจะไม่เต็มใจให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เท่าไหร่ แต่ก็เชื่อว่าถ้ารัฐบาลมีโอกาสพลิกเกมได้เขาจะทำอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงต้องพยายามรักษาบรรยากาศทางการเมืองแบบนี้ไว้เพื่อ ส.ส.ร.แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับ ส.ส.ร.จึงต้องมีการเลือกตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างกติการ่วมกันเพราะเราไม่อยากเป็นผู้ชนะเพียงฝ่ายเดียวในระยะที่ 2 คือการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาเป็นปี โดยมีเนื้อหาหลายประเด็นที่จะต้องแก้ไขโดยเฉพาะการเลือกตั้ง ในฝั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ หน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน​แห่งชาติ ​(กสม.)​ รวมถึง ส.ว.มีความจำเป็นว่าต้องยังมีอยู่หรือไม่ เป็นต้น จากนั้นก็เข้าสู่ระยะสุดท้ายคือการมีรัฐบาลใหม่ภายใต้กติกาของประชาชนผ่านรัฐธรรมนูญที่ร่างโดย ส.ส.ร.