ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลเมียนมาถูกกล่าวหาว่า 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' ชาวโรฮิงญา สืบเนื่องจากความรุนแรงในรัฐยะไข่เมื่อปี 2560 นำไปสู่การอพยพลี้ภัยครั้งใหญ่ ซึ่ง 'อองซานซูจี' ระบุว่าจะเดินทางไปชี้แจงข้อเท็จจริงที่ศาลอาญาโลกด้วยตัวเอง

'อองซาน ซูจี' มุขมนตรีแห่งรัฐ ผู้นำพรรครัฐบาลเอ็นแอลดี และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา เตรียมเดินทางไปให้ปากคำต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ 'ไอซีเจ' ด้วยตัวเอง ช่วงต้นเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ หลังจากที่รัฐบาลแกมเบียยื่นฟ้องเมียนมาในข้อหา 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' เมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ซูจียืนยันว่ารัฐบาลเมียนมา ภายใต้การนำของพรรครัฐบาลเอ็นแอลดีที่เธอเป็นผู้นำ 'ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ' และย้ำว่ารัฐบาลเมียนมาปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาโดยยึดหลักกฎหมายสากลอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลแกมเบียระบุว่า รัฐบาลเมียนมารู้เห็นในการล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา พร้อมเรียกร้องให้มีการลงโทษผู้กระทำผิด รวมถึงจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ได้รับผลกระทบ

เอกสารคำร้องของแกมเบียระบุว่า ทางการเมียนมาสังหารหมู่ ข่มขืน และเผาทำลายชุมชนชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ เป็นผลจากคำสั่งของรัฐบาลที่ระบุว่าเป็นการปราบปรามกลุ่มก่อเหตุโจมตีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเมียนมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 

คำสั่งดังกล่าวทำให้ทหารและตำรวจเมียนมาระดมกำลังประชาชนอาสาสมัคร บุกทำลายหมู่บ้านของชาวโรฮิงญา และมีหลักฐานบ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่และประชาชนหลายราย ก่อเหตุรุนแรงกับพลเรือนชาวโรฮิงญา ทั้งที่ยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าคนเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อเหตุจริงหรือไม่ ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาเสียชีวิตและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมาก แกมเบียจึงยื่นฟ้องเมียนมา ข้อหามีส่วนรู้เห็นในการสังหารหมู่-ซ้อมทรมานผู้อื่น และข่มขืนกระทำชำเรา 


ทหารเมียนมา-หมู่บ้านโรฮิงญา-Rohingya-ยะไข่.jpgผู้ลี้ภัยโรฮิงญา-บังกลาเทศ.jpg

นอกจากนี้ ยังมีชาวโรฮิงญาหลายแสนคนต้องหนีภัยความรุนแรงในรัฐยะไข่ ไปอยู่ที่ค่ายพักพิงชั่วคราวบริเวณชายแดน 'บังกลาเทศ' ติดกับพรมแดนทางภาคตะวันตกของเมียนมา และผู้ลี้ภัยจำนวนมาก ไม่กล้ากลับไปภูมิลำเนา เพราะรัฐบาลเมียนมาไม่ยอมรับว่าผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเป็นพลเมืองของตนเอง พวกเขากลัวว่าจะถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม แต่สภาพความเป็นอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวก็แออัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่มีสาธารณูปโภคเพียงพอ

สื่อต่างประเทศรายงานด้วยว่า เมียนมาไม่ได้ลงนามให้สัตยาบันเป็นสมาชิก 'ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ' จึงไม่ถือว่าเป็นสมาชิกของไอซีเจ แต่ 'บังกลาเทศ' ซึ่งรับผิดชอบดูแลค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญานั้นเป็นสมาชิกของไอซีเจ ทำให้คำร้องของรัฐบาลแกมเบียมีผลบังคับต่อรัฐบาลเมียนมา ในฐานะคู่กรณีของบังกลาเทศ

ช่วงเดือนธันวาคมนี้ อองซานซูจีจึงต้องเดินทางไปที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของไอซีเจ และถ้าหากไอซีเจรับฟ้องคดีนี้ จะถือเป็นครั้งแรกที่ศาลในกรุงเฮกจะสอบสวนข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยตัวเอง 

นอกเหนือจากคำร้องของรัฐบาลแกมเบียแล้ว ยังมีองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายแห่งที่ระบุว่าจะยื่นคำร้องต่อไอซีเจให้ดำเนินคดีเมียนมาในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ที่มา: CNN/ The Guardian/ Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: