แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะได้รับการยืนยันทั้งจากฝั่งนักทฤษฎีแทบทุกฝ่าย ไม่เว้นแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ออกมาคาดการณ์ว่าโควิด-19 จะก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยร้ายแรงที่สุดตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในช่วงทศวรรษที่ 30 หรือแม้แต่การรับรู้ถึงความยากลำบากจากตัวประชาชนเอง
บริษัทมากมายในหลายประเทศต้องขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือการพักชำระหนี้ ไปจนถึงการยื่นเรื่องล้มละลายเพราะไม่สามารถดำเนินธุรกิจภายใต้สภาพคล่องติดลบสวนทางกับมูลค่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาและวิกฤตเหล่านี้กลับเดินทางไปไม่ถึง 'ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี' 5 บริษัทของโลก อย่าง เฟซบุ๊ก, ไมโครซอฟท์, แอปเปิล, แอมะซอน และกูเกิล
รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 1/2563 ของเฟซบุ๊ก ชี้ว่าบริษัทมีรายได้ทั้งสิ้น 17,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (555,000 ล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นการขยายตัวขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ตัวเลขคือ 14,912 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (474,000 ล้านบาท) อีกทั้ง เมื่อหักรายจ่ายต่างๆ ออกไป กำไรสุทธิของบริษัทในไตรมาสแรกของปีที่เต็มไปด้วยความยากลำบากจากวิกฤตโรคระบาดยังมีสูงถึง 4,902 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (156,000 ล้านบาท) ซึ่งสูงกว่าตัวเลขของไตรมาสแรกของปี 2562 ถึงร้อยละ 102
'ซัทยา นาเดลลา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไมโครซอฟต์เผยในรายงานผลประกอบการของบริษัทว่า "เราได้เห็นผลรวมของการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยี (Digital Transformation) ที่ควรจะใช้เวลา 2 ปี ภายในระยะเวลาแค่ 2 เดือน" อันเป็นผลมาจากมาตรการการทำงานและการเรียนจากที่บ้าน
ด้วยเหตุนี้รายได้ของไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สำคัญในการทำงานของพนักงานหลายล้านคนทั่วโลกจึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ขึ้นไปแตะตัวเลข 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.1 ล้านล้านบาท) ซึ่งในจำนวนดังกล่าวคำนวณเป็นกำไรสุทธิทั้งสิ้น 10,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (343,000 ล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 22
ขณะที่เมื่อ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา แบรนด์ผลิตสมาร์ตโฟนไปจนถึงเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ชื่อดังอย่างแอปเปิลก็ประกาศตัวเลขรายรับที่เติบโตสูงถึง 58,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.8 ล้านล้านบาท) แม้อัตราการเพิ่มขึ้นจะเป็นเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นสัดส่วนจากการขายสินค้าราว 44,965 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.4 ล้านล้านบาท) และตัวเลขจากยอดการให้บริการอีก 13,348 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (425,000 ล้านบาท)
ด้านบริษัทค้าปลีกออนไลน์เจ้าใหญ่ของโลกอย่างแอมะซอนก็มีผลประกอบการไม่ด้อยไปกว่าบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ โดยมียอดขายในไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นมูลค่ารายรับถึง 75,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2.4 ล้านล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ในฝั่งกำไรสุทธิของบริษัทกลับลดลงมาเหลือแค่ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (79,600 ล้านบาท) จากที่เคยอยู่บนตัวเลข 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (114,000 ล้านบาท) ในไตรมาสแรกของปี 2562 หรือคิดเป็นการปรับตัวลดลงราวร้อยละ 30
ขณะที่ตัวเลขจากรายงานผลประกอบการของเสิร์ชเอ็นจินอย่างกูเกิลมีรายรับรวมในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ 41,159 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.3 ล้านล้านบาท) มากกว่าตัวเลขของไตรมาสแรกในปีก่อนหน้าที่ 36,339 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.1 ล้านล้านบาท) ราวร้อยละ 16 และแบ่งเป็นสัดส่วนกำไรสุทธิทั้งสิ้น 6,836 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (217,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าราวๆ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (6,368 ล้านบาท) เท่านั้น
'ริต้า แม็คเกร็ธ' จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก ชี้ว่า สินค้าหรือบริการที่บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้เสนอขายให้กับผู้คนเป็นสินค้าจำเป็นไม่ใช่แค่ในภาวะวิกฤตแต่ในภาวะวิกฤตที่ประชาชนไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องปฏิบัติตามหลักการเว้นระยะห่างทางสังคมและต้องทำงานหรือเรียนจากที่บ้าน ด้วยเหตุนี้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการของบริษัทเหล่านี้จึงเพิ่มขึ้น
ริต้า อธิบายว่ายักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้แค่ดำเนินแนวธุรกิจกำจัดศัตรูผ่านการเข้าซื้อบริษัทคู่แข่งหรือเข้าครอบครองตลาดในสัดส่วนที่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่บริษัทเหล่านี้ยังเลือกทุ่มเงินมหาศาลไปกับการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการของตนเองอย่างต่อเนื่อง
ตัวเลขเม็ดเงินลงทุนในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ของ 5 บริษัทยักษ์ใหญ่เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (923,000 ล้านบาท) ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่างบประมาณประจำปีขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา ด้วยซ้ำ
ขณะที่ 'สตีฟ เดนนิง' ผู้เขียนเรื่องการบริหารแบบเน้นการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วหรือ Agile Management วิเคราะห์ไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสารฟอร์บสว่า ความสำเร็จของยักษ์ใหญ่ทั้ง 5 นั้น มาจากการบริหารองค์กรด้วยแนวคิดดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องจริงที่บริษัทเหล่านี้ได้ประโยชน์จากการเป็นผู้ครอบครองตลาด แต่ผลการศึกษาก็สะท้อนอย่างชัดเจนว่าบริษัทเหล่านี้ดำเนินนโยบายบริหารบริษัทเน้นการปรับเปลี่ยนรวดเร็ว และเป็นกลุ่มย่อยๆ
โดยสตีฟยกตัวอย่างว่า บริษัทจากยุคปี 2000 มักพูดว่าตัวเองมองลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลาง แต่สิ่งที่บริษัทเหล่านั้นมองเป็นการมองจากศักยภาพเดิมๆ ที่บริษัทมีอยู่แล้ว ซึ่งหลักการของการปรับเปลี่ยนเพื่อลูกค้าอย่างรวดเร็วนั้นเรียกร้องความใส่ใจมากกว่านั้นมาก เรียกร้องให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เหล่านั้นพัฒนาทุกอย่างที่ตัวเองมีหรือแม้แต่พัฒนาขึ้นจากความว่างเปล่าเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคของตนเองด้วยซ้ำ
สตีฟยกตัวอย่างสำคัญว่า เมื่อเปรียบเทียบไมโครซอฟท์หรือแอมะซอนกับไอบีเอ็ม จะพบว่า ทั้งๆ ที่ไอบีเอ็มก็เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ทุ่มเงินไปกับการวิจัยและพัฒนาไปไม่น้อย แต่กลับต้องเผชิญหน้ากลับตัวเลขผลประกอบการในไตรมาส 1/2563 ที่ย่ำแย่ โดยกำไรสุทธิของไอบีเอ็มในไตรมาส 1/2563 ลดลงถึงร้อยละ 26 ขณะที่รายรับก็ลดลงอีกร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับตัวเลขไตรมาส 1/2562 โดยเหตุผลหลักๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินค้าของไอบีเอ็มไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคได้เท่าที่ยักษ์ใหญ่ด้านไอที 5 ราย สามารถทำได้
หรือกล่าวโดยสรุปว่าบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้ขายเทคโนโลยีจนมีความยิ่งใหญ่ แต่เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ยิ่งใหญ่ต่างหาก
อ้างอิง; WSJ, Forbes, CNN, Politico
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :