ในวันที่ 22 สิงหาคม รัสเซียส่ง ฟีดอร์ (FEDOR) หุ่นยนต์รูปร่างมนุษย์ (humanoid) ตัวแรกของรัสเซียขึ้นสู่อวกาศ ด้วยยานอวกาศโซยุซ เอ็มเอส-14 (Soyuz MS-14) เมื่อเวลา 6.38 นาฬิกา ตามเวลากรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย
ยานโซยุซ ซึ่งออกจากศูนย์ปล่อยอวกาศยานไบโคนูร์คอสโมโดรม (Baikonur cosmodrome) ของรัสเซียในประเทศคาซัคสถาน มีกำหนดการเข้าเทียบสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ในวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม เวลา 8.30 น. ตามเวลากรุงมอสโก (12.30 น. ตามเวลาไทย) และจะอยู่จนถึงวันที่ 7 กันยายน
ปกติแล้วเที่ยวบินเช่นนี้ยานโซยุซจะมีมนุษย์บังคับในยานด้วย ทว่าในครั้งนี้ไม่มีการส่งมนุษย์ไปในยานด้วยเลย เนื่องจากเป็นการทดสอบระบบกู้ภัยฉุกเฉินใหม่ แต่มีฟีดอร์ซึ่งถูกนำมาประจำตำแหน่งที่นั่งคนขับซึ่งได้รับการปรับแต่งใหม่ พร้อมกำธงรัสเซียจิ๋วไว้ในมือ
"ไปกันเลย" (Poyekhali!: Поехали!) ฟีดอร์กล่าวเป็นภาษารัสเซียเลียนแบบคำที่ยูริ กาการิน นักบินอวกาศชาวโซเวียต กล่าวไว้ในอดีตขณะยานวอสตอค 1 ขึ้นทะยานสู่อวกาศ
ฟีดอร์ เป็นชื่อย่อของคำว่างานวิจัยวัตถุสาธิตทดลองขั้นสุดท้าย (Final Experimental Demonstration Object Research: FEDOR) มีรหัสระบุตัวตนคือ สกายบอต เอฟ850 (Skybot F850) สูง 180 เซนติเมตร หนัก 160 กิโลกรัม สามารถทำกิจกรรมที่ใช้การเคลื่อนไหวละเอียดได้อย่างมนุษย์ เช่น การเปิดขวดน้ำ ขับรถ หรือยิงปืน โดยฟีดอร์มีทวิตเตอร์ที่คอยอัพเดทสิ่งที่ได้เรียนรู้และปฏิบัติการที่ทำอยู่ด้วย
อเล็กซานเดอร์ โบลเชงโก ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรอสคอสมอส (Roscosmos) องค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย กล่าวว่าสำหรับครั้งนี้ ฟีดอร์จะได้ฝึกทักษะลักษณะนี้ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำบนสถานีอวกาศ เช่น การเชื่อมสายไฟและการใช้เครื่องมือพื้นฐานอย่างไขควง ประแจ และเครื่องดับเพลิง
โบลเชงโก ชี้ว่าในท้ายที่สุด หุ่นยนต์ลักษณะนี้จะถูกนำไปใช้ในปฏิบัติการที่อันตรายต่อมนุษย์ เช่น การออกจากยานขณะอยู่ในอวกาศ (spacewalk)
ในเว็บไซต์มูลนิธิเพื่อโครงการวิจัยขั้นสูง (Foundation of Advanced Research Projects) หน่วยงานวิจัยเทคโนโลยีด้านการทหารของรัสเซีย ผู้ร่วมพัฒนาฟีดอร์ ระบุว่าฟีดอร์มีศักยภาพที่เป็นประโยชน์บนโลก เช่น การทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีปริมาณของรังสีสูง การกู้ระเบิด หรืองานกู้ภัยต่างๆ
แม้ฟีดอร์จะสามารถทำบางอย่างได้ด้วยตัวเองโดยไม่มีคนบังคับ แต่รอสคอสมอสระบุว่าจะมีมนุษย์คอยสังเกตการณ์อยู่ตลอดขณะปฏิบัติการในอวกาศ โดยในปฏิบัติการครั้งนี้มีผู้ดูแลคือ อเล็กซานเดอร์ สควอร์ทซอฟ (Alexander Skvortsov) นักบินอวกาศชาวรัสเซีย ผู้ไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติก่อนด้วยยานโซยุซ เอ็มเอส-13 (Soyuz MS-13) เมื่อเดือนที่แล้ว และมนุษย์ยังสามารถสวมชุดเพื่อบังคับร่างของฟีดอร์ประหนึ่งเป็นแขนและมือของตัวเองได้อีกด้วย
แม้ฟีดอร์จะเป็นหุ่นยนต์รูปร่างมนุษย์ตัวแรกของรัสเซียที่ได้ขึ้นสู่อวกาศ แต่ก็ไม่ใช่ตัวแรกของโลก โดยนาซ่าได้ส่งหุ่นโรโบนอต 2 (Robonaut 2) ขึ้นสู่อวกาศมาก่อนแล้วในปี 2011 ด้วยวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกันกับฟีดอร์ คือเพื่อปฏิบัติการหน้าที่ที่เสี่ยงต่อมนุษย์เกินไป
ที่มา: Independent / AFP / Moscow Times