ไม่พบผลการค้นหา
คณะวารสารศาสตร์ฯ มธ.จัดเสวนา วิชาการ 1 ปี ทีมหมูป่าปลอดภัย สะท้อนบทเรียนการสื่อสารไทยสู่อนาคต ชี้ความเร็วอาจทำให้ข้อมูลผิดพลาด นำเสนอข้อมูลเชิงลึกมากกว่าข้อมูลเชิงเหตุการณ์

คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาวิชาการ 1 ปี ทีมหมูป่าปลอดภัย บทเรียนการสื่อสารไทยสู่อนาคต โดยนางอัจฉรา ปัณทรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นางสุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล รองผู้อำนวยการสื่อสารสาธารณะด้านยุทธศาสตร์สื่อสาธารณะ โดยวงเสวนานำเสนอผลการวิจัยเรื่อง บทเรียนของสื่อสถาบันในการรายงานเหตุการณ์การกู้ภัย นักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอน ทีมหมูป่าอะคาเดมีติดในถ้ำวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย 

นายรุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตรและสื่อสารมวลชน กล่าวว่า จากการสอบถามผู้เกี่ยวข้องในวิชาชีพสื่อสถาบันการถอดบทเรียนกับเหตุการณ์ที่ผ่านมาพบว่า 1.มีการบริหารจัดการที่เข้มงวดของศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน (ศอร.) จังหวัดเชียงราย เช่นการจัดโซนนิ่งและการแถลงข่าววันละ 2 ครั้ง ทำให้สื่อได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการ ชะลอปัญหาข่าวลือ 2.ประชาชนตรวจสอบการทำงานของสื่อ ทำให้สื่อมีความเกรงกระทบต่อภาพลักษณ์ และ3.องค์ประกอบภายในของสื่อเอง เริ่มตั้งแต่นักข่าวภาคสนามมีเป้าหมายชัดเจนว่าไม่ละเมิดสิทธิ์แหล่งข่าว และไม่ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่ระบบเพื่อนเตือนเพื่อน ในภาคสนามและกองบก.บางแห่งมีคู่มือการทำงานที่ชัดเจน

“ผลวิจัยมองว่าจุดที่สื่อต้องพัฒนา คือด้านความเร็วที่อาจเกิดความผิดพลาด เช่น มีคนตะโกนว่าไฟดูด เมื่อเห็นคนถูกหามออกมาจากถ้ำ และมีการการรายงานข่าวโดยไม่ถูกต้องเป็นต้น มีข้อถกเถียงว่าสามารถเสนอเรื่องเอกลักษณ์ของหมูป่า ได้หรือไม่ ซึ่งในมุมมองวิชาชีพสื่อเห็นว่าไม่มีความเหมาะสมที่ทำให้หมูป่าเสียความเป็นส่วนตัวและการนำเสนอไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อสังคม อีกเรื่องคือสื่อหรือคนที่ไม่เกี่ยวข้องไปอยู่ที่บริเวณหน้าถ้ำจำนวนมาก จึงต้องจัดโซนนิ่งหน้าถ้ำเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม” นายรุจน์ กล่าว

นายรุจน์ กล่าวว่า ในส่วนของสื่อมวลชนมองว่าการจัดโซนนิ่งทำให้สาธารณะไม่ได้เห็นข้อมูลบางอย่าง จึงเป็นหน้าที่ที่สื่อจะต้องตรวจสอบการทำงานของรัฐในภายหลัง เรื่องการใช้ทรัพยากรของส่วนรวมไปในภารกิจระดับโลก และสังคมต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าในอนาคตหากจะประกาศโซนนิ่งต้องประกาศอย่างชอบธรรม ไม่มีเจตนาแอบแฝง เพื่อปิดหูปิดตาสาธารณะ นอกจากนี้ยังมองว่าสื่อควรนำเสนอข้อมูลเชิงลึกมากกว่าข้อมูลเชิงสถานการณ์ระดับการเรียนรู้ให้สังคม