ไม่พบผลการค้นหา
'ณัฐพงษ์' ชื่นชม ผ่านมา 21 วัน 'กระทรวงดีอี' เดินงานเร็ว แต่ค้านจัดตั้งศูนย์ข่าวปลอมของรัฐ หวั่นไม่เป็นกลาง-ใช้งบฟ้องคดีประชาชน แนะทุกหน่วยงานบูรณาการระบบ ครบในแอปพลิเคชั่น เดียว หวังรัฐบาล 'เศรษฐา' ไม่ตั้งงบฯ 67 ทำ IO

วันที่ 2 ต.ค. ที่พรรคก้าวไกล ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าวแสดงความเห็นต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวงดีอี

ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ผ่านมา 21 วัน นับตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาล ขอชื่นชมว่าเป็น 21 วันที่กระทรวงดิจิทัลสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว เป็นปัจจุบันทันด่วน และทันต่อสถานการณ์ เช่น การปิดดีลลงทุนกับ Huawei ที่เซี่ยงไฮ้ การแถลงผลงานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (AFNC) และการสั่งตั้งทีมเฉพาะกิจ จัดการเว็บพนันออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ณัฐพงษ์ ระบุว่า ยังมีบางอย่างที่อาจเห็นต่างกับการดำเนินโยบายของรัฐบาล โดยพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับการให้มีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาล เนื่องจาก เพราะอาจไม่สามารถดำรงความเป็นกลาง ขัดกับแนวทางที่องค์กรสื่อสากลให้การยอมรับ

ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลในอดีตได้ใช้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เพื่อให้ข่าวเกี่ยวกับการจัดการวัคซีนตามการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของตัวเอง มากกว่าการให้ข้อมูลเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาแก่ประชาชน 

รวมถึงยังเคยมีกรณีที่รองผู้แทนข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงข้อห่วงใยต่อศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ที่พุ่งเป้าการดำเนินคดีไปยังกลุ่มคนที่เห็นต่าง สะท้อนผ่านงบประมาณรายจ่ายราว 20% ของหน่วยงานนี้ที่ปรากฏใน ToR ซึ่งใช้เพื่อการจัดเก็บหลักฐานในงานคดี

ณัฐพงษ์ มองว่า รัฐมนตรีควรดำเนินการให้มี Digital ID หรือระบบนิเวศน์ข้อมูล ภายใต้แนวคิด 'หนึ่งเดียว เปิดกว้าง และไม่มีค่าใช้จ่าย' เป็นหนึ่งเดียวคือไม่ใช่ระบบนิเวศน์ข้อมูลที่ต่างคนต่างทำ และเปิดกว้างให้หน่วยงานเอกชนของประเทศต่างๆ เข้ามีส่วนร่วมด้วยได้ และไม่มีค่าใช้จ่ายจากค่าธรรมเนียมที่แพง

ณัฐพงษ์ ยังเสนอการติดกระดุม 5 เม็ด ให้ระบบนิเวศน์ข้อมูล ได้แก่

1.) รัฐบาลควรเร่งเจรจาแปลงสภาพ NDID ให้อยู่ในรูปแบบนิติบุคคล ที่ไม่มีสถานะขัดกันแห่งผลประโยชน์ และเปลี่ยนชื่อเป็น NDXP (National Data Exchange Platform)

2.) กำหนดให้ NDXP เป็นบริการของรัฐที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย 

3.) มหาดไทยต้องเชื่อมระบบเข้า NDXP เป็น IdP หรือ Identity Provider ที่ให้บริการแก่ประชาชน ฟรี โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม

4.) ให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดต้องเชื่อมเข้าระบบ NDXP เป็น AS หรือ Authoritative Source โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อทำให้ประชาชน สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง ที่ภาครัฐเป็นผู้ควบคุมข้อมูล ไปใช้ประโยชน์ต่อได้ในอนาคต

และ 5.) ควรเร่งพิจารณากลุ่มอุตสาหกรรมสร้าง Impact การกำหนดข้อมูล เพื่อทำให้เกิดระบบนิเวศน์ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน 

ทั้งนี้ ณัฐพงษ์ ยังหวังให้รัฐบาลประกาศตั้งเป้า Cloud First Policy ซึ่งจะสามารถทำให้ประหยัดงบประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงสั่งทบทวนหรือยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าสมัยโดยเร็ว และให้หน่วยงานของรัฐเชื่อมเข้าระบบดัน Super App บริการจบในแอพฯเดียวโดยไม่กระจัดกระจาย ตลอดจนทำ TOR ให้ได้มาตรฐานกลาง 

นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลตามพระราชกฤษฎีกาปฏิบัติราชการอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับหน่วยงานในภาครัฐและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และหวังให้รัฐบาลได้หารือสื่อโซเชียล บังคับ 2FA เพื่อแก้ปัฐหาเพจภาครัฐถูกแฮค

ณัฐพงษ์ ยังกล่าวถึงปัญหาปฎิบัติการเชิงข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล หรือ IO โดยหวังว่าในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มอบนโยบายการจัดทำงบประมาณปี 2567 จะไม่เห็นโครงการดังกล่าวในร่างกฎหมายงบประมาณที่กำลังจะเข้าสู่สภาในเดือน ม.ค. 2567