ไม่พบผลการค้นหา
สธ. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และภาคีความร่วมมือ ลงนามประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ฉบับแรกของประเทศไทย” หวังใช้เป็นกรอบดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ให้มีสุขภาพดี อายุขัยยืนยาว สามารถนำสังคม ให้เป็นสุขได้อย่างยั่งยืน
9io1vwmtrexa.jpg

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นองค์ปาฐกถาพิเศษร่วมกับพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในงานประชุมสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 10 และร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือในการประกาศใช้ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ฉบับแรกของประเทศไทย โดยมี นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามฯ ที่ อิมเพ็คฟอรั่ม ศูนย์ประชุมแห่งชาติเมืองทองธานี     

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล ให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย คือ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” เป็นฉบับแรก โดยทางเถรสมาคมเห็นด้วย กับการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฉบับนี้ เพราะปัจจุบันพระสงฆ์ป่วยเป็นโรคต่างๆ มากมาย มีสาเหตุที่สำคัญคือ พุทธศาสนิกชนมักถวายอาหารเฉพาะที่ญาติผู้ล่วงลับชอบรับประทาน ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่มีรสชาติหวาน มัน และเค็ม ซึ่งอาหารในกลุ่มนี้หากทานเป็นประจำต่อเนื่องจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไต เบาหวาน ความดัน หลอดเลือดอุดตัน ตามมาได้

ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติฉบับนี้ มีหลักปฏิบัติประกอบด้วย 5 หมวด 37 ข้อ คือ หมวดที่ 1 ปรัชญาและแนวคิดหลักของธรรมนูญสุขภาพของพระสงฆ์แห่งชาติ หมวดที่ 2 พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพของตนเองตามหลักพระธรรมวินัย หมวดที่ 3 ชุมชนและสังคมกับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย หมวดที่ 4 บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม และหมวดที่ 5 การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่การปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชนซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนทุกคน ควรพึงละลึกถึงสุขภาพของพระสงฆ์เป็นหลัก ทั้งนี้ เพื่อให้พระสงฆ์มีสุขภาวะที่ดีทั้งทางด้านกาย ใจ สามารถปฏิบัติธรรม เผยแพร่หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา ให้กับพุทธศาสนิกชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป