กลายเป็นข้อสงสัยและถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ สำหรับเสียงระบายจากหญิงสาวที่มีต่อรถแท็กซี่ยี่ห้อ ฮอนด้า ซีวิค
“ดิฉันงงค่ะ ทำไมพวกแท็กซี่ถึงกล้าเอา civic มาทำแท็กซี่ไม่กลัวโดนจับบ้างเหรอคะ มันผิดกฎหมายนะ ทำแบบนี้ได้ยังไงนะ ฮอนด้าเขาไม่ลดเกรดรถ เหมือนโตโยต้านะ เสียใจมาก ฮอนด้าปล่อยพวกนี้ออกรถมาทำแท็กซี่ได้ไง ร้องเรียนได้ที่ไหนบ้างคะ เสียความรู้สึกค่ะ ออกรถมาดันเหมือนรถเหลืองเขียวตามถนน คนที่บ้านนึกว่า ทำอาชีพแท็กซี่ละ คันเป็นล้านทำไมต้องกลายเป็นแท็กซี่” หญิงสาว ระบุในกลุ่มคนขับรถฮอนด้า ซีวิค
ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดความสงสัยในเรื่องการนำรถยนต์ไปจดทะเบียนเป็นรถแท็กซี่รับจ้าง แต่มีให้เห็นอยู่เป็นระยะตามโซเชียลมีเดีย
“วรพล สิงห์เขียวพงษ์” นักจัดรายการวิทยุด้านรถยนต์ บอกกับวอยซ์ออนไลน์ว่า หากคนไทยเข้าใจเรื่องสิทธิ จะเลิกตั้งคำถามประเภทนี้ โดยสิ่งที่ทุกคนควรรู้และตระหนักคือ
- เจ้าของรถยนต์มีสิทธินำรถของตัวเองไปจดทะเบียนเป็นแท็กซี่ได้ หากสภาพรถเข้าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
- บริษัทรถยนต์ทุกค่ายมีสิทธิขอซื้อรถคืน แต่ไม่มีสิทธิบังคับ
- เจ้าของรถยนต์มีสิทธิที่จะขายหรือไม่ขายคืน รวมถึงมีสิทธิที่จะกำหนดราคาขายที่สูงขึ้นได้ตามความพอใจ (โก่งราคาได้)
- บริษัทไฟแนนซ์ที่ถือเป็นเจ้าของเงินเเละเจ้าของรถยนต์ตัวจริง ก็มีสิทธิเช่นกันที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติเงินกู้ให้ผู้ซื้อรถยนต์นำไปซื้อรถเพื่อจดทะเบียนเป็นแท็กซี่
วรพลบอกว่า บริษัทไฟเเนนซ์ส่วนใหญ่ เห็นความเสี่ยงที่จะปล่อยสินเชื่อให้ไปซื้อรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค เพื่อนำไปจดทะเบียนเป็นแท็กซี่ เพราะเหตุผลในเรื่องราคาขายต่อในอนาคต หากผู้ซื้อเกิดไม่สามารถผ่อนชำระคืนได้หมด
“รถยนต์บางรุ่นราคาสูงจริง เช่น ฟอร์จูนเนอร์ราคาเป็นล้าน แต่ก็มีโอกาสหาเงินได้มากขึ้น แต่บางรุ่นหากถูกยึดแล้ว ขายต่อยากมาก ราคาตก พวกนี้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ไฟแนนซ์แต่ละแห่งต้องพิจารณา”
แหล่งข่าวจากบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันกับวอยซ์ออนไลน์ว่า ไม่มีนโยบายสั่งห้ามนำรถยนต์ของบริษัทไปจดทะเบียนให้บริการแท็กซี่ รวมถึงไม่มีนโยบายซื้อคืนอีกด้วย
ขนส่งทางบกยันไม่เคยห้าม
พีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ยืนยันว่า กรมไม่เคยมีการสั่งห้ามรถยนต์ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งมาจดทะเบียนเป็นรถแท็กซี่ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายและกฎกระทรวง โดยรถที่นำมาจดทะเบียนต้องเป็นรถใหม่ หรือเป็นรถที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันจดทะเบียนครั้งแรกและใช้งานมาแล้ว เป็นระยะทางไม่เกิน 20,000 กม.
ลักษณะรถ ได้แก่ รถเก๋งสองตอน รถเก๋งสองตอนแวน รถเก๋งสามตอน รถเก๋งสามตอนแวน รถยนต์นั่งสองตอน รถยนต์นั่งสองตอนแวน รถยนต์นั่งสามตอน รถยนต์นั่งสามตอนแวน ขณะที่เครื่องยนต์ต้องมีความจุของกระบอกสูบรวมกันไม่ต่ำกว่า 1,500 ซีซี
คนขับเลือกโตโยต้าเพราะอะไร ?
วิฑูรย์ แนวพาณิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพฯ เผยว่า เหตุผลในการเลือกใช้รถยนต์ขึ้นอยู่กับความทนทาน การเข้าถึงอะไหล่ การติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและค่าดูแลบำรุงรักษา ซึ่งมีการพิสูจน์มายาวนานหลายสิบปีก่อนสะท้อนออกมาผ่านความนิยมในปัจจุบัน
“หนึ่งคือความทนทาน ที่ผ่านมาทดลองใช้มาแล้วแทบทุกยี่ห้อ ก่อนจะมาจบที่โตโยต้า สองคือ อะไหล่ การรองรับเเละการเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นอะไหล่แท้ใหม่ถอดด้ามจากญี่ปุ่น หรือ second hand มือสอง สมมติวันนี้เกิดอุบัติเหตุ ต้องการได้กันชนมือสอง คุณไปเชียงกงได้ของเลย ถ้าเป็นยี่ห้ออื่นอะไหล่บางตัวหากันเป็นเดือน ซึ่งคนขับแท็กซี่รอไม่ได้ สาม การติดตั้งแก๊ส โตโยต้าบางรุ่นมีอุปกรณ์เอื้ออำนวย รองรับการติดตั้งได้มากกว่ารถยนต์ค่ายอื่น และสี่ คือค่าบำรุงรักษาตามระยะทาง เทียบกันแล้วโตโยต้าถูกกว่า”
ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ บอกว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด เมื่อมีความนิยมและความต้องการในโตโยต้า บริษัทก็สามารถเลือกทำตลาดให้กับผู้ขับได้ง่ายกว่าค่ายรถอื่นๆ นั่นเอง