ธนูเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ พบหลักฐานว่ามนุษย์มีธนูใช้ตั้งแต่ 40,000 ปีที่แล้ว เพื่อการล่าสัตว์มาเป็นอาหาร ก่อนที่จะถูกค่อยๆ พัฒนามาเป็นอาวุธเพื่อใช้ในสงคราม ซึ่งพบว่ามนุษย์ทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะมาจากอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่หรือชนเผ่าในที่ห่างไกล ล้วนแต่มีธนูใช้มาตั้งแต่ยุคโบราณกันทั้งนั้น
ธนูเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากที่ใครๆ ก็สามารถสร้างได้ ประกอบด้วยคันธนู ที่ทำจากไม้แท่งยาวที่มีความยืดหยุ่นสูง นำมาขึงสายที่ปลายด้านบนและด้านล่าง เมื่อดึงสายแล้ว ปลายไม้ด้านบนและด้านล่างก็จะโก่งงอ สะสมพลังเพื่อที่จะปล่อยลูกธนูให้พุ่งออกไปข้างหน้าเมื่อปล่อยสาย ซึ่งลูกธนูก็ทำมาจากกิ่งไม้ขนาดยาวที่เหลาปลายให้แหลม เพื่อให้พุ่งปักหรือทะลุเป้าหมายได้
ในยุคดึกดำบรรพ์ ธนูยังมีประสิทธิภาพและความแม่นยำที่ค่อนข้างน้อย เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงยุคประวัติศาสตร์ แต่ละอารยธรรมเริ่มพัฒนาธนูให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในแบบฉบับของตัวเอง ไม่ว่าการทำคันธนูที่แข็งแรง การติดขนนกที่ปลายลูกธนูเพื่อช่วยให้ลูกธนูบินเป็นเส้นตรง หรือการติดหัวเหล็กที่ปลายด้านหน้าของลูกธนู ซึ่งช่วยให้ลูกธนูมีอำนาจทะลุทะลวงสูงขึ้น รวมทั้งการคิดค้นวิธีและท่าทางการยิงธนูที่เป็นระบบเพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำ อย่างไรก็ตาม คันธนูยังคงมีรูปร่างที่ไม่ต่างจากสมัยดึกดำบรรพ์ ยังคงเป็นแท่งไม้ยาวๆ ที่มีสายขึงด้านบนกับด้านล่างเท่านั้น ซึ่งธนูชนิดนี้เรียกว่า ลองโบว์ เพราะคันธนูมีลักษณะยาวเป็นพิเศษ
จนกระทั่ง เมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว เกิดการพัฒนาครั้งใหญ่กับธนู เมื่อภูมิภาคในเอเชียกลางได้ค้นพบการทำคันธนูรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าธนูโค้งกลับ ซึ่งมีการนำไม้ที่จะใช้ทำธนูมาดัดให้มีรูปร่างโค้งงอเหมือนเขาสัตว์ นั่นคือปลายไม้ทั้งด้านบนและด้านล่างจะโค้งเข้าหาตัวผู้ยิงและโค้งออกอีกครั้งหนึ่ง จึงเรียกว่าธนูโค้งกลับ หรือธนูรีเคิร์ฟ ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธนูอย่างมาก ลูกธนูที่ยิงออกจากธนูโค้งกลับจะมีความแรงและความเร็วมากกว่าธนูลองโบว์มาก และยังยิงง่าย เพราะมีแรงดีดสะท้อนกลับมาที่ตัวคนยิงธนูน้อยมาก นอกจากนี้ยังมีขนาดเล็กกระทัดรัด ง่ายต่อการพกพา
ธนูโค้งกลับได้รับความนิยมและเผยแพร่ไปทั่วเอเชีย รวมทั้งยุโรปตะวันออก จากการรุกรานของชนเผ่ามองโกลในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 เว้นก็แต่ยุโรปตะวันตกที่อยู่ห่างไกล และยังคงใช้ธนูลองโบว์มาจนถึงยุคของตำนานโรบินฮูดในช่วงคริสตศตวรรษที่ 14 ซึ่งธนูลองโบว์ถูกเล่าขานมาตลอดว่าเป็นอาวุธคู่กายของโรบินฮูด ที่อาศัยอยู่ในป่าเชอร์วูด ทางภาคกลางของอังกฤษที่ใช้ธนูเป็นอาวุธในการออกปล้นคนรวยและนำทรัพย์สินที่ปล้นได้มาแจกจ่ายให้กับคนจนที่ถูกกดขี่
ธนูลองโบว์เป็นอาวุธคู่กายที่ปรากฏคู่กับโรบินฮูดมาตั้งแต่ที่ตำนานโรบินฮูดยังคงเป็นแค่เรื่องเล่าปากต่อปากในอดีต และยังคงอยู่คู่กับโรบินฮูดบนจอภาพยนตร์ ที่คนดูประทับใจในฝีมือการยิงธนูที่แม่นยำของโรบินฮูด ที่สามารถยิงธนูตัดเชือกที่อยู่ไกลหลายสิบเมตร หรือยิงธนูเข้าเป้าที่เดิม จนลูกธนูที่ปักเป้าก่อนหน้าถูกลูกธนูที่ยิงมาใหม่ผ่าเป็นสองซีก หรือที่เรียกว่าโรบินฮูดช็อต แต่ความเป็นจริงแล้ว ธนูลองโบว์เป็นธนูที่ค่อนข้างล้าหลัง ยิงยาก ความแม่นยำน้อย ซึ่งข้อดีของธนูลองโบว์ คงมีแค่เรื่องของความสวยงามจากรูปร่างคันธนูที่ยาว และคุณค่าเรื่องมรดกทางวัฒนธรรม ที่ทำให้ยังมีคนบางกลุ่มชื่นชอบการยิงธนูลองโบว์มาจนถึงทุกวันนี้
ในภาพยนตร์ โรบินฮูด เรื่องใหม่ล่าสุดที่จะเข้าฉายในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ ที่มี ทารอน อีเกอร์ตัน รับบทเป็นโรบินฮูดคนใหม่ล่าสุด จากตัวอย่างภาพยนตร์จะเห็นว่า โรบินฮูดในภาพยนตร์เรื่องนี้ มีความแตกต่างจากโรบินฮูดคนก่อนๆ ที่รับบทโดย เควิน คอสต์เนอร์ หรือ รัสเซล โครว์ เพราะได้เปลี่ยนจากการใช้ธนูลองโบว์มาเป็นธนูโค้งกลับที่มีขนาดเล็กลงมามาก ซึ่งก็ดูสมเหตุสมผลมากกว่า เพราะถึงแม้จะมีขนาดเล็กกว่า แต่ธนูโค้งกลับก็มีความแม่นยำและยิงง่ายกว่ามาก
แม้ปัจจุบัน ธนูจะเป็นอาวุธที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่หลงไหลและฝึกฝนการยิงธนูในฐานะกีฬาคลาสสิก โดยธนูโค้งกลับยังคงได้รับการพัฒนามาจนถึงยุคปัจจุบันและใช้ในการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งธนูโค้งกลับสมัยใหม่จะมีการใช้วัสดุที่ทันสมัยในการผลิต เช่น อลูมิเนียม และคาร์บอนไฟเบอร์ มีการติดตั้งอุปกรณ์เสริมหลายชิ้น เช่นศูนย์เล็ง ก้านถ่วงน้ำหนัก และอุปกรณ์กระจายแรงกระแทก ทำให้นักนักกีฬายิงธนูสามารถยิงลูกธนูเข้าวง 10 คะแนนที่ศูนย์กลางของเป้าที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 12.2 เซ็นติเมตร ที่ระยะ 70 เมตร ได้อย่างแม่นยำ เช่นเดียวกับตำนานของโรบินฮูด ที่แม้จะพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่การลุกขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรมเพื่อคนที่อ่อนแอกว่า ก็เป็นเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทุกยุคทุกสมัย