ไม่พบผลการค้นหา
หาคำตอบว่าทำไมวง My Bloody Valentine ถึงต้องดูการแสดงสดด้วยตัวเองเท่านั้น พร้อมแชร์ประสบการณ์ญี่ปุ่นที่กำลังจะเปลี่ยนไปจากแรงงานต่างชาติที่เซอร์วิสมายด์ต่างจากชาวญี่ปุ่น และปัญหากำแพงภาษาที่ยังแก้ไม่ตก

ว่ากันว่าประเทศญี่ปุ่นนั้นมีสองเทศกาลดนตรีประจำฤดูร้อนสองงานสำคัญด้วยกัน นั่นคือ Fuji Rock Festival ที่จัดในเดือนกรกฎาคม ส่วนอีกงานคือ Summer Sonic ที่มีทุกเดือนสิงหาคม

Summer Sonic เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2000 จุดเด่นของงานคือจัดสองเมืองไปพร้อมกัน-โตเกียวและโอซาก้า ทว่าช่วงหลังมาตัวเทศกาลเริ่มขยายตัวมากขึ้น จากเดิมที่มีอีเวนต์หลักสองวันเสาร์-อาทิตย์ ก็เริ่มมีกิจกรรมอื่นงอกขึ้นมาในวันศุกร์หรือวันเสาร์ช่วงหลังเที่ยงคืน อย่างไรก็ดี อีเวนต์พิเศษเหล่านี้มักเกิดขึ้นที่โตเกียวเท่านั้น ทำเอาคนฝั่งโอซาก้าบ่นน้อยใจอยู่เสมอ

หนึ่งในอีเวนต์ต่อยอดของ Summer Sonic ที่คอดนตรีรู้จักกันดีคืองาน Sonic Mania ที่เริ่มต้นในปี 2011 ศิลปินในงานจะเน้นแนวเต้นรำโดยเฉพาะ EDM ดังนั้นเพื่อเป็นการเอาใจขาแดนซ์ เวลาจัดงานของ Sonic Mania จึงเป็นช่วงวันศุกร์ตั้งแต่สี่ทุ่มยันตีห้าของวันเสาร์ เรียกได้ว่าเต้นยับกันโต้รุ่ง


Sonic Mania

แต่ Sonic Mania ไม่ได้มีแต่เพลงแดนซ์เท่านั้น ไฮไลท์ของงานมักจะมีวงร็อคด้วย อย่างปีนี้วงหลักคือ Nine Inch Nails (NIN) และ My Bloody Valentine (MBV) ซึ่งผู้เขียนเคยได้ข่าวมาแล้วว่า NIN จะมาเล่นที่เมืองไทย แต่สำหรับ MBV ผู้เป็นหัวหอกของดนตรีแนว Shoegaze (ดนตรีที่เน้นเสียงกีต้าร์แตกพร่า) นั้นแทบจะไม่มีโอกาสมาบ้านเราเลย ด้วยค่าตัวที่ค่อนข้างสูงและกลุ่มคนฟังที่อาจจะไม่ได้มากพอ ดังนั้นผมเลยต้องยอมทุ่มทุนไป Sonic Mania อย่างช่วยไม่ได้ เพราะถ้าพลาดโอกาสนี้ก็ไม่รู้ว่าชาตินี้จะได้ดูวง MBV อีกหรือเปล่า เนื่องจากพวกเขาทัวร์ไม่บ่อย แถมอายุอานามสมาชิกแต่ละคนก็เข้าใกล้วัยเกษียณแล้ว

ด้วยความที่ Sonic Mania เป็นเทศกาลดนตรีระดับอินเตอร์ เว็บไซต์ขายบัตรจึงมีภาษาอังกฤษครบถ้วนและสามารถจ่ายผ่านบัตรเครดิตอย่างง่ายดาย แต่นั่นเป็นดูจะข้อมูลภาษาอังกฤษอย่างเดียวของงานนี้ เพราะเนื้อหาส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะรายละเอียด แผนที่ การเดินทาง ของที่ระลึก หรือกระทั่งประกาศต่างๆ ในเฟซบุ๊กก็ล้วนเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งสิ้น! จริงอยู่ว่าการแปลอัตโนมัติเดี๋ยวนี้ทำได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที แต่การที่ทางเทศกาลไม่อัพเดทข่าวสารใดๆ เป็นภาษาอังกฤษก็แสดงถึงความไม่เอาใจใส่ในมาตรฐานระดับนานาชาติเท่าที่ควร


Sonic Mania

เนื่องจากตัวงาน Sonic Mania จะเริ่มช่วง 22.00 ผมก็เลยจองไฟลท์บินที่ไปถึงนาริตะช่วง 19.30 กะว่าถึงสนามบินปุ๊บก็นั่งรถไฟที่สถานที่จัดงานเลย แต่ดูเหมือนจะตัดสินใจผิดพลาด อย่างที่ทราบกันว่าช่วงสองสามปีมานี้ญี่ปุ่นประสบภาวะนักท่องเที่ยวล้นทะลัก (โดยเฉพาะทัวร์จีนและไทย) ทำให้ผมเสียเวลาที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองราวครึ่งชั่วโมง อีกทั้งยังสังเกตได้ว่าสนามบินนาริตะยังจัดการกับมวลชนได้ไม่ดีพอ ทั้งแถวที่ขดไปมาจนสับสน หรือแม้จะมีเจ้าหน้าที่ที่พูดภาษาจีนได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวนนักท่องเที่ยว

หลังจากหลุดจากการตรวจพาสปอร์ตมาได้ ผู้เขียนก็รีบวิ่งไปขึ้นรถไฟทันที แต่ดูเหมือนโชคจะไม่เข้าข้างนัก รถไฟวิ่งไปได้พักเดียวก็หยุดนิ่งสนิทเป็นเวลาราวห้านาที ป้ายไฟวิ่งข้อความที่มีคำว่า DELAY แต่ก็ตามด้วยประโยคภาษาญี่ปุ่นยาวเหยียด ผู้เขียนไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นและควรทำอย่างไร ต้องกดสมาร์ตโฟนหาข้อมูลเอาเอง จึงได้รู้ว่าน่าจะมีคนกระโดดให้รถไฟชน (ซึ่งเป็นเรื่องสามัญธรรมดาของประเทศนี้) ทำให้สายรถไฟปั่นป่วนไปหมด

Sonic Mania

เคราะห์กรรมของผู้เขียนยังไม่หมดเท่านั้น แม้จะดั้นด้นมาถึงหน้างาน Sonic Mania ได้ ก็ดันเจอกับสตาฟฟ์ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยคล่องนัก กว่าจะสื่อสารกันรู้เรื่องว่าต้องไปรับบัตรตัวจริงที่ไหนก็ใช้เวลาพอสมควร สุดท้ายแล้วผมจึงเข้างานสายไป 40 นาทีอย่างน่าเสียดาย

เมื่อเข้ามาในงานได้ก็ต้องรีบพุ่งไปฮอลล์คอนเสิร์ตทันที ศิลปินรายแรกที่ผมได้ชมคือ Cornelius เจ้าพ่อเพลงแนว Shibuya-Kei (เพลงอิเล็กทรอนิกที่มีส่วนผสมของป๊อปและแจ๊ส) ผู้เคยมาแสดงที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2004 นู่น แม้ว่าส่วนตัวแล้วจะไม่ปลื้ม Mellow Waves อัลบั้มใหม่ที่ซาวด์ออกหลับๆ ไปสักหน่อย แต่เมื่อเล่นสด Cornelius จะขนสมาชิกมาในลักษณะแบนด์ ทำให้เพลงออกมาสนุกมีพลัง แถมยังมีวิชวลสวยงามประกอบ น่าเสียดายว่าผมได้ดูโชว์ของ Cornelius ไม่กี่เพลงเท่านั้น

Sonic Mania

จากนั้นผู้เขียนมีเวลาพักราว 45 นาทีจึงเดินออกสำรวจงาน สถานที่จัดงานคือ Makuhari Messe ที่เป็นฮอลล์อเนกประสงค์จำนวน 8 ฮอลล์เพื่อจัดงานสารพัด (คล้ายกับชาเลนเจอร์ฮอลล์บ้านเรา) นอกจากเวทีคอนเสิร์ตจำนวน 4 เวทีแล้ว ในงานยังมีดิสเพลย์ต่างๆ มากมายให้ถ่ายรูปกันเพลิน แต่จากการเตร็ดเตร่ไปทั่วงาน ผมก็พบปัญหาว่าบางจุดทางเดินแคบเกินไปจนระบายคนได้ไม่ดีนัก หรือทางงานบังคับซื้อบัตรแลกเครื่องดื่มในราคา 500 เยน แต่แถวก็ยาวมากจนท้อใจ ผมเลยตัดสินใจไปกดน้ำจากตู้หยอดเหรียญแทน

ภาษายังคงเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดใจระดับคลาสสิกของประเทศนี้ ร้านอาหารหลายร้านเมนูมีแต่ภาษาญี่ปุ่นทั้งมีผู้เข้าร่วมงานเป็นชาวต่างชาติด้วย ผมเดินหาร้านที่พอจะมีภาษาอังกฤษบ้างจนพบร้านหนึ่งเขียนว่า Pork Bowl (ข้าวหน้าหมู) หลังจากสั่งไปน้องพนักงานก็ดูจะทำหน้างงๆ และท้ายสุดผมก็ได้ข้าวหน้าเนื้อวัวมารับประทาน (เฮ้อ กลุ้มใจ...)


Sonic Mania

วงที่สองของงานคือ Nine Inch Nails ซึ่งน่าจะเป็นวงที่คนตั้งใจมาดูมากที่สุด เพราะเห็นคนใส่เสื้อสกรีนว่า NIN กันทั้งงาน อันที่จริงผมก็เพิ่งได้ดู NIN ที่ไทยเพียงสามวันก่อนจะเดินทางมายัง Sonic Mania แน่นอนว่าวันนี้พวกเขายังแสดงสดได้สุดยอดเช่นเคย ทั้งภาคดนตรี การร้อง และเอกเฟกต์ประกอบที่ใช้การยิงไฟและดรายไอซ์ ถึงกระนั้นผมกลับประทับใจโชว์ที่ไทยมากกว่า เนื่องจาก Makuhari Messe นั้นกว้างมาก ทำให้พลังที่ศิลปินส่งมาไม่มาถึงเท่าที่ควร

Makuhari Messe ยังมีข้อเสียที่มีเสาสองต้นใหญ่ตั้งอยู่กลางฮอลล์ บางจุดอาจจะเจอเสาบังได้ แถมระบบเสียงก็ไม่เนี้ยบเท่าที่ควร ช่วงโชว์ของ NIN ผู้เขียนได้ยินเสียงสะท้อนจากด้านหลังฮอลล์อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ข้อดีของ Sonic Mania คือ ผู้ชมส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องมารยาทงามยามชมมหรสพ ส่วนใหญ่จึงตั้งใจดู ไม่ค่อยพูดคุยหรือถ่ายรูประหว่างงาน งานนี้ผมเลยไม่ประสบภัยจากคนดูเกรียนๆ เท่าไรนัก

และแล้วก็มาถึงโชว์ของ My Bloody Valentine ที่ผมตั้งใจมาดู มีประกาศเตือนล่วงหน้าว่าการแสดงของ MBV จะเสียงดังมาก ถึงขนาดว่ามีการแจกฟองน้ำอุดหูหน้างานกันเลยทีเดียว ซึ่งขอบอกเลยว่าโชว์ของ MBV เสียงดังทะลุทะลวงจริงๆ มีคลิปในยูทูบวัดมาได้ว่าบางช่วงเสียงดังถึง 120 เดซิเบล (ระดับเสียงในงาน Sonic Mania กำหนดไว้ที่ 110 เดซิเบล) ผมเห็นผู้ชมบางคนอุดหูระหว่างการแสดง และคนจำนวนมากก็ทยอยกันเดินออก จากตอนแรกที่ฮอลล์แน่นขนัด กลายเป็นยืนได้อย่างสบายๆ ไปซะงั้น

การดูโชว์ของ MBV แบบสดๆ ทำให้ผมได้คำตอบว่าทำไมคลิปยูทูบที่แฟนๆ ถ่ายวงตอนเล่นสดถึงเสียงออกมาห่วยแตกทุกอัน คำตอบคือ MBV เน้นการใช้เสียงแบบ Reverb (เสียงสะท้อน) ที่ดังกังวาน หากใช้มือถือทั่วไปถ่ายก็จะได้เสียงกระป๋องๆ มา นอกจากนั้นไลฟ์ของ MBV ยังพิสดารมากที่เสียงร้องจะค่อนข้างเบาและกลืนไปกับดนตรี เนื่องจากทางวงมองว่าเสียงร้องคือ ‘เครื่องดนตรี’ ชนิดหนึ่ง มันจึงไม่ควรเด่นเกินไป เรียกได้ว่าโชว์ของ MBV อาจไม่ถูกใจคนอย่างเอกฉันท์ แต่พวกเขาก็มีวิธีทางเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครจริงๆ

การแสดงสุดท้ายของงาน Sonic Mania คือ Unkle ศิลปินแนวอิเล็กทรอนิกจากอังกฤษ อันที่จริงเขาแสดงสดได้สนุกพอควร แต่เวลานั้นคือตอนตีสี่และผมก็ยืนต่อเนื่องไม่ได้พักมาหลายชั่วโมง ตอนที่ดู Unkle เลยอยู่ในโหมดไร้วิญญาณและไม่ค่อยรับรู้อะไรเท่าไร หันไปมองรอบตัวก็เจอผู้คนนอนสลบที่พื้นกันเพียบ โชว์ของ Unkle จบลงประมาณตีห้ากว่า เดินออกจากงานก็พบว่าฟ้าสว่างแล้ว เป็นความรู้สึกเหนือจริงเล็กน้อยว่าตัวเองทำอะไรลงไป

Sonic Mania

โดยรวมแล้วผู้เขียนประทับใจกับงาน Sonic Mania แบบกลางๆ ข้อดีของงานคงเป็นการจัดแบบอินดอร์ (ส่วน Summer Sonic เป็นงานแบบกลางแจ้ง ผมเลยขอแพ้บาย) แต่องค์ประกอบอื่นๆ ไม่ได้ทำให้รู้สึกว้าวนัก เรียกได้ว่าถ้าไลน์อัพปีต่อๆ ไปไม่เจ๋งจริง ผมก็คงไม่กลับมาอีก

สิ่งที่อยากแถมท้ายคือ ทริปงาน Sonic Mania ครั้งนี้ผมทำให้กังวลใจแทนประเทศญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อย เนื่องจากงานโอลิมปิกฤดูร้อนจะจัดขึ้นที่โตเกียวในปี 2020 นี้แล้ว ถ้าให้ประเมิน ณ ขณะนี้ ต้องขอฟันธงเลยว่ายัง ‘ไม่พร้อม’ ไม่ว่าจะจัดการกับผู้คนจำนวนมหาศาลที่สนามบิน หรือการสื่อสารด้านภาษาอังกฤษที่ยังไม่เพียงพอ ถ้าญี่ปุ่นไม่รีบปรับปรุงแก้ไข งานโอลิมปิกจะต้องโกลาหลวุ่นวายแน่

อีกเรื่องที่สังเกตได้ชัดคือช่วงหลังมาญี่ปุ่นรับแรงงานต่างชาติเข้าไปจำนวนมาก (เหตุจากการขาดแรงงานด้วยความเป็นสังคมผู้สูงอายุ) เราเริ่มเห็นพนักงานต่างชาติทั้งที่สนามบิน ร้านค้า และร้านอาหาร แม้จะมีหน้าที่ขจัดกำแพงทางภาษา แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียน ดูเหมือนแรงงานต่างชาติบางคนจะไม่ได้มีเซอร์วิสมายด์แบบญี่ปุ่นสักเท่าไร อย่างที่สนามบินที่แต่ก่อนมีเจ้าหน้าที่ผู้นอบน้อมคอยต้อนรับ ปัจจุบันก็กลายเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าตาบอกบุญไม่รับ กระฟัดกระเฟียด และตะโกนภาษาจีนกระโชกโฮกฮาก

ดังนั้นสำหรับชาว ‘รักญี่ปุ่น’ ทั้งหลาย ผู้เขียนก็อยากจะขอเตือนไว้ว่าญี่ปุ่นที่เราเคยรู้จักกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เราไม่คุ้นเคย การทำใจไว้ตั้งเนิ่นๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องดี แต่นี่เองคือธรรมชาติของความโลกาภิวัตน์ที่แม้แต่ ‘ประเทศเกาะ’ อย่างญี่ปุ่นก็ไม่อาจต้านทานได้

Sonic Mania