ผมเพิ่งกลับจากประเทศเกาหลีใต้ครับ เป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้ นอกจากต้องการสัมผัสอากาศเย็น และชมความงดงามของฤดูใบไม้ร่วงแล้ว หนึ่งสิ่งที่อยากทำมากคือเดินเล่นบนถนนลอยฟ้า “โซลโล 7017” (서울로 7017 - Seoullo 7017) เมกะโปรเจกต์น้องใหม่ของกรุงโซล ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา
รู้จัก โซลโล 7017
โซลโล 7017 คือ ทางเดินเท้าลอยฟ้ากลางกรุงโซล ระยะทาง 1,024 เมตร ใกล้กับสถานีรถไฟกรุงโซล (โซล สเตชัน) นอกเหนือจากประโยชน์ด้านการสัญจรด้วยเท้า มันถูกตั้งเป้าให้เป็นสวนลอยฟ้า มีชื่อเล่นเดิมว่า “สกายการ์เด็น”
ตามแผนสวนลอยฟ้าจะเบ่งบานไปด้วยดอกไม้หลากสีสัน สลับกับการจัดวางน้ำพุ โรงเรือนกระจก ร้านดอกไม้ คาเฟ่ปุ๊กปิ๊ก ฯลฯ ตลอดทางเดินยังจัดแสงสีอย่างสนุกสนาน สมเป็นพื้นที่สาธารณะในศตวรรษที่ 21
ไม่น่าเชื่อว่าในระยะเวลาเพียงปีกว่า แผนการดังกล่าวถูกเนรมิตให้แล้วเสร็จ ใกล้เคียงจินตนาการ และนำมาซึ่งพืชล้มลุกและไม้ยืนต้นกว่า 24,000 ต้น 228 สายพันธุ์ เรียงรายเป็นหมวดหมู่บนทางเดินเพียงกิโลเมตรเศษเท่านั้น
น่าสนใจว่าการจัดวางพืชไม่ได้เป็นไปตามหลักการทางภูมิสถาปัตยกรรมเป็นหลัก แต่ทุกอาณาเขตของต้นไม้เหล่านั้น ได้รับการระบุข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ทั้งสิ้น ซึ่งแน่นอนว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้สนใจด้านระบบนิเวศ โดยเฉพาะระบบนิเวศเขตเมือง (เมือง ซึ่งจะเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรโลกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย กว่า 64 % ในปี 2050 และจะทยานถึง 86% ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ)
ถึงบรรทัดนี้คล้ายยังไม่ได้ฉายภาพที่สำคัญที่สุดของทางเดินลอยฟ้ากลางเมืองโปรเจกต์นี้
เพราะประโยชน์ใช้สอยในฐานะ พื้นที่นันทนาการแห่งใหม่ / จุดหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยว / สวนพฤกษศาสตร์เมือง / ที่ทัศนศึกษาของนักเรียนประถม / ร้านคาเฟ่ปุ๊กปิ๊ก / สถานที่ออกเดตสุดโรแมนติก / ฯลฯ
ดูเหมือนทั้งหมดยังไม่ใช่สาระสำคัญที่สุดของ “โซลโล 7017”
โซลโล 7017 เป็น 1 ในโครงการฟื้นฟูเมืองของกรุงโซล ใช้งบประมาณกว่า 40 ล้านยูโร หรือกว่า 1,500 ล้านบาท พลิกฟื้นสะพานข้ามแยกใหญ่และทางรถไฟบริเวณโซล สเตชัน ที่ถูกใช้งานโดยรถยนต์เป็นหลักมาเกือบ 50 ปี ให้กลายเป็นโปรเจกต์ทางสัญจรลอยฟ้า และเชื่อมต่อพื้นที่โดยรอบด้วยการเดินเท้า
ผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่า ผมเขียนตัวเลขผิดหรือไม่...มันไม่ใช่ 2017 หรอกหรือ? ผมพิมพ์ถูกแล้วครับ
7017 เป็นการเจอะกันระหว่าง 2 ตัวเลขสำคัญ คือ 70 และ 17
70 มาจาก ค.ศ. 1970 (47 ปีก่อน) ปีเริ่มต้นใช้สะพานลอยฟ้าข้ามแยกดังกล่าว ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นมรดกของยุค '70 ทีกรุงโซลกำลังเร่งพัฒนาเมืองอย่างสุดกำลัง แต่เป็นไปในทิศทางเก่า นั่นคือ เร่งการขยายโครงข่ายการจราจร ผลลัพธ์ที่ตามมาคือการขยายตัวของเนื้อเมืองมหาศาล ปัญหาการจราจรติดขัด เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้อาศัยในเขตเมืองชั้นในกับย่านชานเมือง โครงสร้างเมืองไม่ส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจ และสุนทรียะของผู้อาศัย
17 แน่นอน...มาจาก ค.ศ. 2017 ปีที่โซลโล 7017 เปิดให้พลเมืองใช้งานครั้งแรก เมื่อกลางปีที่ผ่านมา หากตัวเลข 17 ยังแฝงนัยยะอีก 1 ประการ คือ จำนวนทางเชื่อมต่อระหว่างโซลโลกับพื้นที่โดยรอบ ทั้งสถานีรถไฟสายหลัก ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร โรงแรม ย่านที่พักอาศัย และตลาดของผู้ค้ารายย่าย
“แต่เราว่ามันไม่สวยเหมือนนิวยอร์กไฮไลน์” เพื่อนร่วมทริปออกความเห็น
ใช่ครับ ผิวยางมะตอยเดิม เพิ่มเติมคือทาสีขาวอมเทา แซมด้วยพืชในระยะเพิ่งลงดิน ตกกลางคืนมองเห็นแสงไฟแอลอีดีเรืองแสง ยังคงเทียบไม่ได้แน่ๆกับความมีชีวิตชีวาของโครงการนิวยอร์กไฮไลน์ (New York’s High Line) ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่เกาะแมนฮัตตัน และเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบพื้นที่สาธารณะจากโครงสร้างทิ้งร้างในเมือง ให้กับหลายๆมหานครทั่วโลก รวมถึงแดนกิมจิจากซีกโลกตะวันออก
สำนักข่าวซิตีแล็บรายงานว่า ตั้งแต่ไฮไลน์เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะแนวยาว ภายหลังการฟื้นฟูทางรถไฟลอยฟ้าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จนสำเร็จเมื่อปี 2009 สถิติเมื่อปี 2016 พบว่า มีผู้เหยียบโครง���ารนี้แล้วกว่า 8 ล้านคน นับว่าได้รับความนิยมมากกว่าเป้าหมายการเดินทางอีกหลายแห่งในนิวยอร์ก
อีกดัชนีที่ชี้วัดความสำเร็จได้ดีคือการโตขึ้นโครงการอสังหาริมทรัพย์ตลอดแนวไฮไลน์ เช่น คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน เช่นเดียวกับ ร้านอาหารและมิวเซียมใหม่ที่เปิดให้บริการอย่างคึกคัก ผู้เชียวชาญคาดการณ์ว่า ภายใน 20 ปี รัฐจะได้ภาษีคืนจากการลงทุนก่อสร้างโครงการไฮไลน์ทั้งสิ้นกว่าพันล้านดอลลาร์
ภาพ - Friends of High Line
กลับมาที่ฤดูใบไม้ร่วง ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
ความสำเร็จของโครงการฟื้นฟูเมืองในนิวยอร์ก มีรูปแบบใกล้เคียงกันกับโครงการฟื้นฟูเมืองที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเกิดขึ้นมาก่อนที่เกาหลีใต้ นั่นคือ โครงการฟื้นฟูคลองชองกเยชอน
ก่อนที่คลองอายุกว่า 600 ปี พาดในแนวตะวันออก-ตะวันตกสายนี้ กลายเป็นคลองน้ำใสไหลเย็นเห็นตัวฝูงปลา มีแมกไม้ใหญ่น้อยเขียวชะอุ่มตลอดสองฟากในวันนี้ มันเคยถูกใช้ประโยชน์ในสารพัดรูปแบบ ทั้งเป็นที่ทิ้งของเสียจากบ้านเรือน กระทั่งเป็นคลองรองรับตอม่อทางด่วนในยุคเร่งสร้างเมือง ถ้าจะให้คนกรุงเทพฯเห็นภาพคลองชองกเยชอนก่อนฟื้นฟูได้ชัดเจนที่สุด หลายคนเปรียบเทียบว่า มันเคยเน่ากว่าคลองแสนแสบมาก่อน
ภาพ - WWF
โครงการฟื้นฟูคลองชองกเยชอนเป็นวาระเร่งด่วน ทันทีที่นายอี มย็อง-บัก ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโซล เขาทุ่มงบกว่าหมื่นล้านบาทเร่งดำเนินการจนแล้วเสร็จ ในปี 2006 อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางโครงการต้องเผชิญการต่อต้านจากพลเมืองที่ไม่เห็นด้วยอย่างหนัก จนต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมากกว่า 4,300 ครั้ง
ผลที่ตามมาจากการรื้อถอนทางด่วน และความใสสะอาดของคลองจากระบบบำบัดน้ำเสีย ประกอบกับการออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรม คือพื้นที่สาธารณะ 24 ชั่วโมงทอดยาวระหว่างย่านธุรกิจพานิชยกรรมของกรุงโซล เป็น "พืิ้นที่ชีวิต" ที่ก่อให้เกิดกิจกรรมหลากหลายจากคนทุกกลุ่มในเมือง ตลอดจนเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาประเภทอีกด้วย
ภาพ - Visit Seoul
พื้นที่สาธารณะในแนวยาว เป็นลักษณะร่วมกันระหว่างโครงการชองกเยชอนและโซลโล 7017 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูเมืองที่เกาหลีใต้ ประเด็นนี้ ปิยา ลิ้มปิติ สถาปนิกผังเมือง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC) เขียนไว้บทความ “มหานครโซล กับการฟื้นฟูเมืองเชิงเส้น” ภายหลังเข้าร่วมกิจกรรม Seoul Biennale of Architecture and Urbanism 2017 เวทีประชุมที่ได้รับความสนใจจากสถาปนิกผังเมืองทั่วโลกร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและสะท้อนปัญหาเมือง เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
เธอถอดบทเรียนจากกรุงโซลอย่างน่าสนใจ "ตำแหน่งที่ตั้งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของเมืองซึ่งเกิดจากความเข้าใจภูมิศาสตร์และระบบวางผังของเมืองที่พัฒนาตามแต่ละยุคสมัย และลักษณะสำคัญของพื้นที่ที่เป็นเชิงเส้น กล่าวคือ มีลักษณะเป็นแนวทางยาวต่อเนื่องเชื่อมต่อสู่หลายย่านจึงมีศักยภาพเป็นตัวกระตุ้นการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องโดยรอบ ตัวอย่างที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้อย่างโครงการฟื้นฟูคลองชองเกชอน ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ที่เคยแบ่งเมืองโซลออกทางภูมิศาสตร์และทางสังคมวัฒนธรรม ภายหลังฟื้นฟูกลับกลายเป็นพื้นที่รวมตัวของคนเมือง เป็นพื้นที่นันทนาการให้กับย่านโดยรอบทั้งย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจ ย่านพานิชยกรรม และย่านที่อยู่อาศัย ความสำเร็จของโครงการเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบตามมา"
ภาพ UddC / Project Map
โดยส่วนตัว หากถามความคิดเห็นว่า 1,500 กว่าล้านบาทคุ้มค่าหรือไม่ กับการลงทุนก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าระยะทางกิโลเศษ คงต้องถามกลับก่อนว่า ความคุ้มค่าที่ว่าใช้เกณฑ์ใดเป็นตัวชี้วัดบ้าง สุนทรียภาพในการเดินเท้าของพลเมืองผู้เสียภาษีให้รัฐบาลท้องถิ่น / เม็ดเงินที่สะพัดจากกระเป๋าคนเมืองและนักท่องเที่ยวไปยังร้านค้ายิบย่อยโดยรอบโครงการ / ภาษีที่คืนกลับสู่รัฐจากการพัฒนา / ระบบนิเวศเมืองที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิต / ฯลฯ
โครงสร้างล้ำสมัยจากประเทศพัฒนาแล้ว อาจไม่ใช่สาระสำคัญที่ไทยจำเป็นต้องยึดเป็นแบบอย่างในตอนนี้ แต่อย่างน้อยการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะเพื่อการเดินเท้า ตลอดจนการฟื้นฟูเมืองชั้นในและการปรับเปลี่ยนเมือง เพื่อสร้างความเท่าเทียมระหว่างคนหลากหลายกลุ่มในเมืองอันซับซ้อน น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้มีอำนาจผลักดันเป็นวาระสำคัญ และดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เป็นแรงบันดาลใจให้เดินทางไปศึกษาดูงานเท่านั้น