ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อจุดมุ่งหมายในการเรียนของเด็กไทยคือ สอบ สอบ และ สอบ แต่ถึงเวลาต้องใช้ทักษะที่เรียนมา เราจะเอาตัวรอดได้แค่ไหน

เมื่อไม่นานมานี้ EF หรือ Education First สถาบันสอนภาษาอังกฤษสัญชาติสวีเดนที่มีสาขาทั่วโลกได้ประกาศ 2017 EF English Proficiency Index ซึ่งเป็นผลการจัดอันดับทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของประชากรในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกว่าทักษะการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับประเทศไทยรั้งลำดับที่ 53 จาก 80 ประเทศ หรือลำดับที่ 15 จาก 20 ประเทศในทวีปเอเชีย เรียกว่าอยู่ในกลุ่ม Low proficiency หรือระดับต่ำ ซึ่งก่อนจะตีอกชกหัว ก่นด่าโวยวาย พาลรีพาลขวาง กระบึงกระบอนน้อยอกน้อยใจในโชคชะตาด้านการเรียนภาษาอังกฤษแห่งมาตุภูมินั้น ต้องขอบอกคุณผู้อ่านทั้งหลายก่อนว่าในปีนี้อันดับของเรากระเตื้องขึ้นมาแล้ว เพราะเมื่อก่อนนั้นเราถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีทักษะภาษาอังกฤษต่ำมาก (Very low proficiency) ตามสถิติอันดับโลกดังนี้

ปี 2011 ได้อันดับที่ 42 จาก 44 ประเทศ

ปี 2012 ครองอันดับที่ 53 จาก 54 ประเทศ

กระโดดมาที่

ปี 2016 คว้าอันดับที่ 56 จาก 72 ประเทศ

และล่าสุด

ปี 2017 ผงาดอยู่อันดับที่ 53 จาก 80 ประเทศ

ดังนั้น ก็น่าจะพอถือได้ว่าเราทำได้ดีขึ้นมาเล็กน้อย

ในกลุ่มระดับ Low (ต่ำ) นี้ เรามีเพื่อนร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่เป็นประเทศอย่างจีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย โดยผู้ที่มีทักษะภาษาอังกฤษระดับนี้จะสามารถเอาตัวรอดในฐานะนักท่องเที่ยวในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษได้ สามารถชวนเพื่อนร่วมงานชิตแชตภาษาอังกฤษสัพเพเหระเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ และเข้าใจเนื้อหาในอีเมลแบบง่าย ๆ ได้ สรุปความได้ว่าสามารถผจญภัยด่านการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้อย่างพอกล้อมแกล้มคาบลูกคาบดอก

ว่าแต่ EF นั้นจัดอันดับโดยวัดจากอะไรกัน?

ข้อสอบ EF เป็นข้อสอบออนไลน์โดยแบ่งเป็น 2 ชุด คือ ข้อสอบชุดที่เปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปเข้ามาสอบออนไลน์ได้ และข้อสอบสำหรับผู้ที่ต้องการทดสอบวัดระดับเพื่อเข้าเรียนในสถาบัน EF ซึ่ง EF จะพิจารณาจัดอันดับเฉพาะประเทศที่มีผู้เข้าสอบมากกว่า 400 คนขึ้นไปเท่านั้น นอกจากนั้น EF ยังอ้างอิงผลการทดสอบจาก Euromonitor, Gallup หรือ PISA มาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานอีกด้วย

ว่าง่าย ๆ คือคะแนนและอันดับจาก EF ก็ยังไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงด้านระดับทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยในภาพรวมสักเท่าใดนัก ไม่ต้องตระหนกตกใจกับอันดับที่ว่ามากขนาดนั้นก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นผลสอบนี้ก็พอจะเป็นชนวนชวนให้ฉงนกันต่อว่าพวกเราเรียนภาษาอังกฤษกันมาอย่างไร ทำไมหลายคนจึงบ่นว่าเรียนมาตั้งแต่เด็กจนโตก็ยังใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้

หากจะพิจารณาจากปลายน้ำที่ยังพอเห็นความเข้มข้นของการเรียนแบบมาตรฐานประเทศไทยนั้น คงต้องหันมาพิจารณาผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) โดย สทศ. ซึ่งในปีการศึกษาล่าสุด คือ ปี 2559 คะแนนเฉลี่ยผลการสอบ O-NET วิชาภาษาอังกฤษระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีผู้เข้าสอบทั้งสิ้น 378,779 คนนั้นมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 27.76 จาก 100 คะแนน หนีอันดับบ๊วยมาได้อย่างหวุดหวิดจากการเฉือนเอาชนะวิชาคณิตศาสตร์ ยาขมตลอดกาลของใครหลาย ๆ คน (รวมทั้งของผู้เขียนด้วย เกลียดกลัวจนถึงบัดนี้) เพียงราว ๆ 3 คะแนนเท่านั้น

ต้องสอบทานความเข้าใจกันก่อนว่า ผู้เขียนเห็นว่าจุดมุ่งหมายในการเรียนหนังสือของพวกเรามานมนานกาเลนั้นเป็นการเรียนมาเพื่อสอบ สอบ และสอบ การสอบถือเป็นเส้นชัย เป็นเป้าหมายปลายทางของการศึกษาเสมอมาตั้งแต่ยุคสอบไล่จนกระทั่งยุคปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 2 ในปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าการสอบเป็นผู้ร้ายไปเสียหมด แต่การกำหนดเป้าหมายเป็นเรื่องสอบวัดความรู้อย่างเดียวนั้นไม่ได้เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ที่นำไปใช้ได้จริงต่างหาก และเมื่อการสอบวัดผลทั้งหลายเป็นหัวใจหลักของการศึกษาแบบไทย ไทย (เศร้าเหลือเกินที่ต้องเขียนแบบนี้) ที่กล่าวเช่นนี้ได้ก็เพราะว่าในการคัดเลือกระบบ Admissions เวอร์ชันล่าสุดนั้น น้ำหนักของเหล่าผลสอบบรรดามีนั้นสูงถึง 80% ของน้ำหนักคะแนนทั้งหมด (ทั้งนี้ อีก 20% ที่เหลือนั้นเป็นผลการเรียนเฉลี่ยนสะสมตลอดหลักสูตรของผู้สมัคร ซึ่งก็ไม่พ้นที่จะเป็นดอกผลแห่งการสอบอยู่ดี เหนื่อยแท้) วันนี้จึงขอชี้ชวนให้มาควักหัวใจข้อสอบ O-NET ฉบับปีล่าสุดเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษเอาออกมาพิสูจน์กันว่ามีหน้าตาโครงสร้างเป็นอย่างไร

ข้อสอบ O-NET วิชาภาษาอังกฤษปีการศึกษา 2559 นั้นมี 80 ข้อ ข้อละ 1.25 คะแนน แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

ส่วนแรก การใช้ภาษาอังกฤษ

ข้อสอบส่วนนี้ดูคล้ายจะพยายามวัดว่าผู้เรียนมีความเข้าใจและสามารถใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตชีวิตประจำวันได้หรือไม่ และเจ้า “ชีวิตประจำวัน” นี่แหละที่เป็นปัญหา ข้อสอบกำลังใช้ชีวิตประจำวันของใครเป็นบรรทัดฐานในการออกข้อสอบ เช่น

บทสนทนาแรก ว่าด้วยเด็กหนุ่มวัยมัธยมปลายเข้าไปยืมหนังสือในห้องสมุดมหาวิทยาลัยโอไฮโอ อ่านปุ๊บชวนให้นึกต่อว่ามีนักเรียนไทยผู้เข้าสอบสักกี่คนที่จะมีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษกับบรรณารักษ์ในต่างประเทศ ซึ่งเมื่อพิจารณาสถานการณ์ที่กำหนดให้นั้น เงื่อนไขสำคัญเห็นจะไม่พ้นว่า คุณต้องได้อยู่ต่างประเทศ หรือมีโอกาสพบปะบรรณารักษ์ที่เป็นชาวต่างประเทศก่อนจึงจะคุ้นเคยกับบทสนทนาลักษณะนี้ และที่น่าเศร้าไปกว่านั้น ผู้เข้าสอบจำนวนเท่าใดในประเทศนี้ที่เข้าใช้ห้องสมุดจริง ๆ จัง ๆ กัน แต่หากมองมุมกลับปรับมุมมอง อาจกล่าวได้ว่าข้อสอบกำลังวัดความสามารถภาษาอังกฤษของผู้เรียนในเรื่องที่คิดว่าจะต้องเจอะเจอใน “อนาคต” เป็นแน่แท้ก็เป็นได้

ทั้งนี้ อนาคตแบบในข้อสอบนั้นดูเป็นเรื่องห่างไกลจาก “ชีวิตประจำวัน” ของผู้เข้าสอบ (และผู้สอนวิชาดังกล่าว) พอสมควร หากข้อสอบไม่ได้ออกแบบมาจากการใช้งานในชีวิตจริง ๆ ของทั้งผู้สอนและผู้เรียนแต่แรก ก็เป็นการยากที่ทั้งผู้เรียนหรือผู้สอนจะทำการเรียนการสอนไปเพื่อให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้จริงทั้งในแง่ของเนื้อหาและวิธีการวัดผล ข้อสอบลักษณะนี้ผลักให้ครูและนักเรียนต้องเรียนเพื่อตีโจทย์ให้แตก ตัดตัวเลือก และเดาคำตอบตามความเหมาะสมกับบริบท ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทักษะเพื่อทำข้อสอบ ไม่ใช่ทักษะที่นำมาใช้สื่อสารซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนภาษา

ในส่วนของวิธีวัดผลความเข้าใจภาษานั้น การเว้นที่ให้เลือกประโยคหรือวลีจากตัวเลือก ก ข ค ง มาเติมก็ไม่อาจวัดว่านักเรียนเข้าใจบริบทนั้นจริง ๆ ได้เสียทีเดียว หากให้กล่าวชัดเจนลงไปกว่านี้ ข้อสอบนี้วัดได้เพียงทักษะการอ่านเพื่อทำความเข้าใจเท่านั้น เมื่อหันกลับมาสู่ชีวิตจริง ๆ พวกเราน่าจะได้ใช้ทักษะการฟังและการพูดบ่อยกว่าทักษะการอ่าน “บทสนทนา” จริงหรือไม่? ดังนั้นหากเป็นดังว่า เมื่อต้องการจะวัดความเข้าใจภาษา การวัดทักษะการฟัง และการตอบข้อสอบด้วยการเขียนคำตอบสั้น ๆ น่าจะเป็นทางออกที่สะท้อนความสามารถของผู้เรียนได้มากกว่าหรือไม่? (แนวทางคล้ายกับการวัดผลในข้อสอบต่างประเทศอย่าง IELTS หรือข้อสอบ MUET ซึ่งเป็นข้อสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยของมาเลเซีย)

ข้อสอบปรนัยนั้นสะดวกมากมายกับทุกฝ่ายก็จริง เพราะการตรวจในปัจจุบันนั้น ได้เปลี่ยนผ่านจากการเอาธูปจี้กระดาษคำตอบเฉลยไปทาบมาเป็นการเข้าเครื่องตรวจให้อ่านออกมาก็เรียบร้อย ไม่ต้องวุ่นวายอื่นใดอีก แต่มักจะมีข้อจำกัดเพราะไม่อาจวัดความสามารถได้ไปไกลเกินกว่าขอบเขตความรู้ที่เป็นความจำหรือความเข้าใจเบื้องต้น

ส่วนที่สอง ความสามารถในการเขียน (ไวยากรณ์)

คาดว่าข้อสอบส่วนนี้พยายามประเมินความสามารถในความเข้าใจและความรู้เชิงไวยากรณ์เท่านั้น แต่ข้อสอบไม่ได้สะท้อนว่านักเรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษ ‘เขียน’ ได้เป็นเรื่องเป็นราวจริง ๆ ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการเขียนเป็นทักษะการผลิตภาษานั้น ๆ ขึ้นมา ซึ่งต้องมีคลังภาษาที่มากเพียงพอ (ซึ่งนั่นเกิดจากการเข้าใจภาษานั้น ๆ ก่อน) ประกอบกับการฝึกฝน ผู้เรียนจึงจะสามารถสร้างเนื้อหาใหม่ ๆ ในภาษาต่าง ๆ ได้ นึกเอาง่าย ๆ เช่นเวลาเขียนเรียง��วามภาษาไทย เราพบกระบวนการสร้างภาษาภายใต้เงื่อนไขมากมาย เช่น ระดับภาษา การใช้ภาษาเขียน การสะกดคำ ไวยากรณ์ไทย ฯลฯ ความรู้ด้านไวยากรณ์ที่ข้อสอบพยายามจะวัดผลนั้นจึงสะท้อนได้เพียงระดับความเข้าใจเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้เรียนจะสังเคราะห์ภาษาเป็นเรื่องราวใหม่ได้จริง

ในปี 2549 มีประกายความหวังเล็ก ๆ ปรากฏขึ้นในวงการนี้ คือ มีการเสนอให้ใช้ข้อสอบอัตนัยในการสอบ O-NET และ A-NET แต่แผนนี้ก็ต้องถูกพับเก็บเข้ากรุไปด้วยเหตุผลบางประการ

ส่วนท้าย ความสามารถในการอ่าน

Englisg learning.jpg

ตัวอย่างข้อสอบประเมินความเข้าใจป้ายต่าง ๆ

ข้อสอบส่วนนี้เป็นการวัดความเข้าใจคำศัพท์ เนื้อหาโดยรวมของบทความ หรือป้ายประกาศต่าง ๆ ซึ่งขอกุมขมับกับป้ายประกาศบางป้ายที่ช่างไกลตัวนักเรียนเสียยิ่งกว่าอะไรดี เช่น ป้ายประกาศรับจ้างทำความสะอาดปล่องควัน (ผู้เขียนนึกถึงหน้าตัวละคร Oliver Twist จากวรรณกรรมอังกฤษยุคกลางศตวรรษที่ 19 ขึ้นมาทันที) หากปล่อยให้นักเรียนได้คิดตามใจตัวนั้น จะจินตนาการบริการประเภทนี้ออกมาได้อย่างไรกัน และจะเที่ยงตรงกันสักกี่มากน้อย หรือแม้กระทั่งคำศัพท์อย่าง plastering services ที่แปลว่าการรับฉาบปูน ไม่ใช่การรับทำแผลแบบแปะพลาสเตอร์นั้นอยู่แห่งหนตำบลใดในสารบบนักเรียนไทยหรือ หรือหากจะปรากฏอยู่จริง ประสบการณ์นั้นพอจะสอดคล้องกับภูมิหลังของผู้เข้าสอบทั้งหมดหรือไม่? ส่วนอื่น ๆ เป็นการถามข้อมูลพื้นฐานของสิ่งที่ผู้เรียนได้อ่านไป เช่น เรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร หัวเรื่องควรชื่ออะไรดี ตัวละครนี้ต้องทำอะไรบ้าง ไม่มีการวัดทักษะการคิดวิเคราะห์ ต่อยอด แยกแยะใด ๆ

เหล่านี้ล้วนแล้วแต่สะท้อนว่าการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในเมืองไทยหยุดอยู่ที่การเรียนเนื้อหาสาระแห่งการเป็นภาษา มิใช่การเรียนเพื่อพยายามใช้ภาษาเอาเสียเลย ซ้ำร้าย นักเรียนและผู้ปกครองยังต้องเสียเงิน เสียเวลาเพื่อไปเรียนกวดวิชาเพื่อล่าทักษะการทำข้อสอบ เพื่อมาตะลุยข้อสอบให้ได้อีกทอดหนึ่ง

แน่นอนที่สุดว่าการออกข้อสอบวัดผลสักครั้งไม่ใช่เรื่องหมู ๆ กล้วย ๆ ทั้งยังต้องหมดเปลืองงบประมาณมหาศาล ปัจจุบัน สทศ. หรือสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้รับงบประมาณในปีงบประมาณ 2559 ถึงกว่า 800 ล้านบาท เพื่อจัดทำและพัฒนาข้อสอบ รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานการสอบระดับชาติ นั่นหมายถึงการจัดทำข้อสอบปริมาณมากมายมหาศาล เพราะประเทศไทยมีการสอบระดับชาติประเภทต่าง ๆ มากมายหลายหลาก (แค่เฉพาะบนเว็บไซต์ สทศ. ก็ตาลายละค่ะ) ถึงขนาดว่าถ้าจัดอันดับจำนวนการสอบ เราคงได้ภาคภูมิใจว่า คนไทยทำอะไรไม่แพ้ชาติใดในโลกเป็นแน่ ตอกย้ำความเป็นเจ้าแห่งการสอบ ส่วนจะเป็นเจ้าแห่งการเรียนรู้เพื่อการดำรงชีวิตหรือไม่นั้น คงต้องกล่าวว่า ยังอีกไกล อย่างแน่แท้

อ้างอิง:

EF EPI 2017 Executive Summary

สรุปผลการทดสอบ O-NET ชั้น ม.6 ปีการศึกษา 2559

ระเบียบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบ O-NET ปีการศึกษา 2559 วิชาภาษาอังกฤษ

รายงานประจำปี 2559 สทศ.