ไม่พบผลการค้นหา
ดีแทค ยื่นจดหมายถึงกสทช.  เรียกร้องให้พิจารณาทบทวนแนวทางประมูลคลื่นความถี่  ด้าน กสทช. แจงกรณีเสนอใช้ม. 44 ไม่ได้อุ้มเอไอเอส-ทรู

9 เม.ย. 2561 นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เผยว่า ดีแทค ไตรเน็ต ได้ยื่นจดหมายข้อเสนอพร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นต่อการประมูล 1800 MHz ต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เรียกร้องให้พิจารณาทบทวนกฎเกณฑ์การประมูลเดิม เพื่อประโยชน์สูงสุดของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ผู้บริโภค และร่วมผลักดันนโยบาย ประเทศไทย 4.0

โดยดีแทค มีข้อเสนอแนะใน 4 ประเด็นหลักคือ เรื่องราคาขั้นต่ำ ขนาดคลื่นความถี่ที่จะให้ประมูล ข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้เข้าร่วมประมูล และการกำหนดงวดและระยะเวลาการชำระเงินประมูลซึ่งเห็นได้ว่า ยื่นเรื่องขอผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เมื่อเวลาผ่านมากว่า 2 ปี แสดงว่าผู้ประกอบการต้องรับภาระสูงเกินไป

ประเด็นแรก ดีแทคระบุว่าราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ไม่ควรกำหนดราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (ราคาขั้นต่ำ) โดยอิงกับราคาชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เมื่อปี 2558 ราคาคลื่นในปัจจุบัน จึงควรกำหนดให้ต่ำลงเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำคลื่นไปใช้ได้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการและสังคมโดยรวม

สำหรับประเด็นขนาดของคลื่นความถี่ที่จะให้อนุญาต ดีแทคเห็นว่าการกำหนดขนาดคลื่นความถี่จำนวน 3 ชุดคลื่นความถี่ ชุดละ 2x15 MHz ไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติ เนื่องจากความต้องการใช้คลื่นความถี่ของผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายมีไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณคลื่นความถี่และย่านความถี่ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ความพร้อมทางการเงิน และแผนการให้บริการ

การกำหนดใบอนุญาตเป็น 9 ชุดคลื่นความถี่ ชุดละ 2x5 MHz นั้น จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายสามารถเลือกประมูลคลื่นความถี่ตามความต้องการของตนได้ ลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่

ประเด็นที่สาม ข้อกำหนดกรณีผู้เข้าประมูลมีจำนวนเท่ากับหรือน้อยกว่าจำนวนใบอนุญาต บริษัทฯ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับเงื่อนไข การนำคลื่นออกประมูลโดยกำหนดให้จำนวนชุดคลื่นความถี่น้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูล หรือ เงื่อนไข N-1 เพราะจะยิ่งทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสที่จะนำคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มาใช้อย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 เพราะจะออกใบอนุญาตคลื่นความถี่น้อยกว่าผู้เข้าร่วมการประมูลที่พร้อมจะนำคลื่นความถี่ไปใช้ประโยชน์ นอกเหนือจากผลกระทบด้านลบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมและระบบเศรษฐกิจของประเทศแล้ว เงื่อนไข N-1 เป็นหลักเกณฑ์ใหม่ที่ไม่เคยใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ใดๆมาก่อนหน้านี้ จึงถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ที่จะเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในครั้งนี้

และข้อสุดท้ายคือ การกำหนดงวดและระยะเวลาการชำระเงินประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ การที่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ได้ยื่นเรื่องขอผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เมื่อเวลาผ่านมากว่า 2 ปี หลังจากการประมูลคลื่นความถี่ตั้งแต่ปี 2558 นั้น เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับแรงกดดันจากภาระด้านการเงินที่สูงมาก บริษัทฯ จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ กสทช. ได้โปรดพิจารณาทบทวนเงื่อนไขการกำหนดงวดและระยะเวลาการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และคลื่นความถี่ย่านอื่นๆ ในอนาคตเพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการเงินเกินกว่าที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะแบกรับไหวตามที่เห็นสมควรด้วย

จับตาทิศทาง กสทช. จะช่วยผู้ประกอบการมือถือหรือไม่ และอย่างไร

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช ระบุถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอช่วยผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการขอเลื่อนชำระค่าประมูลใบอนุญาติคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ (MHz) ซึ่งมีผู้ประกอบการสองรายได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือ เอไอเอ และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือ ทรูมูฟว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่การ “อุ้ม” ผู้ประกอบการ

โดยโอเปอร์เรเตอร์ชนะการประมูลทั้ง 2 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือ เอไอเอ และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือ ทรูมูฟที่ได้ยื่นเรื่องต่อ คสช.เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2560โดยมี 3 ประเด็น ด้วยกัน คือ 1.ขอขยายระยะเวลาในงวดที่จะมีการชำระในปี 2563 ซึ่งเป็นงวดที่ 4 เป็นชำระงวด 5 ปี ซึ่งจะรวมเป็นการชำระทั้งหมด 7 งวด โดยในงวดที่ 4 ที่ทรูจะต้องชำระจำนวน 60,218 ล้านบาท และเอไอเอสจำนวน 59,574 ล้านบาท

ส่วนประเด็นที่ 2 คือ ไม่ขอชำระดอกเบี้ย โดยให้เหตุผลว่า บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ JAS ทำให้ราคาเริ่มต้นการประมูลสูงถึง 6 เท่า ประเด็นที่ 3 แจสเป็นผู้ที่ชนะประมูลคลื่นดังกล่าว แต่ไม่สามารถชำระค่าประมูลได้ ซึ่งเอไอเอส ถูกขอร้องมารับคลื่นดังกล่าวทำให้เกิดภาระในการประกอบธุรกิจของบริษัท ซึ่งหากไม่ขยายเวลาการชำระเงินออกไปเอไอเอสและทรูจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHzและเงินที่จะได้รับรวมอยู่ที่ราว 119,792 ล้านบาท และการชำระในปี 2563 จะทำให้ทั้งสองบริษัท วงเงินกู้เต็มจำนวน จะทำให้เหลือผู้ประกอบการเพียงรายเดียวคือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ ดีแทค เพียงรายเดียวที่จะเข้าร่วมประมูลได้

นายฐากรระบุว่า สำนักงานฯ ยังคงยืนยันตามมติที่ประชุมบอร์ด กสทช.เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.60 คือ กสทช.ไม่มีอำนาจในการพิจารณาผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900เมกะเฮิร์ตซ ให้ทั้ง 2 บริษัท เนื่องจากกสทช.มีหน้าที่ต้องดำเนินการให้มีการชำระเงินประมูลตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และคำสั่ง คสช.เรื่องการประมูลความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม โดยไม่มีข้อกำหนดให้อำนาจแก่กสทช.ในการพิจารณาผ่อนผันชำระเงินประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ อีกทั้ง หาก คสช.แก้ไขปัญหาด้านการบริการจัดการเงินลงทุนของผู้ประกอบการได้ ก็ขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามแนวทางเดียวกับการช่วยเหลือทีวีดิจิทัล

 “ถ้าเราไม่ต้องอุ้มค่ายมือถือ ถือว่าตรรกะของกสทช.เลอะเลือนไปนิดนึง ถ้าเช่นนั้นก็เป็นไปตามตรรกะที่นักวิชาการและภาคประชาชนเสนอ และควรเร่งออกมาตร 44 เพื่อช่วยเหลือทีวีดิจิทัล ที่เราได้สรุป ขณะเดียวกันเมื่อรัฐบาลต้องการช่วยเหลือทีวีดิจิทัลเพียงอย่างเดียวก็ช่วยเหลือไป ซึ่งผ่านมา 4-5 วัน ตนรู้สึกอึดอัด ทำไมต้องคิดว่า กสทช.ชงเรื่องทั้งหมด ทั้งๆ ที่ กสทช.ทำตามหน้าที่เสนอแนวทาง”