ไม่พบผลการค้นหา
สัปดาห์ก่อน คนหลากหลายทางเพศในอินเดียเพิ่งเฉลิมฉลองชัยชนะ หลังศาลตัดสินให้ยกเลิกกฎหมายแบนการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันที่มีมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม แต่ล่าสุด เคนยาก็เพิ่งแบนภาพยนตร์เกี่ยวกับเลสเบี้ยน เนื่องจากมีกฎหมายแบนคนรักเพศเดียวกันตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษ หากไปสำรวจดูก็จะพบว่า ประเทศที่ยังมีกฎหมายนี้ส่วนใหญ่เป็นประเทศอาณานิคมอังกฤษ

การต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนกฎหมายแบนการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันในอินเดียดำเนินมายาวนานหลายปี ศาลได้กลับคำตัดสินไปมาหลายครั้ง จนสุดท้ายศาลสูงสุดตัดสินให้ยกเลิกกฎหมายนี้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และถือเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ แต่ในขณะที่หลายคนกำลังยินดีกับอินเดีย ก็ยังมีคนอีกหลายล้านคนใน 71 ประเทศทั่วโลกที่ยังรอให้มีการยกเลิกกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงาน ผลการศึกษาของสมาคม LGBTI สากลที่ระบุว่า ในบรรดา 71 ประเทศที่มีกฎหมายเอาผิดคนที่มีความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน มี 31 ประเทศเคยเป็นเมืองขึ้นหรือเมืองในอารักขาของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และประเทศในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ร่างและบังคับใช้กฎหมายแบนกลุ่มหลากหลายทางเพศในยุคอาณานิคม และยังคงใช้ต่อมาเรื่อยๆ แม้จะได้รับอิสรภาพจากอังกฤษแล้วก็ตาม

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้กล่าวในการประชุมผู้นำประเทศในเครือจักรภพแสดงความเสียใจที่อาณานิคมอังกฤษมีประวัติศาสตร์การออกกฎหมายต่อต้านกลุ่ม LGBT จนทำให้มีการเลือกปฏิบัติทางเพศ ความรุนแรง หรือแม้แต่การเสียชีวิตฝังรากลึกยาวนานมาถึงทุกวันนี้


WT_LGBT.jpg



ความเกลียดกลัวคนหลากหลายทางเพศเปลี่ยนมาเป็นกฎหมายได้อย่างไร?

นายลูคัส เมนโดส ผู้ร่วมเขียนรายงานของ ILGA ว่าด้วยเรื่องความเกลียดกลัวกลุ่มหลากหลายทางเพศที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐปี 2017 ระบุว่า อังกฤษเคยเป็นเจ้าอาณานิคม 49 ประเทศทั่วโลกตั้งแต่อเมริกาใต้มายังเอเชีย ในจำนวนนี้ 31 ประเทศยังมีกฎหมายต่อต้านกลุ่มหลากหลายทางเพศที่ร่างขึ้นมาใช้ตั้งแต่ยุคอาณานิคม เช่น มาเลเซีย ปากีสถาน ยูกันดา เป็นต้น

ก่อนที่อังกฤษจะเข้าไปยึดครองประเทศต่างๆ ประเทศเหล่านี้ไม่เคยมีกฎหมายแบนความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกัน แต่เมื่อความกังวลของเจ้าหน้าที่อังกฤษเพียงไม่กี่คนกลับทำให้เกิดกฎหมายแบนคนรักเพศเดียวกันและถูกนำไปใช้ทั่วอาณานิคมอังกฤษ

นายหานเอินเจ๋อ ผู้เขียนหนังสือ “อาณานิคมอังกฤษและการทำให้พฤติกรรมรักเพศเดียวกันผิดกฎหมาย” อธิบายว่า ทางการอังกฤษเกิดความกังวลว่า คนพื้นเมืองมีความประเจิดประเจ้อในเรื่องเพศมากเกินไปและมีเซ็กซ์กันมากเกินไป จึงกังวลว่าชาวอังกฤษหนุ่มสาวที่เดินทางไปยังประเทศใต้อาณานิคมจะลุ่มหลงมัวเมากับกิจกรรมทางเพศเหล่านั้น จึงมีการร่างกฎหมายควบคุมการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ก่อให้เกิดบุตรขึ้น และถูกนำไปใช้ทั่วอาณานิคมอังกฤษนับตั้งแต่ปี 1860 เป็นต้นมา ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็เป็นผลพวงมาจากหลักศีลธรรมยุควิกตอเรียน ซึ่งมองว่ากิจกรรมทางเพศที่ไม่ก่อให้เกิดบุตรถือเป็นเรื่องผิด


LGBT Exhibition 1.jpg


นายเมนโดสกล่าวว่า กฎหมายหลายฉบับที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษเขียนขึ้น ถูกรัฐบาลท้องถิ่นแก้ไขปรับปรุงหรือแม้แต่เพิ่มความเข้มงวดขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยกฎหมายสมัยอาณานิคมก็มีส่วนสะท้อนแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่มีอยู่ในประเทศใต้อาณานิคมในขณะนั้น แล้วฝ่ายอนุรักษ์นิยมในประเทศนั้นก็ยอมรับกฎหมายนี้เข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมของตัวเอง

นายหานได้อธิบายว่า แนวคิดต่อต้านความหลากหลายทางเพศในประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมอังกฤษอาจเป็นผลมาจากการที่อังกฤษไปควบคุมและปิดกั้นความเห็นของคนท้องถิ่น และเมื่อกฎหมายถูกบังคับใช้เป็นเวลานานก็จะส่งผลต่อมุมมองด้านกฎหมายและด้านสรีรวิทยาด้วย เมื่อกฎหมายบอกว่าพฤติกรรมนี้ผิดกฏหมาย จึงหมายความว่ามีการเข้าไปแทรกแซงทางสังคม และมุมมองเกี่ยวกับมาตรฐานสังคมเรื่องการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันก็เปลี่ยนไปด้วย

กฎหมายยุควิกตอเรียนที่เข้มงวดของอาณานิคมอังกฤษมักขัดแย้งกับทัศนคติทางวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีมาอย่างยาวนาน เช่น เดิมที คนอินเดียมีความลื่นไหลทางเพศและบทบาททางเพศมากกว่าคนอังกฤษ แต่รัฐบาลอังกฤษกลับไม่สนใจวัฒนธรรมของพวกเขา และออกกฎหมายแบนเกย์ในปี 1860 และประกาศให้ “ฮิจเราะห์” หญิงข้ามเพศซึ่งมีที่ทางในสังคมอินเดียมายาวนานหลายร้อยปี กลายเป็นคนที่ “ผิดธรรมชาติ”


การกดขี่ทางการเมือง

กฎหมายแบนคนรักเพศเดียวของอาณานิคมอังกฤษไม่ได้ถูกใช้กดขี่ข่มเหงกลุ่มหลากหลายทางเพศเท่านั้น หลายครั้งมีการใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการเล่นงานกันทางการเมืองด้วย เช่น มาเลเซียที่ก็มีกฎหมายแบนคนรักเพศเดียวกันที่เกิดขึ้นในสมัยอยู่ใต้อาณานิคมอังกฤษ ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อันวาร์ อิบราฮิม ถูกรัฐบาลพรรคอัมโนของมหาเธร์ มูฮัมหมัด และนาจิบ ราซักเล่นงานด้วยกฎหมายห้ามมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก จนถูกจำคุกไป 2 ครั้ง ซึ่งคดีนี้ถูกทั่วโลกวิจารณ์ว่าเป็นการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง

อันวาร์ อิบราฮิม มาเลเซีย


หลังพันธมิตรปากาตัน ฮารัปปันชนะการเลือกตั้ง อันวาร์จะได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว และไม่นานมานี้ อันวาร์และนายกรัฐมนตรีมหาเธร์เพิ่งออกมาคัดค้านการเฆี่ยนเลสเบี้ยนในรัฐตรังกานูด้วย แต่นักสิทธิ LGBTQ ก็ยังมองว่าสถานการณ์สิทธิ LGBTQ ยังไม่น่าไว้ใจ เพราะรัฐบาลใหม่ก็ยังสงวนท่าทีที่จะสนับสนุนสิทธิกลุ่มหลากหลายทางเพศ เนื่องจากกระแสอิสลามอนุรักษ์นิยมที่แรงขึ้นทำให้กฎหมายแบนเกย์ของเจ้าอาณานิคมยิ่งเข้มงวด นักการเมืองก็กลัวว่าตนเองจะเสียคะแนนนิยม หากสนับสนุนกลุ่มหลากหลายทางเพศ

นอกจากนี้ ยังมีการใช้กฎหมายยุยงปลุกปั่น ซึ่งเป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นในยุคอาณานิคมเช่นกัน มาใช้ปราบปรามกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิกลุ่มหลากหลายทางเพศ


‘เราต้องการเป็นอิสระ’

นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคอาณานิคม มี 15 ประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษยกเลิกกฎหมายแบนการมีเพศสัมพันธ์ของคนหลากหลายทางเพศ โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลียและแคนาดา แต่หลายประเทศโดยเฉพาะในแอฟริกากลับมีการแก้ไขกฎหมายให้มีความเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม เช่น ยูกันดา กานา

เมื่อต้นปี 2017 นักการเมืองชื่อดังของกานาเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นในการเอาผิดพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน สร้างความกังวลใจให้กับกลุ่มหลากหลายทางเพศในกานาอย่างมาก โดยเลสเบี้ยนวัย 40 ปีจากกานาได้กล่าวกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า รัฐบาลควรเห็นว่า กลุ่ม LGBT เป็นเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี ไม่ควรปฏิบัติกับพวกเขาอย่างคนนอกรีตในสังคมของตัวเอง พวกเขาต้องการเป็นอิสระ สามารถยืนอย่างภาคภูมิในสังคม ไม่ต้องประสบกับอุปสรรคหรือการคุกคามรายวัน และการยกเลิกกฎหมายแบนกลุ่มหลากหลายทางเพศจะถือเป็นขั้นตอนแรก ก่อนที่จะสามารถเรียกร้องสิทธิอื่นๆ ต่อไปได้


ที่มา : CNN