ไม่พบผลการค้นหา
อธิบดีกรมสรรพากร เตรียมเปิดรับฟังความเห็นร่างกม.ภาษีออนไลน์รอบ 2 ในเดือนธ.ค. ก่อนเสนอครม.พิจารณาบังคับใช้โดยเร็ว

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า เตรียมจะเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การเก็บภาษีจากผู้ประกอบการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ผ่านเว็บไซด์ของกรมสรรพากรอีกครั้งในช่วงเดือน ธ.ค.นี้ จากที่ได้เคยเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วระหว่างวันที่ 21 มิ.ย. -11 ก.ค.60 ซึ่งมีผู้แสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น 64 ราย โดยมีผู้เห็นด้วย 29 ราย และไม่เห็นด้วย 35 ราย

โดยจะนำข้อคิดเห็นต่างๆ มาปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.กำหนดให้มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับสินค้านำเข้าทางไปรษณีย์ สำหรับมูลค่าสินค้าไม่เกิน 1,500 บาท จากเดิมมีข้อกำหนดให้ยกเว้นภาษี VAT สำหรับสินค้านำเข้าทางไปรษณีย์ที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการชำระภาษีระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ

 2.การกำหนดนิยามของนิติบุคคลที่เข้าข่ายในการเสียภาษีให้ชัดเจนขึ้น เช่น มีการใช้โดเมนท้องถิ่นในไทย มีการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบสกุลเงินบาทหรือสกุลเงินต่างประเทศก็ได้ แต่ธุรกรรมเกิดขึ้นในประเทศไทย และมีสถานประกอบการอยู่ในประเทศไทย ซึ่งในส่วนนี้รวมถึงบริษัทต่างชาติที่มีการตั้งบริษัทลูกอยู่ในประเทศไทย

3.กำหนดให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างหรือให้บริการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษี VAT หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการดังกล่าวเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษี VAT และมีหน้าที่เสียภาษี VAT ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

นอกจากนี้ยืนยันว่า การดำเนินการเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่ขัดต่อข้อกำหนดของอนุสัญญาภาษีซ้อนขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว กรมสรรพากรได้ปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนตามข้อเสนอต่างๆ ที่ได้รับฟังมา บางส่วนก็ไม่ต้องมีการปรับปรุง ส่วนไหนเดินหน้าได้ ก็เดินหน้าต่อไป และหลังเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งในเดือน ธ.ค.นี้ ก็จะเร่งสรุปในรายละเอียดเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาโดยเร็วที่สุด เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพราะปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักแสนล้านบาท