ไม่พบผลการค้นหา
‘เกาะหมาก’ ดินแดนอันแสนเงียบสงบขนาด 9,500 ไร่ ส่วนหนึ่งของอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ประกาศใช้ ‘ธรรมนูญ 8 ข้อ’ เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นพื้นที่ต้นแบบของการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ ทีมงาน ‘วอยซ์ ออนไลน์’ เคลื่อนย้ายตัวเองไปยลเสน่ห์ของ ‘เกาะหมาก’ พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ๆ จากไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันของคนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว

ภายหลังจากการเดินทางด้วยรถยนตร์นานกว่า 5 ชั่วโมงเศษ และต่อเรือฝ่าคลื่นลมอีกเกือบ 50 นาที ต้องยอมรับกันตามตรงว่า เกาะหมากนับเป็นหมุดหมายของความเนิบช้า มันเป็นเกาะเล็กๆ น่ารักเหมาะมากกับนักท่องเที่ยวอารมณ์อ่อนโยนผู้ต่อต้านความเมนสตรีมทั้งปวง

วิถีชีวิตคนท้องถิ่นบนเกาะค่อนข้างเรียบง่าย ออกแนวสโลว์ไลฟ์ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนมะพร้าว สวนยางพาราง ปลูกผักปลอกสารพิษ และทำการประมง ส่วนการสัญจรบนเกาะอาศัยการปั่นจักรยาน และรถยนต์สาธารณะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดการก่อมลภาวะจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง


32.เกาะหมาก.jpg
  • ท่าเรือเกาะหมาก หลังจากลงจากเรือแล้วนักท่องเที่ยวสามารถแวะเช่าจักรยานราคาสูงสุดไม่เกินคันละ 50 บาทต่อวัน หรือต่อรถสาธารณะพลังงานโซลาร์เซลล์ต่อไปยังรีสอร์ท


33.เกาะหมาก.jpg
  • ยามบ่ายวันเสาร์ ทะเลสงบ ท้องฟ้าสดใส บริเวณชายหาดหน้าเกาะหมากรีสอร์ท

ประมาณ 10 ปีก่อน เกาะหมากเคยได้รับการยอกย่องจากนิตยสารเดอะ ซันเดย์ ไทม์ (The Sunday Times Magazine) ให้ขึ้นแท่น ‘สุดยอดชายหาดลับอันแสนงดงาม’ ทั้งที่นักท่องเที่ยวไทยไม่ค่อยรู้จักกันมากเท่าไหร่นัก แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับคุ้นเคยกับชื่อของเกาะหมากมานานแสนนาน

หลังจากทีมงานกล่าวทักทายกับ ‘นิพนธ์ สุทธิธนกูล’ ทายาทรุ่น 4 ของตระกูลผู้บุกเบิกเกาะหมากเมื่อ 114 ปีก่อน และประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก เขาเริ่มเปิดฉากเล่าความเป็นมาของ ‘ธรรมนูญ 8 ข้อ’ ให้ฟังว่า สิ่งหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อเกาะหมากมากสุดคือ ‘การท่องเที่ยว’ เพราะเกาะหมากกำลังกลายเป็นที่รู้จักของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากฝั่งยุโรป จึงทำให้กลายเป็นจุดสนใจของนักลงทุน แต่ขณะเดียวกันคนท้องถิ่นต้องการกระตุ้นจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างธรรมชาติกับนักท่องเที่ยว

“การท่องเที่ยวบนเกาะหมากเติบโต และได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมาตลอด ทำให้นักลงทุนต้องการเข้ามาสร้างที่พัก และนำเสนอกิจกรรมทางการท่องเที่ยว เช่น เจ็ตสกี สถานบันเทิง ชุมชนบนเกาะจึงต้องมาทบทวน และทำความเข้าใจร่วมกัน กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำธรรมนูญเกาะหมาก ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันทั้งฝ่ายชาวบ้าน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวต้องร่วมกันปฏิบัติ” นิพนธ์กล่าว

เนื่องจากเกาะหมากมีขีดความสามารถรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนจำกัด ทางผู้ประกอบการ และคนท้องถิ่น จึงสรรค์สร้างรูปแบบการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังปลูกฝังแนวความคิดจากรุ่นสู่รุ่นว่า เกาะหมากไม่จำเป็นต้องเจริญมาก แต่ต้องสามารถหล่อเลี้ยงตนเองได้ และคอยมอบความรู้สึกอบอุ่นกับนักท่องเที่ยวเสมอไม่เปลี่ยนแปลง


29.เกาะหมาก.jpg
  • จักรยานบนเกาะหมากจำนวน 100 คัน เพิ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นักท่องเที่ยวสามารถเลือกปั่นกันได้ทั้งแบบจักรยานเสือภูเขา และจักรยานแม่บ้าน


31.เกาะหมาก.jpg
  • สะพานไม้ทอดตัวยาวลงไปในทะเลบริเวณชายหาดหน้าเกาะหมากรีสอร์ท เหมาะอย่างยิ่งกับการเดินทอดน่องกินลมชมวิว


5.คุณนิพนธ์ สุทธิธนกูล ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก.jpg
  • นิพนธ์ สุทธิธนกูล ทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลผู้บุกเบิกเกาะหมากเมื่อ 114 ปีก่อน ดำรงตำแหน่งประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก

ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมากจับมือกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ผลักดันการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ เช่น การส่งเสริมการปั่นจักรยาน และสัญจนด้วยรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมกิจกรรมเล่นเรือใบ กิจกรรมพายเรือคายัค และเน้นทำอาหารแบบคาร์บอนต่ำ หวังสร้างเครือข่ายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

สำหรับจุดเริ่มต้นของการการจัดทำธรรมนูญเกิดจากความคิดเห็นแตกต่างกันของ 5 ตระกูลผู้บุกเบิกชุมชนเกาะหมาก ทุกคนจึงหันหน้ากับมาพูดคุยกัน และไตร่ตรองข้อเสนออย่างละเอียดอยู่นานกว่า 9 ปี ก่อนตกผลึกทางความคิดจนออกมาเป็นธรรมนูญเกาะหมาก 8 ข้อ ตอกย้ำความเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ซึ่งประกอบด้วย

  1. ไม่สนับสนุนให้เรือเฟอร์รีนำยานพาหนะของนักท่องเที่ยวข้ามมายังเกาะหมาก
  2. รถจักรยานยนต์สำหรับให้นักท่องเที่ยวเช่าต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของจำนวนห้องพักบนเกาะหมาก
  3. ไม่สนับสนุนให้ใช้วัสดุทำจากโฟม หรือวัสดุก่อมลพิษใส่อาหาร
  4. ห้ามทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล ของเหลือรับประทานลงบนพื้นที่สาธารณะ และแหล่งน้ำเด็ดขาด
  5. ไม่สนับสนุนการใช้สารเคมี หรือสารพิษตกค้างสูง
  6. ห้ามส่งเสียงดัง หรือกระทำการอันเป็นการรบกวน โดยเฉพาะเวลา 22.00 - 07.00 น.
  7. ไม่สนับสนุนกีฬาทางบก หรือทางทะเล ที่ต้องอาศัยเครื่องยนต์ และสร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชน
  8. ห้ามนำ ห้ามเสพ ห้ามจำหน่ายสารเสพติดผิดกฎหมายทุกชนิดในพื้นที่

“แน่นอนว่า การทำธุรกิจกิจท่องเที่ยวบางครั้งบางรีสอร์ทจำเป็นต้องจัดปาร์ตี้ หรือเปิดเพลงเสียงดัง ซึ่งขัดแย้งกับตัวธรรมนูญ แต่ทางด้านธรรมนูญไม่ได้ขีดเส้นแบ่ง มันต้องผ่านวิวัฒนาการ ผ่านการพูดคุย อย่างไรก็ตาม ธรรมนูญบางข้อ เช่น เรือเฟอร์รี หรือเจ็ตสกี ถือเป็นเรื่องรุนแรง เพราะต้องการป้องกันผู้ประกอบการภายนอกที่คิดจะเข้ามาลงทุน และอยากดำเนินธุรกิจรูปแบบดังกล่าว ซึ่งเขาจะเจอกระแสต่อต้านจากคนท้องถิ่นแน่นอน” นิพนธ์เสริม


27.เกาะหมาก ดิสกอล์ฟ (Koh Mak Disc Golf).jpg
  • ดิสกอล์ฟ (Disc Golf) หรือกีฬาจานร่อน นิยมเล่นกันในอเมริกา และหลายประเทศทางยุโรป ในประเทศไทยมีเล่นกัน 2 แห่งคือ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเกาะหมาก จังหวัดตราด


16.อพท.ช่วยสนับสนุนจักรยานในการสัญจรในเกาะหมาก.jpg
  • เด็กๆ ลูกครึ่งที่เติบโตมาบนเกาะหมากออกมาปั่นจักรยานเล่นรอบเกาะ

นอกจากลดการลดการใช้เครื่องยนต์แล้ว ชุมชนบนเกาะหมากยังพัฒนาการเกษตรอินทรีย์บนผืนทราย เพื่อลดการนำเข้าพืชผักจากฝั่ง และลดการปลดปล่อยคาร์บอน โดยบรรดาพืชผักปลอดสารพิษ อาทิ ผักสลัด พริก มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว กะเพรา กล้วย มะละกอ มะพร้าว ฯลฯ จะถูกนำไปประกอบอาหารให้กับนักท่องเที่ยว และหากเหลือก็จำหน่ายกับรีสอร์ต หรือร้านอาหารอื่นๆ ในราคายุติธรรม

ที่สำคัญ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมทำกิจกรรมเกษตรอินทรีย์ เช่น เก็บไข่ เก็บผัก ปลูกข้าว ทำอาหารจากพืชผัก ณ เกาะหมากรีสอร์ท หรือเรียนรู้การสอยมะพร้าว ปอกมะพร้าว และปลูกมะพร้าวอายุเกือบ 100 ปี จากคนท้องถิ่นบริเวณอ่าวแดงได้ด้วย

ส่วนผู้ชื่นชอบเรียนรู้ประวัติศาสตร์ต้องแวะ ‘พิพิธภัณฑ์เกาะหมาก’ ที่ดัดแปลงจากบ้านเก่าของ 1 ใน 5 ตระกูลดั้งเดิมมาจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนเกาะหมาก และขนบนิยมท้องถิ่น ซึ่งคงเอกลักษณ์เฉพาะ ตลอดจน โบราณคดี และศิลปหัตถกรรม อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของกลุ่มชน

อีกหนึ่งกิจกรรมดีงามมองข้ามไม่ได้คือ ‘Trash Hero’ ผู้พิชิตขยะเกาะหมาก ทำกันสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยทุกวันเสาร์นักท่องเที่ยวทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ จะสมัครใจออกมาช่วยกันทำความสะอาดชายหาดด้วยการเก็บขยะ แยกขยะ ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป


23.พิพิธภัณฑ์เกาะหมาก.jpg
  • ธานินทร์ สุทธิธนกูล ขณะกำลังบรรยายประวัติความเป็นมาของครอบครัวผู้เข้ามาบุกเบิกชุมชนเกาะหมาก ณ พิพิธภัณฑ์เกาะหมาก


18.กิจกรรมเก็บขยะบนชายหาดTrash Hero.jpg
  • ยามบ่ายวันเสาร์ คนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว ใส่เสื้อสีเหลืองออกมาร่วมกันเก็บขยะบนชายหาด

เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ภายใต้ธรรมนูญ 8 ข้อส่งผลให้เกาะหมากปราศจากแสงวูบวาบ และเสียงอึกทึกครึกโครยามค่ำคืน ผู้คนจะเน้นดื่มเบียร์ จิบไวน์ และแลกเปลี่ยนบทสนทนากันชิลล์ๆ ท่ามกลางประกายระยิบระยับจากดวงดาว และความมืดอันกว้างใหญ่ไพศาลของผืนฟ้า เกาะหมาดจึงนับเป็นอีกหนึ่งเกาะเล็กๆ ที่เสน่ห์เหลือล้น น่าตื่นตาตื่นใจ ทำให้รู้สึกดี คนท้องถิ่นเป็นมิตร เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสุขสำราญกับความเนิบช้าอย่างมีคุณภาพ