ไม่พบผลการค้นหา
คณบดีเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต รับคนเรียนเศรษฐศาสตร์น้อยลง ย้ำคนเรียนน้อยในทุกสาขาวิชา เหตุมหาวิทยาลัยมีมากกว่าคนเข้าเรียน ชี้เศรษฐศาสตร์มีความสำคัญต่อการสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง 'อธิการบดี ม.หอการค้าไทย' ยืนยันไม่คิดยุบคณะเศรษฐศาสตร์ ชี้ศาสตร์นี้สำคัญต่อการทำธุรกิจ การวางแผนเศรษฐกิจประเทศ ตลาดแรงงานยังต้องการนักเศรษฐศาสตร์

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกระแสข่าวเรื่อง 'มหาวิทยาลัยเอกชนแห่ปิดสาขาเศรษฐศาสตร์' ว่า แนวโน้มเรื่องคนเรียนเศรษฐศาสตร์น้อยเกิดขึ้นทั่วโลก ส่วนกรณีประเทศไทย ไม่ใช่สาขาเศรษฐศาสตร์เท่านั้นที่คนเรียนน้อย แต่เกิดขึ้นกับศาสตร์ด้านสังคมศาสตร์หลายสาขา รวมถึงนิเทศศาสตร์ในบางมหาวิทยาลัยด้วย 


"สาเหตุหนึ่งอาจเพราะคนทั่วไปมองว่า เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ยาก เป็นวิชาการเกินไป จะว่าไปวิชาเศรษฐศาสตร์เหมือนวิชาปรัชญา ขณะที่โลกยุคใหม่ต้องการฝึกคนให้เป็นนักปฏิบัติ" ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว


อีกด้านหนึ่ง อาจเกิดจากกิจการอุดมศึกษาในประเทศไทยในปัจจุบันเกินอาการโอเวอร์ ซัพพลาย มีมหาวิทยาลัยเยอะเกินไป หลังจากเมื่อหลายปีก่อน มีการขยายมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นจนเกินพอดี ขณะที่มีคนเกิดน้อยลง คนเรียนน้อยลงในหลายสาขาวิชา ถึงเวลานี้จึงทำให้บางคณะ บางสาขาวิชา ในหลายมหาวิทยาลัยขาดคนเรียน 

ยกตัวอย่าง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก่อตั้งเมื่อปี 2542 เป็นคณะรุ่นหลังของมหาวิทยาลัย และในปีแรกๆ มีคนเรียนเพียง 1 คน ต่อมา เพิ่มเป็น 60-80 คนต่อรุ่น แต่มาปัจจุบันลดลงเหลือ 30-40 คนต่อรุ่น แต่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตไม่ใช่คณะใหญ่ และที่ผ่านมา ไม่ได้เน้นปริมาณ แต่ต้องการเน้นคุณภาพของผู้จบการศึกษา เพราะเมืองไทยยังขาดแคลนนักเศรษฐศาสตร์ ในยุคหนึ่งสภาวิจัยแห่งชาติมีนักเศรษฐศาสตร์ ไม่เพียงพอกับการทำงานวิจัยด้วยซ้ำ


"ส่วนตัวแล้ว ผมต้องการสร้างคนที่มีคุณภาพ เป็น exclusive ดังนั้นจึงไม่ได้ใส่ใจเรื่องปริมาณนักศึกษาที่มีน้อย เพราะศาสตร์ด้านนี้เป็นศาสตร์ที่ไม่ต้องเน้นปริมาณ แต่ต้องมีคุณภาพ เราต้องการสร้างผู้นำ สร้างคนที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ในฐานะมหาวิทยาลัยเอกชน เราก็ต้องมีจำนวนนักศึกษาที่เพียงพอกับการบริหารจัดการกิจการมหาวิทยาลัยด้วย" ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว


ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่จะได้ข่าวว่า มีบางมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ยุบคณะเศรษฐศาสตร์แล้วนำไปรวมเป็นสำนักวิชา ภาควิชา

ขณะที่ รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ข่าวสารที่เผยแพร่ออกไปในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ระบุว่าสาขาเศรษฐศาสตร์รอวันตาย เพราะมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งต้องยุบคณะนั้น ขอยืนยันว่า คำกล่าวดังกล่าวมีความตั้งใจจะปลุกสังคมและกระตุ้นให้มีคนสนใจเรียนสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์มากขึ้น และยืนยันว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยไม่มีความคิดจะยุบคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะเก่าแก่ของมหาวิทยาลัย

"เศรษฐศาสตร์อาจเรียนยากหน่อย แล้วคนทั่วไปอาจไม่ทราบว่า เรียนแล้วจะเอาไปทำอะไร แต่สิ่งสำคัญของสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์คือ การสร้างบุคลากรเพื่อการวางแผนด้านเศรษฐกิจ วิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นศาสตร์แห่งการตัดสินใจ ซึ่่งมีความจำเป็นมากสำหรับคนทำธุรกิจ ว่าคุณจะวางแผนการขาย วางแผนกิจการ การตั้งราคา เข้าใจเรื่องเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร ซึ่งในอนาคต เราจะยิ่งขาดแคลนนักเศรษฐศาสตร์และคนที่เรียนวันนี้ จะเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต" รศ.ดร.เสาวณีย์ กล่าว

แม้ว่าที่ผ่านมา จำนวนนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะลดลงจากยุคแรกๆ ที่มี 700 กว่าคนต่อรุ่น ลดลงมาเหลือ 200 คน 100 คน และปัจจุบันมีเพียง 60 คนก็ตาม แต่ยังยืนยันว่า ศาสตร์ด้านนี้ยังมีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะการพัฒนาด้านเศรษฐกิจก็ยังต้องใช้นักเศรษฐศาสตร์

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ต้องปรับตัว ปรับหลักสูตรให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ยกตัวอย่าง สาขาวิชาที่เป็น pure science มากๆ เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยหอการค้า ก็ยังต้องเกลี่ยเข้าไปอยู่ในสาขาวิชาอื่นๆ ที่เป็นบูรณาการ เช่น วิศวกรรมการเงิน คณิตศาสตร์ประกันภัย ในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :