การแข่งขันจักรยานทางไกลรายการ Audax Randonneurs Thailand หรือ รายการออแดกซ์ ระยะทางรวมกว่า 1,000 กิโลเมตร เส้นทาง สุวรรณภูมิ-ตราด ได้เกิดเหตุสลดขึ้น เมื่อ Russal Repres นักปั่นจักรยานชาวฟิลิปปินส์ ถูกรถตู้ ซึ่งฝ่าไฟแดงพุ่งเข้าชนจนเสียชีวิต ที่ระยะ 959 ของเส้นทาง บริเวณแยกหัวเนิน จาก ฉช.3005 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวง 314 ถนนสิริโสธร จ.ฉะเชิงเทรา
เมื่อเวลา 1.30 น. ของวันที่ 23 ต.ค.ระหว่างทางแยกที่มีไฟส่องสว่างชัดเจน Russal วัย 55 ปี เลี้ยวขวาตามสัญญาณ ก่อนถูกรถตู้ที่ฝ่าสัญญาณไฟจราจรมาจากอีกฝั่ง พุ่งเข้าชน และเสียชีวิตระหว่างรถกู้ภัยนำส่งโรงพยาบาลบ้านโพธิ์ ส่วนรถตู้คู่กรณีได้ขับหลบหนีไป ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการตรวจสอบกล้องวงจรปิด เพื่อรวบรวมหลักฐานตามจับกุม
เพจเฟซบุ๊ก Audax Randonneurs Thailand ระบุว่า Russal Repres มีประสบการณ์ร่วมกับกิจกรรม Audax ในประเทศฟิลิปปินส์ โดยเดินทางมายังประเทศไทยกับครอบครัว และเพื่อนชาวฟิลิปปินส์อีก 2 ท่าน เพื่อร่วมกิจกรรม 1,000 BRM สุวรรณภูมิ-ตราดนี้ โดยมีการเตรียมความพร้อมถูกต้องตามเกณฑ์ และมาตรฐานปฏิบัติด้านความปลอดภัย ที่ผู้จัดได้ตรวจสอบแล้วอย่างเคร่งครัด
ภาณุวุฒิ วราภักดิ์ อายุ 31 ปี นักปั่นชาวไทยผู้มีประสบการณ์ในการแข่งขัน Audax บอก 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า Audax เป็นรายการที่เน้นความแข็งแรงของร่างกาย ไม่มีการจัดอันดับผู้ชนะเป็นตัวเลข มีเพียงเวลากำหนด โดยมีการกำชับให้ผู้เข้าแข่งขันทุกคนต้องเตรียมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยให้กับตัวเอง เนื่องจากไม่มีรถนำขบวนและตามประกบ มีเพียงรถกู้ภัยปิดท้ายขบวนเท่านั้น
“แต่ละจุดเช็คพอยท์ บางรายการจะตัดสิทธินักแข่งทันที หากพบว่าไม่มีอุปกรณ์เสริมความปลอดภัยให้กับตัวเอง เช่น ไฟท้าย เสื้อสะท้อนแสง เรื่องพวกนี้ซีเรียสมาก”
รูปแบบการแข่งขันของ Audax ผู้เข้าแข่งขันจะวิ่งไปตามแผนที่ที่ผู้จัดได้สำรวจไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะพยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางหลัก และมีการกำชับถึงความปลอดภัย พร้อมชี้แจงกฎระเบียบจราจรของแต่ละประเทศที่เข้าแข่งขัน
ภาณุวุฒิ ที่เคยเข้าร่วมแข่งขันรายการ Audax ที่ประเทศเยอรมนีบอกว่า ความเสี่ยงอันตรายของ Audax แตกต่างกันไปตามเส้นทาง กฎระเบียบ รวมไปถึงความมีวินัยและการเคารพกฎหมายของผู้คนในแต่ละเมือง
"นักปั่นต่างชาติหลายคนไม่ทราบกฎระเบียบหรือวัฒนธรรมการขับขี่รถยนต์ในเมืองไทย เป็นความเสี่ยงที่ทำให้พวกเขาประสบอุบัติเหตุ อย่างผมเองถ้าปั่นในเมืองไทยแม้จะมีความคุ้นเคยระดับหนึ่ง แต่ก็คิดไว้เสมอว่า อย่าประมาท อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาสำหรับบ้านเรา"
"ผิดกับเมืองนอกที่รถยนต์ส่วนใหญ่จะให้ความเคารพกับจักรยาน และมีโทษที่รุนแรงกว่าหากทำผิดกฎหมาย" ภาณุวุฒิ บอกเล่า
(ภาพจากเฟซบุ๊ก คม ครยก)
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เปิดเผยว่า สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเมืองไทย เฉลี่ยแล้วร้อยละ 73 เป็นผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ร้อยละ 8 เป็นกลุ่มคนเดินเท้าร้อยละ 3 เป็นกลุ่มจักรยาน และที่เหลือเป็นกลุ่มรถยนต์
ในอดีตการเสียชีวิตจากจักรยานจะอยู่ในกลุ่มผู้ใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น แม่บ้านไปจ่ายตลาด ส่งลูกไปโรงเรียน เป็นต้น แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการเสียชีวิตของผู้ใช้จักรยานขยับไปอยู่ในกลุ่มของจักรยานเพื่อสุขภาพ กลุ่มนักท่องเที่ยวและการแข่งขันมากขึ้น
เขาชี้ว่าการเสียชีวิตของนักปั่นจักรยานล่าสุดอาจสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสำคัญบริเวณทางแยกในประเทศไทย คือการตีความและมองไฟเหลืองเป็นสัญญาณที่ต้องเร่งทำความเร็วแทนที่หยุดรถ
“ไฟเขียวอย่าเพิ่งรีบออกนะ รอสักแป๊บเพราะพฤติกรรมคนไทยมีโอกาสสูงที่ไม่หยุดให้กับไฟเหลือง ชาวต่างชาติที่ไม่คุ้นต่อเรื่องนี้ อาจเจออุบัติเหตุได้” นพ.ธนะพงศ์กล่าว
ด้าน จำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันการเดินและการจักรยานไทย เห็นว่า การบริหารจัดการและให้ความรู้กับผู้เข้าเเข่งขันถือเป็นสิ่งสำคัญ พร้อมกับต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่ที่จักรยานเคลื่อนผ่านรับทราบด้วย
"การจัดการเเข่งขันควรแจ้งกับตำรวจ ประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ในพื้นที่ เขาจะได้เกิดความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น" จำรูญให้คำแนะนำสำหรับการป้องกันเหตุร้ายในอนาคต
ทั้่งนี้ในเพจของ Audax Randonneurs Thailand มีเหล่านักปั่นจำนวนมากได้เรียกร้องให้ผู้ใช้รถมีจิตสำนึกเเละเคารพกฎหมาย ขณะที่บางส่วนฝากไปถึงกรมการขนส่งทางบก ให้เข้มงวดในการออกใบอนุญาตขับขี่ พร้อมกับเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตามจับผู้ขับรถตู้ให้ได้โดยเร็ว