3 พ.ค.2567 ในงาน ‘10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ ของพรรคเพื่อไทย งานแสดงวิสัยทัศน์ และความคืบหน้าในนโยบายต่างๆ พร้อมประกาศเป้าหมายการทำงานในอนาคต นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเคยเสนอแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมครั้งใหญ่ทั้งประเทศ หรือ Thailand 2020 แต่มีอุปสรรคขัดขวางให้ไม่สามารถดำเนินการได้ วันนี้ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งของอาเซียน ( Logistic Hub ) และเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญของเอเชีย ด้วยการ
1.เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟรางคู่ทุกเส้นทาง เชื่อมต่อเหนือ-กลาง-อีสาน-ใต้ ในระยะที่ 1 จะสำเร็จราว 600 กิโลเมตร ในช่วงสิ้นปีนี้และเริ่มดำเนินการระยะที่ 2 พร้อมกับการสร้างเส้นทางใหม่อีก 2 เส้นทางไปพร้อมกัน เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางรางคู่จากศูนย์กลางเมืองหลวง สู่ 8 จังหวัดปลายทางในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ เชียงใหม่-เชียงราย-หนองคาย-มุกดาหาร-นครพนม-อุบลราชธานี-ชลบุรี-สตูล เพิ่มความเร็วและความปลอดภัยในการเดินรถ ลดระยะเวลาทุกเส้นทางได้ราว 30% และเตรียมบอกลา รถไฟร้อน เพราะรัฐบาลกำลังศึกษา เพื่อยกเครื่องรถไฟชั้น 3 ปรับที่นั่งโดยสาร ติดตั้งระบบปรับอากาศทุกขบวน เริ่มทันทีในปี 2568 ให้การสัญจรทางไกลเปลี่ยนมาใช้รางแทนรถยนต์
2.เดินหน้ารถไฟความเร็วสูง กทม-เวียงจันทน์ เชื่อมต่อจีน เต็มกำลังพร้อมปรับแผน จะทยอยค่อยๆสร้างจากกรุงเทพไปจนถึงเวียนจันทน์แต่เราจะเร่งเจรจาเพื่อสร้างสะพานเชื่อมจากเวียงจันทน์มาหนองคาย ให้เร็วที่สุด
3. เร่งเปิด “ประตูมังกรหนองคาย” เปลี่ยนเป็นประตูสินค้าขนาดใหญ่ แล้วเชื่อมด้วยรถไฟรางคู่ยาวไปจรดอ่าวไทย สู่ระบบเรือ ที่ “ท่าเรือแหลมฉบัง” โดยปัจจุบันได้พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ขยายศักยภาพรองรับจาก 11ล้านตู้ เป็น 18 ล้านตู้ / ปี ภายในปี 2570 ซึ่งจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่บนพื้นที่ EEC อย่างแน่นอน
4.พัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่ภาคใต้ หรือ SECควบคู่ไปกับโครงการ landbridge ที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนครั้งใหญ่ลงพื้นที่พัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนใต้ พัฒนาเศรษฐกิจให้คนทั้งประเทศ สร้างการเชื่อมโยงการขนส่งจาก “ประตูท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่” ทั้ง 3 แห่งของไทย ชุมพร-ระนอง-แหลมฉบัง เพื่อเปลี่ยนแปลงการขนส่งทั้งภูมิภาค ให้ไทยเป็นศูนย์กลางได้จริง
5.จากการที่นายกรัฐมนตรี ประกาศให้ไทยเป็น Aviation Hub หรือศูนย์กลางการบินของภูมิภาค เร่งเดินหน้าขยายศักยภาพ และพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการ สนามบินนานาชาติ หลักทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต ขยายการรองรับจาก 110 ล้าน เป็น 150 ล้านคน ในปี 2573 พร้อมเร่งศึกษาสนามบินล้านนา และสนามบินอันดามัน เพื่อขยายศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวต่อเนื่อง และกระจายต่อผ่านระบบรางที่มีความพร้อมสู่เมืองรองหรือผ่านทางสนามบินภูมิภาคอื่นๆ
“ทั้งหมดนี้ คือการเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ในระยะเวลา 10 เดือน ที่เราได้เริ่มเดินหน้าแล้ว สู่การเป็น Logistic Hub ประเทศไทยต้อง “เปิดประตูทุกบาน”เพื่อปรับปรุงโครงสร้างการ “ขนส่งของ-ขนส่งคน” ไม่ใช่แค่ทาง “รถ” แต่เชื่อมโยงสู่ระบบ ราง - เรือ - และ รันเวย์ด้วย” นายชนินทร์ กล่าว