ไม่พบผลการค้นหา
เปิดประตูห้องทำงาน ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) วัย 56 ปี ผู้คว้าชัยจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2565 ด้วยคะแนนแลนด์สไลด์ทุกเขตทั่วกรุงเทพฯ โดยได้รับความไว้วางใจจากประชาชนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,386,215 คะแนน

‘วอยซ์’ บุกถึงห้องทำงานผู้ว่าฯ กทม. ภายในศาลาว่าการ กทม. 2 ดินแดง เพื่อสัมภาษณ์พิเศษกับ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ จากอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “ผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” สู่ผู้นำมหานครคนที่ 17 ของประเทศผ่าน #VoicePolitics ตั้งแต่แนวคิดในการทำงาน ครอบครัว จนถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิต

ชัชชาติ VoicePolitics  ปกสัมภาษณ์เฟซบุ๊ก 93F92551321.jpeg
  • ผ่านมากว่าเกือบครึ่งปี การทำงานในฐานะผู้ว่าฯ กทม. เป็นอย่างไรบ้าง

ก็ยังมีความสุข สนุก ตื่นเต้น มีเรื่องให้ท้าทาย ยังอยากตื่นขึ้นมาทำงานทุกเช้า มันก็ยังมีหลายอย่างให้ต้องทำอยู่ แต่งานทั่วไปก็เดินไปได้ค่อนข้างดี เหมือนกับเราเตรียมตัวมา 20 ปี เพื่อวันนี้ ที่ออกกำลังกาย ที่อะไรแบบนี้ รู้สึกว่ามันฟิตดี แต่จริงๆแล้ว เราก็ทำงานอย่างนี้มาตลอด เผอิญสมัยก่อนไม่มีไลฟ์ เลยอาจจะไม่ได้เห็น แต่ชีวิตผมก็แบบนี้แหละ ตื่นเช้า ทำงาน กลับบ้าน นอน ชีวิตเป็นรูปแบบเป็นประจำแบบนี้ ไม่ได้แตกต่างจากทั่วไปมาก

  • ปัจจัยที่ทำให้ได้เป็นผู้ว่าฯ แลนด์สไลด์ 1.3 ล้านเสียง

คงมีหลายปัจจัย ทั้งเรื่องการสื่อสาร นโยบาย คนอาจจะเริ่มเบื่อเรื่องความขัดแย้ง คืออย่างผมเนี่ยเป็นคนที่ไม่ค่อยด่าใคร รู้สึกไหม ไม่ใช่อะไร กลัวกรรมสนอง (หัวเราะ) สมมติว่าเราอยากจะเอาชนะใจใคร ถ้าเราไปด่าเขา สิ่งแรกที่ทำคือเขาต้องตั้งการ์ดกันแล้ว แต่มันต้องเริ่มจากจุดที่มันไปด้วยกันได้ หาจุดร่วมกันก่อน แล้วค่อยไปคุยถึงจุดต่าง โซเชียลมีเดียเองก็ช่วยให้เราเข้าถึงคนได้มากขึ้นด้วย 

  • ส่งไม้ต่อ “เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”

ในอนาคต อยากจะเห็นคนรุ่นใหม่มามีส่วนร่วมในการคิดคำตอบของเมืองมากขึ้น ที่ผ่านมา กทม. มันหมือนกับว่าอยู่ในมือของคนสูงอายุ คือข้าราชการ ถ้าเป็นระดับชั้นผู้ใหญ่ก็เป็นคนใกล้เกษียณซะส่วนใหญ่ คนที่กำหนดนโยบายต่างๆ แต่เด็กซึ่งคือหัวใจของเมือง อนาคตเขาต้องมาใช้เมือง ต้องเป็นคนหารายได้เลี้ยงเมือง กลับไม่ค่อยมีส่วนในการตัดสินใจ หมายความว่า เมืองที่จะพร้อมสำหรับอนาคต ต้องเอาเด็กรุ่นใหม่ที่มีไอเดียมาร่วม สุดท้ายมันจะเป็นการส่งไม้ต่อที่ราบรื่น และเราได้ส่งเมืองที่มีคุณภาพให้เขา

  • ความแตกต่างระหว่าง ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ กับ ‘รมว.คมนาคม’

ต่างกัน เพราะรัฐมนตรีคมนาคม มันเน้นอย่างเดียวก็คือเรื่องการเดินทาง ไม่ได้คำนึงเรื่องคุณภาพชีวิตคนมาก หน้าที่เราก็จะสร้างรถไฟอะไรแบบนี้ แต่ผู้ว่าฯ กทม. งานมันกว้างกว่าเยอะ งานมันครบทุกมิติของชีวิต บริบทมันจะต้องคิดให้ครอบคลุม การแบ่งจัดสรรงบประมาณต่างๆ มันไม่ได้มีแต่เรื่องเมกะโปรเจกต์ มันก็จะมีเรื่องเส้นเลือดฝอยด้วย ตอนอยู่คมนาคมเราจะใส่แว่นตาของวิศวกรเป็นหลัก แต่พอมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องใส่เลนส์หลากหลายสีมากเลย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นงานที่ท้าทาย

  • ชอบบทบาทไหนมากกว่า

ผู้ว่าฯ กทม. (ยิ้ม) ผมว่าความชอบของผม คืออยากเห็นคนมีชีวิตที่ดีขึ้น นิดนึงก็ยังดี ประชาชนไม่ได้ต้องการอะไรที่หรูหรานะ คือขอให้เก็บขยะตรงเวลาขึ้น ให้น้ำที่ท่วมลดเร็วขึ้น ให้โรงเรียนมีคุณภาพหน่อย ให้อาหารกลางวันเด็กดีขึ้น ผมว่าเรื่องพวกนี้ แค่นิดหน่อย พวกเขาก็มีความสุขขึ้นแล้ว มันอยู่ในอำนาจที่เราทำได้

ชัชชาติ_Voice_011.jpg
  • ปัญหา กทม. ที่เจอ ยากกว่าที่คิดไว้หรือไม่

ไม่ได้ยากหรอก ส่วนใหญ่ปัญหาเราก็เห็นๆกันอยู่แล้ว แต่เวลาทำงานจริง มันก็อาจจะมีปัญหาบ้าง บางทีเราก็อาจจะนึกไม่ถึง เช่น กระสอบทรายอุดท่อระบายน้ำ เรารู้ว่าปัญหามันคือเส้นเลือดฝอยที่ต้องดูแลให้ดี ให้น้ำออกจากซอยได้ แต่บางทีก็มีปัญหาน้ำย้อนไปย้อนมา ต้องอุด อุดแล้วไม่ได้เอาออก ปัญหาการอธิบายให้คนเข้าใจ มันก็มีในเรื่องรายละเอียดที่อาจจะแตกต่างไปบ้าง แต่ในภาพรวม ผมคิดว่าก็คล้ายๆกับที่เราทำการบ้านมา

แต่สิ่งที่ดีกว่าที่คาดเยอะเลย คือ เรื่องคน ที่ผ่านมามีคนขู่เยอะเลยว่า โอ๊ย ข้าราชการกทม. เคี่ยว ยาก” แต่เข้ามาแล้วไม่จริงนะ ผมว่าทุกคนขยันขันแข็งทำงานกันเต็มที่เลย เหมือนกับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คนเก่งๆเยอะมาก ไม่ใช่เฉพาะระดับผู้บริหารนะ ระดับคนกวาดถนน คนเก็บขยะ ผมว่าทุกคนก็มีความตั้งใจทำงานจริงๆ ก็ขอบคุณทีมงานมาก คนเหล่านี้ทำให้เรามีกำลังใจเดินเต็มที่ต่อไป เพราะเขาเองก็ยังเดินข้างเราตลอด 

  • ช่วยอธิบายคำว่า ผู้นำที่ไม่ได้นั่งบนหอคอยงาช้าง

มันต้องเริ่มจากคำว่า “Empathy” คือเข้าใจจิตใจ เข้าใจชีวิต ว่าเขาอยู่ยังไง ถ้าเกิดเราไม่เข้าใจปัญหาของคน บางทีมันทำให้รู้สึกเหมือนไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน มันเหมือนเราต้องเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ ในบริบทด้วย ผมว่า กทม. เราจะแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่เราอยู่ในห้องนี้หรอก แต่ต้องอยู่ในพื้นที่ เข้าไปเข้าใจปัญหา เพราะฉะนั้น เราจะเห็นปัญหา ก็ลองคิดหาทางออกต่างๆ 

เราเป็นผู้นำ เราอาจจะไม่รู้ทุกอย่างหรอก แต่สิ่งที่เราใช้เยอะ คือ เราต้องนำโดยการทำเป็นตัวอย่าง ถ้าเราอยากจะให้เขาขยัน เราต้องขยันกว่าเขา 10 เท่า เราอยากจะให้เขามีความรู้หลากหลาย เราก็ต้องมีความรู้ หาความรู้อ่าน ถ้าเกิดเราบอกว่าให้ดูแลประชาชน แต่น้ำท่วมไม่เคยลงไปดูเขาเลย แล้วเราบอกว่า “โอ๊ย เป็นผู้บริหาร ไม่ต้องดู ดูแต่ยุทธศาสตร์” สุดท้ายมันเอาชนะใจเพื่อนร่วมงานไม่ได้ เราบอกให้เขาโปร่งใส ไม่รับส่วยไม่รับเส้น แต่ถึงเวลาปุ๊บ เราก็ทำตัวไม่ดีเอง สุดท้ายผู้นำก็ต้องทำให้เป็นตัวอย่าง ทำตามที่พูด

ชัชชาติ_VoicePolitics_026.jpg
  • ไร้เงา ‘การเมือง’ วันข้างหน้าเพื่อประชาชน 

อีกหนึ่งสิ่งที่ยากกับการทำผู้ว่าฯ กทม. คือ การเมือง คนพยายามโยงเราเข้าไปอยู่กลุ่มการเมือง เรามาอยู่ตรงนี้ เราเป็นอิสระ เราอยากจะทำผู้ว่าฯ กทม. ให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นเราต้องรับใช้ทุกคนเหมือนกัน ซึ่งมันปฏิเสธไม่ได้หรอก เพราะเราก็โตมาจากการเมือง เรามาจากพรรคเพื่อไทย เราก็ได้เป็นรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ถ้าไม่มีวันนั้น เราก็ไม่มีวันนี้หรอก แต่นาทีนี้ หน้าที่หลักของเราคือดูแลประชาชนเท่าเทียมกัน 

พอพูดว่าการเมือง บทบาทเราจริงๆ ไม่ได้มีความทะเยอทะยานกับการเมืองใหญ่ เราไม่ได้ฝักใฝ่เรื่องการเมือง แต่ก็จะมีคนพยายามดึงเราเป็นพวกนู้นพวกนี้ เขาคงกลัวเรื่องอนาคตทางการเมืองของเรา แต่บอกตรงนี้ เราไม่ได้คิดอะไรเลย เราอยากจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด ถามว่าทำให้ดีที่สุดอย่างไร ผมเชื่อว่าเรื่องดูแลทุกคนเท่าเทียมกัน พยายามไม่ให้เกิดความขัดแย้ง อันนี้จะทำให้เกิดแนวร่วม อย่างที่ผมบอกว่าแนวร่วมสำคัญ ถูกไหม แต่พอคนพยายามดึงเราไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปุ๊บ มันทำให้การเกิดแนวร่วมลำบากขึ้น 

ชัชชาติ VoicePolitics  3152DE7EFF90.jpeg
  • แต่ก็ไม่ปิดประตูตายสนามการเมืองใหญ่ 

ไม่ปิดประตูตายอยู่แล้ว เพราะว่าอย่างที่บอก จะไปพูดมัดตัวเองทำไม แต่ความสุขผมก็ตรงนี้แหละ อยู่กับตำแหน่งนี้ บางทีเราก็เบื่อความขัดแย้งในหลายๆเรื่อง ที่เราก็ไม่ได้เก่งในเรื่องนั้น แล้วเราก็ไม่ได้มีความสุขกับการเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีอะไรอย่างนี้ เพราะเราไม่ได้ชอบบทบาท แต่ตำแหน่งนี้เราสามารถดูแลคนได้เยอะ แต่ทุกเรื่องมันก็ไม่มีอะไรตายตัวหรอก ทุกอย่างมันก็แล้วแต่อนาคต มันก็มีคนชวนนะ “ตั้งพรรคสิๆ” อะไรแบบนี้ ขนาดเราอยู่อิสระ คนยังตีเรา พยายามดึงเราไปฝั่งนู้นฝั่งนี้ มันยิ่งทำให้การทำงานในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ยากขึ้น

ชัชชาติ_VoicePolitics_005.jpg
  • ‘ประชาธิปไตย’ ฟื้นความเชื่อมั่น

ผมว่า 10 ปีที่ผ่านมา หลายคนเริ่มหมดหวัง เขาอาจจะคิดว่าระบอบประชาธิปไตย มันไม่สามารถสร้างคำตอบให้กับเขาได้ ผมว่านี่คือหน้าที่ของนักการเมืองที่ยิ่งใหญ่กว่าหน้าที่บริหารเมืองด้วย คือทำอย่างไรที่จะสร้างศรัทธากลับคืนมาให้กับระบอบประชาธิปไตย คือเราไม่ได้พูดว่าเราเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่เราจะทำอย่างไรให้ระบอบประชาธิปไตยสามารถดึงความหวัง ความเชื่อมั่นกลับมาได้ นี่คือสิ่งที่สำคัญเลย เพราะถ้าเกิดเราไม่สามารถสร้างความศรัทธาตรงนี้ได้ สุดท้ายมันจะไปไม่รอด

วันนั้น ที่ผมพูดกับสภา กทม. ผมบอกว่า จริงๆแล้วหน้าที่เรามันมากกว่าบริหารเมือง เราต้องทำให้เห็นเลยว่า การเลือกตั้งมันยังทำให้เกิดคำตอบที่ดีได้ คำตอบที่โปร่งใส ที่เป็นความหวังให้กับประชาชนได้ ถ้าทำสำเร็จ คนจะเชื่อมั่น อย่างน้อยเรามาเป็นผู้ว่าฯ กทม. หลายจังหวัดก็เริ่มอยากเลือกตั้งผู้ว่าฯบ้าง เห็นประโยชน์ของการเลือกตั้ง เห็นประโยชน์ของระบอบประชาธิปไตยที่มันกระจายอำนาจไป หาคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้

ชัชชาติ VoicePolitics  6-0B13320EDFE6.jpeg
  • ในคดีโครงการสร้างอนาคตไทย 2020 ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ตุลาการศาลรธน.บอกว่า “รอให้ถนนลูกรังหมดก่อน หากจะคิดทำรถไฟความเร็วสูง”

วินาทีนั้น ความจริงเราก็ศึกษามาเยอะนะ แล้วถนนลูกรังก็เป็นเครื่องแสดงความเจริญของประเทศ ประเทศมันต้องมีถนนลูกรังไปก่อนในพื้นที่ที่มันขาดแคลน แล้วค่อยๆปรับเป็นถนนลาดยาง ถนนคอนกรีตไป ถ้าประเทศไหนไม่มีถนนลูกรังแสดงว่ามันหยุดการเจริญแล้ว ก็คิดในใจนะ แต่เราก็ไม่พูดอะไรหรอก ไม่โกรธหรอก ผมเชื่อว่า ทุกคนทำอะไร ทุกคนมีเหตุผลของตัวเองทั้งนั้นแหละ ทุกคนก็ทำตามหน้าที่

  • ไม่เสียดายเหรอ

คือชีวิตต้องมองไปข้างหน้า ถูกไหม ถ้ามองไปข้างหลัง มันก็มีเรื่องให้เสียดายเยอะแยะ ไม่เป็นไรหรอก ก็มองไปข้างหน้า ทำในสิ่งที่ทำได้ มันเป็นเรื่องในอดีต ก็เอามาเป็นบทเรียนเฉยๆ อย่าไปเสียดายมัน เพราะถ้ามัวแต่ไปเสียดายเรื่องในอดีต ชีวิตก็ไม่ได้เดินหน้าสักอย่าง วันนั้นที่ศาลรัฐธรรมนูญ ไอ้ประโยคนี้ไม่เท่าไหร่ เรื่องถนนลูกรัง แต่ที่บอกว่าผมตายไปแล้ว ก็ยังใช้หนี้ไม่หมด จำได้ไหม คือหนี้มันยาวมาก ผมบอกว่า ผมแข็งแรง ผมจะอยู่จนใช้หนี้บาทสุดท้าย (หัวเราะ) 

ชัชชาติ_Voice_013.jpg
  • สมัยเป็น รมว.คมนาคมต้องเจอกับการรัฐประหารต่อหน้า ขณะนี้ยังมีมุมมองต่อ ‘รัฐประหาร’ อย่างไร

ผมว่าการรัฐประหาร มันคือการทำให้เราไม่อดทน ทุกๆครั้งเราหวังว่าจะมีอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามาแก้ปัญหาให้เรา เราไม่อดทนให้ระบบมันแก้ปัญหาตัวเอง สุดท้ายแล้วเราก้จะเสพติดอย่างนี้แหละ ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ของสหรัฐฯ เคยพูดไว้ว่า “ถ้าประชาชนอยากจะเอาก้นไปแหย่ไฟ ก็ต้องให้ก้นมันไหม้บ้าง” หมายความว่า ถ้าประชาชนจะเลือกคนไม่ดีมาเป็นนักการเมือง สุดท้ายก็ต้องยอมรับผล คือปล่อยไปตามระบบไง แต่อย่ามาปฏวัติอะไรแบบนี้ สุดท้ายมันก็ไม่มีการเรียนรู้ ทำให้คนไม่เชื่อมั่นในระบบ ผมคิดอย่างนั้น มันเหมือนกับว่า ทุกอย่างมาถึงก็ตัดตอน เริ่มใหม่ ถ้าเกิดมันดีจริง ป่านนี้เราคงเป็นมหาอำนาจไปแล้ว ก็มันปฏิวัติมากี่หนแล้วละ คือถ้าอดทน ผมคิดว่าระบบมันจะพัฒนาตัวเองได้

  • แต่เป็นผู้ว่าฯ กทม.ต้องทำงานร่วมกับ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้า คสช.

ก็ต้องทำตามหน้าที่ เรารู้อยู่แล้วว่าต้องมาทำงานกับรัฐบาลที่อยู่ มันก็เป็นเงื่อนไขที่ต้องทำไป แต่เราก็ไม่ได้อ่อนนะ คือ เอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง อันไหนที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เราก็ทำ อันไหนที่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน เราก็ไม่เห็นด้วย เราจะไปยืนแข็งว่า เขาเคยปฏิวัติมา เราไม่ทำงานร่วมกับเขา ไม่ได้หรอก ถ้าอย่างนั้นประชาชนเสียประโยชน์

เผชิญหน้าการยึดอำนาจปี 2557 

ถามว่าเป็นความพ่ายแพ้ของตัวเองเหรอ ไม่มีหรอก เราไม่ได้มีอีโก้อะไรของตัวเอง แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นกับระบบของประเทศมากกว่า ตอนนั้นมันก็จะเลือกตั้งอยู่แล้ว มันเหมือนกับเราก็ยุบสภาฯไปแล้ว ตอนนั้นเราก็ไม่ได้มีอำนาจอะไรแล้ว พร้อมจะไปอยู่แล้ว แต่เสียดายในแง่ของประเทศที่มันต้องย้อนกลับไป ในตอนนั้น ถ้าพูดจริงๆ ก็เป็นห่วงครอบครัว เพราะเขาไม่รู้ว่าเราโดนอะไร เขาจะรู้ไหม แสนดี สิทธิพันธุ์ ลูกชาย จะรู้ไหม แต่ไม่เห็นเป็นห่วงเลย (หัวเราะ) เขาคงยังไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก ยังเด็กๆอยู่ไง เขายังไม่เข้าใจหรอกปฏิวัติคืออะไร

‘ลูก’ เป็นศูนย์กลางจักรวาล

ลูกก็ยังเป็นลูกเราตลอดชีวิตนะ บางทีเราตามใจลูกเยอะ ก็เป็นห่วงเขา ก็ไม่มีใครแล้ว ชีวิตเราก็มีแค่นี้แหละ ผมบอกแล้วไง ลูกผมเป็นเหมือนศูนย์กลางจักรวาล แล้วผมก็โคจรรอบลูก แต่ก็ดีนะ มันทำให้ชีวิตผมโฟกัสขึ้น คือเราไม่ต้องมีอะไรมาก ก็เน้นเรื่องลูกเป็นหลัก

ชัชชาติ VoicePolitics -E164-424E-8153-BF006382CC8A.jpegชัชชาติ_VoicePolitics_007.jpg
  • ‘พ่อ-แม่’ คือ ไอดอลในการใช้ชีวิต 

พ่อผมก็เป็นคนที่เราได้บทบาทมาเยอะ ในแง่ของการตั้งใจทำงาน ความโปร่งใส ถ้าคุณแม่ก็เป็นเรื่องระเบียบวินัย การเลี้ยงลูก สองคนก็เป็นไอดอลสำคัญเลย แต่คนละบทบาทกัน คุณพ่อก็เป็นคนที่ทำงานดี แล้วก็ชื่อเสียงดี คือคนไว้ใจ ที่ผ่านมาก็ไม่มีใครเคยพูดไม่ดี เราก็ได้เครดิตจากท่านมาเยอะ คุณแม่ก็อย่างที่บอก มีระเบียบวินัย ซึ่งผมได้มาน้อยมากเลยนะ แล้วก็เรื่องการเอาใจใส่ ให้ความสำคัญกับการเรียน 

  • ทำงานเยอะแล้ว หาความสุขให้ตัวเองบ้างไหม

ความสุขอย่างน้อยมันก็มีทุกวันในชีวิต ออกไปวิ่งก็มีความสุขนะ เพราะความสุขมันอยู่ในรายละเอียดในแต่ละวัน เพราะฉะนั้น ความสุขก็ไม่ได้ต้องใหญ่มาก สมมติไปดูน้ำท่วม ถ้าน้ำลดก็จะมีความสุขแล้ว หาความสุขจากในแต่ละวัน ไม่ต้องเป็นความสุขใหญ่มากหรอก เพราะถ้าเป็นความสุขใหญ่ปุ๊บ ก็ต้องไปหาความสุขใหญ่อีกอันถัดไป ผมว่าหาความสุขเล็กๆในชีวิต มันก็ไปได้ 

ชีวิตเรามันก็ค่อนข้างเป็นเด็กเรียนไง เด็กเรียนก็อ่านหนังสือ แต่ไม่ใช่ว่าเราเครียด เราก็มีความสุขนะ กลับไปบ้าน อ่านหนังสือ ดูอะไร มันก็เป็นความสุขของเราอย่างหนึ่ง เรื่องกินก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผ่อนคลายได้ ก็จะคุยกับแสนดี ไปกินที่ไหนดี มีร้านโปรด ร้านเกาหลี ร้านบุฟเฟต์ ร้านอูด้ง ร้านทงคัตสึ อะไรแบบนี้  

ชัชชาติ VoicePolitics -6DA5-42E4-B796-0C1DF4ACC6B4.jpeg
  • อนาคตหลังหมดวาระผู้ว่าฯ 4 ปี

อาทิตย์หน้ายังไม่รู้เลยจะเกิดอะไรขึ้น คือชีวิตผมมันก็ไม่ได้แพลนอะไรยาวนะ แล้วโลกสมัยนี้เปลี่ยนไป เขาบอกว่าโลกตอนนี้ คุณไม่ต้องมีแผนที่หรอก คุณมีเข็มทิศพอ เข็มทิศสำคัญกว่าแผนที่ เพราะแผนที่มันเปลี่ยน คุณบอกคุณจะเป็นนู่นเป็นนี่ ตอนนี้บทบาทเราเป็นผู้ว่าฯ เราดูแลทุกคนเหมือนกัน อันนี้แหละเข็มทิศเรา แผนที่จะบอกว่า 4 ปี ไม่มีใครรู้หรอก แต่เข็มทิศนาทีนั้น อะไรเป็นประโยชน์กับประชาชนสูงสุด เราก็ไปตรงนั้น แต่ถ้าหมดผู้ว่าฯ แล้วไม่ได้ทำการเมือง ก็น่าจะไปทำธุรกิจ เป็นผู้บริหารเป็นอะไรไป หรือไม่ก็ทำสตาร์ทอัพ เลี้ยงลูก 

ชัชชาติ_VoicePolitics_032.jpgชัชชาติ_VoicePolitics_039.jpg
  • ตั้งเป้าชีวิตหลังเกษียณฯ อย่างไร

70 ปีก็คงแก่แล้ว แต่เป็นตัวเลขขั้นต่ำนะ อาจจะเกินได้ ไม่ใช่อะไรหรอก จะได้มีแรงจูงใจในการออกกำลังกายดูแลตัวเองไง ถ้าบอก 60 เดี๋ยวก็เหี่ยวหมดแล้ว 

  • อยากอายุยืนถึงเท่าไหร่

คือ อยากให้ตายง่ายๆ ให้หลับตายไปเลย ไม่อยากจะต้องอายุยืนแต่ทำอะไรไม่ได้ ก็อย่าให้ทรมานตอนตาย.

ชัชชาติ VoicePolitics  7F168C111C6.jpegชัชชาติ_Voice_021.jpgชัชชาติ_VoicePolitics_037.jpgชัชชาติ VoicePolitics  B3F9FA75.jpeg

เรื่อง : ฉายฉาน คำคม, วิรวินทร์ ศรีโหมด

ภาพ : ปฏิภัทร จันทร์ทอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง