วันที่ 25 มีนาคม 2567 ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดนครราชสีมา ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีคณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายไชยา พรหมมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ร่วมคณะ ว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดนครราชสีมา และมอบนโยบายพร้อมสั่งการในประเด็นการผลักดันศักยภาพทางเศรษฐกิจและศักยภาพในพื้นที่ของโคราชที่มีอยู่แล้วนั้นได้ขับเคลื่อนอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งวันนี้โคราชมีความพร้อมในทุกด้านและมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่พร้อมร่วมกันพัฒนาเมืองโคราชและกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้านการท่องเที่ยว คมนาคม และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
ขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสท์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin’ มีรายละเอียดดังนี้
จ.นครราชสีมา เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจสูง เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องผลักดันให้โคราชพัฒนาได้เต็มศักยภาพ โดยครั้งนี้ ต้องการที่จะขับเคลื่อนเรื่องสำคัญ ๆ คือ
1. สนับสนุนให้ภาคเอกชนใช้สนามบินโคราช (กองบิน 1) ร่วมกับกองทัพ เพื่อเพิ่มโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวและบริการ ผมขอฝากท่านสุริยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ช่วยดำเนินเรื่องนี้ต่อ โดยให้ดูเรื่องความคุ้มค่า และความเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบินของภูมิภาค (Aviation Hub) ครับ
2. การท่องเที่ยว เขาเขื่อนลั่น เป็นจุดชมวิวที่มองเห็นสันเขื่อนลำตะคอง และเป็น KHORAT Geopark เป็นอุทยานธรณีโลก ที่ขึ้นทะเบียนโดย UNESCO มีศักยภาพที่จะเป็นแลนด์มาร์คของโคราช ขอฝากให้ท่านสุดาวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ช่วยพิจารณาผลักดันโครงการ พร้อมโปรโมทให้เป็นที่รู้จักของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินะครับ
3. ผมขอให้กรมชลประทานพิจารณาความเหมาะสมของโครงการเร่งด่วนในการพัฒนาระบบชลประทานในทุกลุ่มน้ำในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งการทำแก้มลิง การขุดลอก และการขจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมรับมือกับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น รวมถึงวางแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะยาวด้วยครับ
4. ผมขอให้กรมทางหลวงชนบทเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วน เช่น สะพานชำรุด ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนโดยเร็วที่สุดครับ
5. โครงการส่งเสริมการลงทุนในจังหวัด ได้แก่ การก่อสร้างท่าเรือบก (Korat Dry Port) ขอส่งเรื่องให้ท่านสุริยะ พิจารณาความเหมาะสม ส่วนเรื่องระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาคอย่างบูรณาการ ขอให้ทุกท่านอดใจรอนะครับ
เราอยากให้ท่านเห็นว่า เรามีความใส่ใจ ไม่ใช่ใส่แต่งบประมาณลงมาอย่างเดียว ขอให้พี่น้องชาวโคราชมั่นใจถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการผลักดันจังหวัดโคราชให้มีความเจริญครับ