ไม่พบผลการค้นหา
เหตุการณ์ 'สภาล่ม' ในยุคสมัยสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคพลังประชารัฐ กุมเสียงข้างมาก ยังคงขายหน้าอายประชาชนอย่างต่อเนื่อง

กับล่าสุดสภาล่มตั้งแต่หัววัน เนื่องจาก “องค์ประชุมไม่ครบ” เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2565 ฝ่ายรัฐบาลที่กุมเสียงได้มากกว่า ไม่สามารถตามตัวเพื่อนผู้ทรงเกียรติมาได้ครบ 238 เสียง ซึ่งเป็นเสียง “กึ่งหนึ่ง” ของทั้งหมด 476 เสียง ก่อนการลงมติ 

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อันมี ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธาน เริ่มดำเนินการไปพักใหญ่ โดยเปิดให้ ส.ส.ได้หารือเรื่องความเดือดร้อน เมื่อเข้าสู่ญัตติ รายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ.

ศุภชัย ได้ขอให้ที่ประชุมลงมติ แต่เมื่อเห็นแล้วว่าที่ประชุมบางตา ได้ทอดเวลาออกไปก่อนพูดว่า ให้ ส.ส.ที่อยู่นอกห้องประชุม ห้องกรรมาธิการต่างๆ ให้กลับเข้าห้องประชุม “จะรอจนกว่าจะครบ” ทำให้ที่ประชุมเกิดเสียงฮือฮา 

แต่เมื่อยังไม่ครบ ศุภชัย ได้สั่งพักการประชุมไป 30 นาที เมื่อกลับเข้ามาประชุม ฝ่ายรัฐบาลยังไม่สามารถตามคนมาให้ครบองค์ประชุมได้ ในที่สุดประธานได้สั่งปิดประชุม 

สภาล่มซ้ำซากหนนี้ ไม่ต่างจากครั้งก่อนๆ ที่แม้จะไม่ล่มอย่างเป็นทางการ แต่ประธานในที่ประชุมได้ชิงปิดประชุมไปเสียก่อน  

ย้อนไปไม่ไกล 15 ธ.ค. 2564 ในการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. … ที่มี วิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นผู้เสนอ โดยมี สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม

ก่อนการโหวต “สุชาติ” ต้องนับองค์ประชุมก่อนลงมติ ปรากฏว่า ประธานใช้เวลาแค่ 2 นาทีเศษ สั่งปิดประชุม เพราะอาจประเมินด้วยสายตาว่า ไม่ครบองค์ประชุม ตามที่กล่าวว่า “ไม่ครบอีกแล้วหรือครับ เลิกประชุมครับ”

ชวน สุชาติ -F18C-4178-A379-63FF07C26B34.jpeg

เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ วันที่ 8 ธ.ค. 2564 ในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. .... ที่กลุ่มไอลอว์เสนอ และ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ.... ที่พรรคอนาคตใหม่ (ก่อนจะมาเป็นพรรคก้าวไกล) เสนอ 

หลังพิจารณากันมานานกว่า 4 ชั่วโมง เมื่อถึงวเลาลงมติ “สุชาติ” ใช้เวลา 3 นาที ในการรอ ส.ส.เข้าห้องประชุม 

จนทำให้ “ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม” ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นหารือว่า "ดูเหมือน ส.ส.ไม่ครบองค์ประชุม"        

“สุชาติ” กล่าวขึ้นมาว่า "ไม่รอแสดงตนแล้วครับ ปิดการแสดงตนครับ ประธานไม่ได้ชิงปิดประชุมห้ามกล่าวหานะครับ วันนี้ขอปิดประชุม และลงมติในคราวถัดไป"

ย้อนไปไกลขึ้นอีกหน่อย 3 พ.ย. 2564 เป็นการประเดิมเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญครั้งที่ 2/2564 นัดแรกระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา จำนวน 11 มาตรา

เมื่อเดินมาถึง มาตรา 6 “สุชาติ” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้กดออดเรียกสมาชิก เพื่อเข้ามาแสดงตนก่อนลงมติก่อนโหวต 

เมื่อทอดเวลาให้ ส.ส.เดินเข้าห้องประชุมกว่า 5 นาที แต่สมาชิกยังในห้องประชุมยังบางตา “สุชาติ” ตัดสินใจชิงปิดประชุมทันที โดยกล่าวว่า “เอาไว้ประชุมกันคราวต่อไป” และสั่งปิดประชุมเวลา 17.20 น

นิโรธ สภา พลังประชารัฐ -569A-4F3E-B50F-8D303F9101B7.jpeg

รวมๆ แล้วทั้งชิงปิดสภา - ทั้งสภาล่มของจริง เกิดขึ้น 4 ครั้ง ในรอบไม่ถึง 2 เดือน นับตั้งแต่เปิดสมัยประชุมรัฐสภา 1 พ.ย. 2564

วิกฤตสภาล่ม บ่อยครั้ง และถี่ขึ้น เกิดภายหลังการ “งัดข้อ” ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กับ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ ปลดจากการรวบรวม ส.ส.ล้มนายกฯ ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 

ความแค้นสะสมมาเรื่อยๆ จนสำแดงผลในสภาฯ !

แหล่งข่าวในฝ่ายค้าน มองในฐานะผู้อยู่วงในนักสังเกตการณ์ว่า มี 3 กลุ่มที่ หักกันเองในขั้วรัฐบาล 

2 กลุ่มแรก เป็นศึกภายในพรรคพลังประชารัฐ ระหว่าง ส.ส.ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ กับ ส.ส.กลุ่มที่ ร.อ.ธรรมนัส ถือหางอยู่ แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะกำชับผ่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าอย่าให้สภาล่ม แต่เหมือนคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ อีกต่อไป 

เมื่อมนต์ขลังเสื่อม ยังแผ่ไปถึงวงพรรคร่วมรัฐบาล ในศึกเลือกตั้งซ่อม 2 เขตเลือกตั้งภาคใต้ คือ จ.ชุมพร กับ จ.สงขลา ที่ พรรคพลังประชารัฐ นำโดย ร.อ.ธรรมนัส ส่งคนลงแข่งกับเจ้าของพื้นที่เดิมคือ พรรคประชาธิปัตย์ 

กลุ่มที่ 3 จึงโยงมาที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งระยะหลังเสียงโหวต - ลงมติ ให้กับญัตติต่างๆ ของรัฐบาลเริ่มเป็นเสียงแตกปลาย ไม่เป็นเอกภาพ 

กับอีกปัจจัย อยู่ที่ บทบาท “นิโรธ สุนทรเลขา” ประธานวิปรัฐบาล ทั้งที่ที่ต้องทำหน้าที่เป็นมือประสานสิบทิศ กลับไม่เปิดหน้า เปิดตา ปล่อยให้ “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ สวมบทรองประธานวิปฝ่ายค้าน ต้องออกมาแก้ต่าง แก้ตัวแทนประธานวิป 

หรือ อรรถกร ศิริลัทยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ วัย 37 ปี เลขานุการวิปรัฐบาล เป็นผู้กล่าวในสภา โดยมี “นิโรธ” นั่งอยู่ข้างๆ ทั้งที่การชิงเหลี่ยม ชิงไหวชิงพริบทางการเมืองในสภา หากเป็นยุคของ “วิรัช รัตนเศรษฐ” จะลุกขึ้นมาแก้ไขสถานการณ์ในฉับพลันทันที 

ขณะที่ แกนนำพรรคฝ่ายค้านรายหนึ่ง ทำนายว่า อาจเห็นการเปลี่ยนแปลง “ประธานวิปรัฐบาล” หลังจากปีใหม่ 2565

นิโรธ ชินวรณ์ วิปรัฐบาล พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ประชุมสภา B6745DFE32B7.jpeg

ส่วนฝ่ายรัฐบาลอย่าง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังเชื่อมั่นว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่นำเหตุสภาล่ม มาเป็นเหตุแห่งการยุบสภา และสภาล่มก่อนหน้านี้ก็เป็นเพียงแค่การพิจารณาญัตติ มิใช่กฎหมายสำคัญของฝ่ายรัฐบาลแต่อย่างใด 

ไม่มีเหตุให้ต้องหวั่นใจ ....

แต่ที่หวั่นใจ “ประยุทธ์” เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ ไร้อิทธิฤทธิ์ ชาวบ้านไม่เชื่อมั่น ประชาชนก่นด่า เศรษฐกิจตกต่ำ เงินในกระเป๋าร่อยหรอ

ส.ส.ในสภา ขอลงพื้นที่ตุนคะแนนใส่กระเป๋า เตรียมเลือกตั้งดีกว่า 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง