ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เพิ่มการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นเป็นสองเท่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 และผลักดันโครงการสร้างเส้นทางคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานนับร้อยโครงการในแถบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยอยู่ภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistance หรือ ODA) ของรัฐบาลญี่ปุ่น
นักวิเคราะห์จากหลายประเทศมองปรากฏการณ์นี้ว่าญี่ปุ่นกำลังพยายามแข่งขันกับจีน เพื่อคานอำนาจหรืออิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่ใช่การวิเคราะห์ที่ผิด
อันที่จริง ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาโดยตลอด และยาวนาน ก่อนที่จีนจะเข้ามามีอิทธิพลและบทบาททางเศรษฐกิจในช่วงสิบปีมานี้
ทั้งนี้ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีพื้นที่น้อย มีทรัพยากรน้อย ในขณะที่มีความเจริญทางอุตสาหกรรมสูงมาก ญี่ปุ่นจึงมีความจำเป็นที่ต้องมองหาพื้นที่สำหรับเป็นฐานการลงทุนให้กับระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นตลอดมา
ตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เหตุผลที่ทำให้ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกยึดครองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มิได้มีเพียงแค่ต้องการขับไล่อิทธิพลของเจ้าอาณานิคมตะวันตกออกไปจากภูมิภาคนี้เท่านั้น แต่ญี่ปุ่นต้องการปกครองภูมิภาคนี้แล้วทำให้เป็นฐานให้กับระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ “วงศ์ไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา” (Greater East Asia Co-Prosperity Sphere) อย่างไรก็ดี เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ความฝันในเรื่องนี้ของญี่ปุ่นก็ต้องล้มเลิกไป
ญี่ปุ่นเริ่มให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้โครงการ ODA มาตั้งแต่ พ.ศ. 2497 หลังจากที่ญี่ปุ่นลงนามเข้าร่วมในแผนการโคลอมโบ (Colombo Plan) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือนานาชาติที่สหรัฐฯ ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ประเทศยากจนในเอเชียแปซิฟิกโดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศเหล่านั้นไปขอความช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ หลังจากนั้น ญี่ปุ่นก็ขยายการให้ความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง แต่มีเป้าหมายเปลี่ยนไป คือ เพื่อลบล้างบาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่ญี่ปุ่นเคยเป็นผู้รุกราน และเพื่อช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่างๆ ให้เป็นฐานที่มั่นรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น
หลังปี พ.ศ. 2528 บรรดาประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำประท้วงว่าญี่ปุ่นเอาเปรียบการค้าต่อประเทศอื่น เพราะตั้งค่าเงินให้อ่อนเกินจริง สินค้าญี่ปุ่นจึงมีต้นทุนถูกกว่า ราคาถูกกว่า ขายได้ง่ายกว่า ญี่ปุ่นจำต้องเพิ่มค่าเงินสกุลเยนของตนเองตามข้อตกลงพลาซ่า (Plaza Accord) กับบรรดาประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำเหล่านั้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นสูงขึ้นอย่างมาก ญี่ปุ่นจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศขนานใหญ่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงกลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญอย่างยิ่งของญี่ปุ่นนับตั้งแต่บัดนั้น
หลังจากนั้น ญี่ปุ่นกลายเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่และนักลงทุนรายใหญ่ ที่มีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาโดยตลอด
หลังสงครามเย็น ญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจประเทศแรกที่ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มาตั้งแต่โครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจซึ่งมีเป้าหมายเชื่อมเส้นทางคมนาคมระหว่างสี่ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว และจีน โครงการความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งขยายจากสี่ประเทศในโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไปสู่เป็น 6 ประเทศ คือเพิ่ม เวียดนาม กับ กัมพูชา เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนของญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้
เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียในปี พ.ศ. 2540 ญี่ปุ่นได้ให้เงินช่วยเหลือเพื่อพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจแก่ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจำนวนเงินหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในชื่อโครงการมิยาซาว่า (Miyazawa Plan) เพราะถ้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นล้ม ญี่ปุ่นย่อมได้รับผลกระทบอย่างสาหัสไปด้วย
หลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ญี่ปุ่นยังมีสถานภาพเป็น “ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน” และยังอยู่ใน อาเซียนบวกสาม และอาเซียนบวกหก
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน หากพิจารณาตัวเลขการลงทุนของญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่าการลงทุนของญี่ปุ่นไม่เคยลดลงเลย มีแต่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทุกปี เพียงแต่เกิดลักษณะของการลดการลงทุนในบางประเทศแล้วเพิ่มการลงทุนในบางประเทศ คือ ลดการลงทุนในไทย แต่ไปลงทุนอย่างมหาศาลในอินโดนีเซีย เวียดนาม และ พม่า
ในส่วนของ ODA ก็ไม่เคยลดลงเช่นกัน แต่มุ่งสู่การให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศ ลาว เวียดนาม กัมพูชา และ พม่า ซึ่งเป็นประเทศที่ระดับการพัฒนายังต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นมิใช่แค่คานอำนาจหรือแข่งขันกับจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ญี่ปุ่นกำลังรักษาฐานที่มั่นทางเศรษฐกิจอันเก่าแก่ของตัวเอง