ทุกเช้า ‘ภูมินทร์ สำอางค์’ พนมมือไหว้หน้ากากเหล็กที่ดูทื่อและหนัก อุปกรณ์ดำน้ำคู่ใจที่เขาหล่อด้วยมือของตัวเอง เพราะมีอาชีพที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ การ ‘ไหว้ครู’ เพื่อขอโชคลาภช่วยเสริมสร้างกำลังใจ แต่มากกว่านั้นคือขอให้ภารกิจลุล่วงปลอดภัย...
ไม่มีใครรู้เลยว่าการดำดิ่งลงไปหลายสิบเมตรในสายน้ำที่มืดมิด มีอะไรรอเขาอยู่
ภูมินทร์เป็นหนึ่งในนักประดาน้ำไม่ถึง 20 คน ที่ใช้ถังออกซิเจนทำเอง มีสายยางต่อเข้ากับตัวถัง อีกด้านต่อกับปั๊มลมที่วางไว้บนเรือ จนกลายเป็นหน้ากากออกซิเจนรูปร่างแปลกตาสำหรับหายใจ จากนั้นก็กระโดดลงไปผจญภัยที่ก้นบึ้งของแม่น้ำเจ้าพระยา พวกเขาอาศัยอยู่ในบ้านไม้ริมน้ำของชุมชนมิตตคาม ย่านสามเสน
“เราหาของเก่าที่ตกอยู่ในแม่น้ำ เมื่อก่อนคนอาศัยกันบนแพ มีตลาดกลางน้ำ แก้วแหวนเงินทองก็อาจจะตกลงไป” ภูมินทร์ กล่าว
ทรัพย์สินที่พวกเขาค้นหาส่วนใหญ่เป็นเหรียญกษาปณ์ สมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ซึ่งขายได้ราคาเหรียญละร้อยบาท แต่ถ้าหากมีสภาพดีสามารถขายได้เหรียญละหนึ่งพันบาท ที่ร้านขายของเก่าในกรุงเทพฯ
ภูมินทร์บอกว่า บางเหรียญที่หายากเขาเคยขายได้นับหมื่นมาแล้ว นอกจากนี้ พวกเขายังเจอสร้อยทอง และถ้วยชามเบญจรงค์แบบจีน และหลายปีมานี้เมื่อของเก่าเริ่มหายาก นักประดาน้ำหันมาดำหาเศษเหล็กได้ราคาวันละเกือบพันบาท
“เมื่อไม่กี่วันก่อน เราก็เจอโทรศัพท์มือถือด้วย” แต่สำหรับคนจิตอ่อน เขาบอกว่า การดำน้ำที่ลึกและมืดจนมองไม่เห็นอาจจะทำให้ขวัญเสียได้ เพราะเขาเองก็เคยเจอโครงกระดูกและกะโหลกศรีษะมนุษย์มาแล้ว
ไม่มีใครรู้ได้แน่ชัดว่า กลุ่ม ‘อินเดียน่าโจนส์เมืองไทย’ ซึ่งเป็นชื่อที่หลายคนใช้เรียกพวกเขาตามภาพยนตร์ชื่อดังของฮอลลีวูด เริ่มประกอบอาชีพนี้มานานแค่ไหนแล้ว แต่สำหรับชายวัย 60 ปีเศษอย่างภูมินทร์ เขาดำน้ำหาขุมทรัพย์มากว่าครึ่งชีวิต
ภูมินทร์เล่าว่า นักประดาน้ำน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยสมัยนั้นวัดดังที่มีคนเข้าไปปฏิบัติศาสนกิจมากๆ ก็จะมีกลุ่มชาวบ้านที่พายเรือเข้างมหาขุมทรัพย์ที่ร่วงหล่นอยู่เช่นกัน แต่อาจจะไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ แค่เพียงดำน้ำมือเปล่า
ทว่าการดำน้ำหาของเก่าแบบนี้ก็เสี่ยงที่จะผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.โบราณวัตถุ (พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504) ที่ห้ามทำการซื้อขาย และถือว่าเป็นสมบัติของแผ่นดิน แต่นักประดาน้ำมองว่า พวกเขาไม่ได้ขโมยหรือมุ่งหาโบราณวัตถุชิ้นใหญ่ๆ แต่จะมองหาของเก่าชิ้นเล็กๆ ที่เป็นสิ่งของที่ชาวบ้านทำตกหล่นเท่านั้น
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ความกังกลเดียวสำหรับนักประดาน้ำกลุ่มนี้ ที่ผ่านมาทางกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. กำลังเตรียมให้พวกเขาย้ายไปอยู่บริเวณ จ.นนทบุรี ตามนโยบายปรับภูมิทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งส่งผลให้ชุมชนริมน้ำหลายสิบแห่งจำต้องละทิ้งวิถีเดิมๆ ไป
ภูมินทร์เล่าว่า ขณะนี้ทางการกำลังสรรหาที่ดินใหม่สำหรับชาวบ้านของชุมชนมิตตคาม ซึ่งหากพวกเขาต้องย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากแม่น้ำ และที่สำคัญคือไม่มีการจัดพื้นที่สำหรับจอดเรือ วิถีชีวิตเดิมๆ รวมถึงอาชีพนักประดาน้ำหาของเก่าก็จะหมดไป
“ผมคิดว่าถ้าไม่มีที่ลงน้ำ อาชีพเราคงจะไปหายไปร้อยละ 90” ภูมินทร์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: