บริเวณที่เกิดเหตุ พบศพชายอายุประมาณ 40 ปี สภาพสวมเสื้อแขนยาว ลายสีน้ำเงิน นอนเสียชีวิตที่พื้น เจ้าหน้าที่ได้เร่งนำผ้าขาวมาคลุมร่างไว้ ทั้งนี้ ทราบว่า ผู้เสียชีวิตพร้อมภรรยา ซึ่งเป็นพ่อและแม่ของลูกชายที่ถูกเเทงเสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2559 ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาในคดีของลูกชายผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้ เหตุดังกล่าว ได้เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำพิพากษาคดีเสร็จสิ้น จึงคาดว่าผู้ตายเกิดความเครียดและร้องไห้เสียใจ ก่อนจะปีนข้ามช่องหน้าต่างบริเวณทางเดินหน้าห้องพิจารณา ชั้น 8 และก่อเหตุกระโดดลงลงมาร่างกระแทกรถยนต์ตรงทางเดินและเสียชีวิต
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวหลังพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสถานที่เกิดเหตุบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ได้ส่งศพไปชันสูตรที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ จากการสอบสวนภรรยาผู้ตาย ทราบสาเหตุน่าจะมาจากผู้ตายและภรรยาเข้าร่วมรับฟังคำพิพากษา คดีที่ลูกชายถูกแทงเสียชีวิต ท้องที่ สน.ดินแดง เมื่อปี 2559 โดยศาลชั้นต้น มีพิพากษายกฟ้อง จึงทำให้เกิดความรู้สึกเสียใจและก่อเหตุดังกล่าวขึ้น
ส่วนสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ ยังต้องรอผลการชันสูตรพลิกศพจากแพทย์นิติเวชฯ ผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุจากกองพิสูจน์หลักฐานกลางและข้อมูลกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุจากตำรวจฝ่ายสืบสวน ส่วนสำนวนคดีที่ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษายกฟ้องนั้น ทราบว่า พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผบช.น. ได้สั่งให้พนักงานสอบสวนนำสำนวนทั้งหมดมาพิจารณาถึงสาเหตุที่ศาลยกฟ้อง เพื่อให้เกิดความรอบคอบ เป็นธรรมและสามารถตอบข้อสงสัยของสังคมได้ โดยฝ่ายผู้เสียหายยังสามารถยื่นอุทธรณ์และฎีกาสู้คดีได้
ด้านนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงรายละเอียดคำพิพากษาคดีดังกล่าวว่า เป็นคดีหมายเลขดำ อ.1089/2560 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายณัฐพงษ์ เงินคีรี เป็นจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ฯ กรณีเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2559 เวลากลางคืน จำเลยได้ใช้อาวุธมีดปลายแหลมแทงบริเวณร่างกายนายธนิต ทัฬหสุนทร จนถึงแก่ความตาย ก่อนหลบหนีไป เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 , 371 ประกอบมาตรา 83 เหตุเกิดบริเวณ ถ.ประชาสังคมสงเคราะห์ 1 ดินแดง กทม.ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดีว่าไม่ใช่ผู้กระทำผิด
โดยคดีนี้ ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เหตุผลโดยสรุป คือ ประจักษ์พยานที่อ้างว่าเห็นเหตุการณ์และให้การไว้ในชั้นสอบสวน ไม่อาจมาเบิกความในชั้นศาลได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการรักษาอาการป่วยทางจิตที่โรงพยาบาล จึงต้องรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนที่นำส่งในชั้นศาลประกอบพยานหลักฐานอื่น แต่พยานหลักฐานอื่นยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยได้ เช่น ภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดพบว่าช่วงเวลาที่เกิดเหตุเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีผู้คนเป็นจำนวนมาก ภาพจากกล้องวงจรปิดที่ปรากฎในชั้นศาลนั้นเห็นเเต่เพียงเหตุการปากทางเข้าซอยที่เกิดเหตุ เเต่ไม่สามารถบันทึกภาพบริเวณจุดเกิดเหตุไว้ได้ ดังนั้นเมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง
"คดีนี้เป็นเพียงการพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นเท่านั้น ฝ่ายโจทก์ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีตามกฎหมายได้ต่อไป ซึ่งในชั้นอุทธรณ์ผู้พิพากษาที่ปฏิบัติหน้าที่ก็จะพิจารณาไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนโดยปราศจากความกดดันหรือคติใดๆ ขอยืนยันว่า ศาลก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ทำหน้าที่ของตนเองมาอย่างดีที่สุดแล้ว" นายสุริยัณห์ กล่าว