ไม่พบผลการค้นหา
“ผู้หญิงแต่งตัวโป๊ยั่วผู้ชาย” “เป็นผู้ชายไม่เสียหายหรอก” “เกย์ กะเทยก็ชอบแบบนี้อยู่แล้วหนิ”

เทศกาลสงกรานต์ที่ไม่ว่าเพศไหนก็มีโอกาสถูกละเมิด กำลังบอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทย?

หลังจากพูดคุยกับตัวแทนเพศหญิงที่เคยถูกละเมิดในวันสงกรานต์และประเด็นการตัดสินกันจากการแต่งตัว วอยซ์ออนไลน์มีโอกาสพูดคุยกับเพศชายและคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ล้วนเคยถูกล่วงละเมิดในเทศกาลสงกรานต์ แม้แต่ละเพศจะมีประเด็นปลีกย่อยแตกต่างกันไป แต่ข้อเท็จจริงเหล่านี้กำลังสะท้อนว่า เราอยู่ในสังคมที่ทุกคนมีโอกาสถูกล่วงละเมิด ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม

“เป็นผู้ชายไม่เสียหายหรอก”

เวลาพูดถึงการล่วงละเมิดทางเพศ เพศชายมักถูกมองว่าเป็นฝ่าย ‘ผู้กระทำ’ การมองในลักษณะนี้ประกอบกับการถูกคาดหวังจากสังคมว่าเพศชายจะต้องเข้มแข็ง ส่งผลต่อการตัดสินใจออกมาพูดเรื่องการถูกละเมิดทางเพศของเพศชายจำนวนหนึ่งที่เราได้พูดคุยด้วย มาวิน มะมัย หรือ มิก ก็ใช้เวลาตัดสินใจอยู่นานก่อนจะตัดสินใจให้สัมภาษณ์ เพราะเขาเกรงว่าจะถูกสังคมตัดสินจากการออกมาเล่าประสบการณ์ถูกลวนลามในวันสงกรานต์ปีหนึ่งที่สีลมซอย 4

“คิดไปร้อยแปด เขาจะคิดยังไงกับเรา ก็คิดว่ามันเหมือนกับเพศหญิงอะแหละ เพราะถ้าเพศหญิงเขาออกมาบอกว่าฉันโดนกระทำนู่นนี่นั่น ก็คงโดนตัดสินบางอย่างจากคนอื่น เหมือนที่ในอินเตอร์เน็ตตัดสินกันว่าเป็นเพราะไปอ่อยเขาก่อนใช่ไหม กลายเป็นว่าแทนที่ฉันจะได้ความยุติธรรมกลับโดนอะไรมากกว่าเดิม แต่จริง ๆ ประเด็นมันไม่ใช่ตรงนั้นเลย มันคือเรื่องการเคารพกันในตัวตนของแต่ละคน อยู่ดี ๆ คุณมาจับคนอื่น มันไม่ใช่”

มาวิน มะมัย พนักงานบริษัทเอกชน.JPG

เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับคำพูด “เป็นผู้ชายไม่เสียหายหรอก” มาวินตอบว่า เขาไม่เห็นด้วย เพราะทุกเพศมีทั้งความเข้มแข็งและอ่อนแอที่เราควรจะเคารพซึ่งกันและกัน

“เรารู้สึกเสียหาย มันมีจุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันก็เป็นแบบเนี้ย บอกตัวเองว่าปลง ๆ ไปเถอะ แต่เราก็แบบ... เราจะปลงไม่ได้นะ เรื่องนี้มันก็เรื่องใหญ่นะ แล้วมันคือความน่าอยู่ของประเทศที่เราจะอยู่ไปตลอดทั้งชีวิตอะ” มาวินกล่าว

ด้าน ก๊อท นันทวัฒน์ หงส์แห้ว เล่าประสบการณ์ถูกลวนลามในวันสงกรานต์เมื่อหลายปีก่อน ที่เขาเพิ่งได้มาเล่นน้ำแถวสีลมและข้าวสารในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก วันนั้นเขาใส่เสื้อลายดอก กางเกงขาสั้น

“มันเป็นความรู้สึกแปลก ๆ ที่เราก็ไม่รู้จะนิยามมันว่าอะไร เราแค่รู้สึกว่าเราไม่โอเคกับกับสิ่งที่เกิดขึ้น”

นันทวัฒน์ หงส์แห้ว นักศึกษา

นันทวัฒน์กล่าวว่า สังคมมักคาดหวังว่าเพศชายต้องแข็งแรง เป็นผู้นำ และไม่ควรที่จะมานั่งรู้สึกกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ที่สังคมมองว่า ‘ผู้หญิงเสียหายมากกว่า’ ทำให้ผู้ชายหลายคนไม่กล้าออกมาพูดว่าพวกเขาก็มีความรู้สึกเหมือนกัน เพราะกลัวจะถูกมองว่า “ไม่แมน”

“เกย์ กะเทยก็ชอบแบบนี้อยู่แล้วหนิ”

แม้จะมีความเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สังคมแยกภาพคนที่มีความหลากหลายทางเพศออกจากเรื่องเซ็กส์ แต่ ซารีน่า ไทย หรือ นิชนัจทน์ สุดลาภา นางแบบและคณะทำงานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ยืนยันว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นการกระทำของปัจเจกที่ทุกเพศสามารถเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำได้  


นิชนัจทน์ สุดลาภา


“มันไม่ใช่ว่าผู้ชายจับผู้หญิงอย่างเดียวนะ ผู้หญิงจับผู้ชายก็มี หรือคนที่เป็น LGBT ที่ถูกกระทำหรือไปกระทำ ไปรุมทึ้งเขาก็มี แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ มันควรย้อนกลับมาว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ ถ้าเราเข้าใจเรื่องสิทธิในร่างกายและไม่ละเมิดกันและกัน ทุกอย่างมันจะแฮปปี้กว่านี้”

นิชนัจทน์กล่าวต่อว่า ด้วยภาพที่สังคมมองว่ากลุ่ม LGBT คือกลุ่มคนที่ชอบเรื่องเซ็กส์และความสนุกสนาน อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศมีโอกาสถูกล่วงละเมิดทางเพศ พร้อมยกตัวอย่างประสบการณ์วัยเด็กในโรงเรียนชายล้วนว่าหากใครแสดงอาการ ‘ตุ้งติ้ง’ มักจะถูกเพื่อน ๆ แกล้ง ในประเด็นนี้งานวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดจากความกลัวคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ในปี 2556 ระบุว่าการรับรู้ถึงความชอบเพศเดียวกันและตัวตนข้ามเพศนั้นเป็นเหตุให้บุคคลสามารถตกเป็นเหยื่อของการถูกรังแกได้

เมื่อถามเรื่องการแต่งกายในวันสงกรานต์ นิชนัจทน์กล่าวว่าตนคิดว่าเป็นเรื่องของกาลเทศะ การแต่งตัวที่หลายคนมองว่าโป๊ หากไม่ใช่เทศกาลสงกรานต์ หลายคนที่แต่งตัวแบบนั้นก็ไม่ได้แต่งแบบเดิมเพื่อไปสถานที่ต่าง ๆ ในวันปกติหรือวันทำงาน เทศกาลสงกรานต์เป็นวันเฉพาะที่เราควรจะเข้าใจได้ ในส่วนของเธอเองที่มีอาชีพนางแบบ นิชนัจทน์มองว่าการแต่งตัวโชว์สัดส่วนหรือเนื้อหนังเป็นเรื่องของการทำงาน แฟชั่น และการแสดงออกถึงตัวตนและรสนิยมอย่างหนึ่ง

“เราจะสังเกตได้ว่านางแบบหลายคนก็ไม่ได้เดินแก้ผ้าอยู่ในห้างในวันปกติที่ไม่ทำงาน” นิชนัจทน์กล่าว