นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีเครือข่ายวิชาการสร้างเมืองเพื่อทุกคนร่วมกับเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เรียกร้องให้คณะกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคม ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เร่งรัดจัดประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งมีผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยกว่า 3 แสนราย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ค้าจำนวนมากได้รับผลกระทบจนได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่มีแหล่งค้าขายใหม่รองรับที่เหมาะสม และเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีบทบาทดูแลเมืองหยุดการให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับหาบเร่-แผงลอยในแง่ลบ เช่น อาหารสกปรก เพราะเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้เลวร้ายลงไปอีก
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการของคณะกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคมตามข้อเรียกร้องดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้คณะกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคม ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน รับทราบแล้ว รวมทั้งได้มีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคมประจำจังหวัดแล้วรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ซึ่งในขณะนี้กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างสำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการจัดระเบียบสังคมในแต่ละด้าน ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการบรรเทาผลกระทบฯ คณะใหญ่ โดยหลังจากที่ทุกจังหวัดได้รายงานการดำเนินการจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ มาครบถ้วนแล้วจะได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ เพื่อชี้แจงแนวทาง นโยบาย ที่จะดำเนินการในการจัดระเบียบสังคมด้านต่าง ๆ ต่อไป ซึ่งในแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่มีสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน เช่น การจัดระเบียบทางเท้า หาบเร่แผงลอย การใช้ที่สาธารณะ ถนน หรือแม่น้ำลำคลอง เป็นต้น
สำหรับในกรณีคนเมืองได้พูดในลักษณะในการกดดันร้านค้า หรือเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีบทบาทดูแลเมืองหยุดการให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับหาบเร่–แผงลอยในแง่ลบ เช่น อาหารสกปรก เพราะเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้เลวร้ายลงไปอีกนั้น กระทรวงมหาดไทย ได้รับรายงานจากกรุงเทพมหานครว่า มิได้กล่าวในลักษณะเช่นนั้น แต่เป็นการพูดในลักษณะขอความร่วมมือ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ร้านค้าโดยเฉพาะร้านอาหาร มีความสะอาด ถูกสุขลักษณะ เพราะหากร้านค้าและถนนหนทางสะอาด จะช่วยป้องกันสัตว์ที่จะเป็นพาหะนำโรค มิได้ไปซ้ำเติมผู้ค้าขายแต่อย่างใด
และด้านของสถานที่สำหรับจำหน่ายสินค้านั้น ทางกรุงเทพมหานครยืนยันว่า ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดกับผู้ค้าและประชาชนโดยทั่วไป จึงได้ดำเนินมาตรการผ่อนปรน ด้วยการจัดสถานที่ไว้ให้ใหม่ ทั้งจุดที่เป็นสถานที่อนุโลมหลายพื้นที่ด้วยกัน รวมทั้งจัดสรรพื้นที่ตลาดประชารัฐต่างๆ รองรับผู้ค้า ซึ่งผู้ค้าหลายรายอาจไม่ได้ไปลงทะเบียน โดยกรุงเทพมหานครยืนยันว่า ในปัจจุบันยังมีพื้นที่อนุโลมเพื่อที่จะดูแลบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนกลุ่มดังกล่าวอยู่ ได้แก่
1.อนุโลมให้ผู้ค้าสามารถค้าขายได้ในถนนสายรองและซอยย่อยไปพลางก่อน โดยต้องปฏิบัติตนบนความเป็นระเบียบและสุขอนามัยในกรณีจำหน่ายอาหาร เช่น การอนุโลมให้ขายในซอยย่อยของถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนสีลม บริเวณส่วนในสุดของพื้นที่โดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และในซอยแยกย่อยของถนนทองหล่อ(สุขุมวิท55) เป็นต้น
2.ในกรณีผู้ค้าแขวนขายสินค้าบนประตูของร้านค้าที่ปิดทำการค้าประจำวันแล้ว แม้จะล้ำเข้ามาในทางเท้าเล็กน้อยบ้างก็ตาม กรุงเทพมหานครได้ผ่อนปรนและอนุโลม
3.อนุโลมให้ผู้ค้าประเภทอาหารสามารถขายอาหารบนทางเท้าเพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถซื้ออาหารในราคาย่อมเยารับประทานได้ เช่น บนถนนคอนแวนต์ (แยกจากถนนสีลม) ซอยอารีย์สัมพันธ์ (ถนนพหลโยธิน) เชิงสะพานหัวช้าง (ถนนพญาไท) เชิงสะพานเหลือง (ถนนพระราม4) วัดแขก (ถนนสีลม) ถนนสุสาน (แยกจากถนนสีลม) และสะพานลอยถนนกิ่งเพชร (แยกจากถนนเพชรบุรี) เป็นต้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :