“กลุ่มสามมิตร” ในความหมายเมื่อแรกเริ่ม คือ แหล่งรวมของ “มิตรทางการเมือง” สามคน อันได้แก่ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-สมศักดิ์ เทพสุทิน-สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป้าหมายเมื่อก่อตั้งชัดเจน อยู่ที่การสนับสนุน “นายกลุงตู่” ให้อยู่ครองอำนาจต่อไป
จะด้วยความพยายามหลบหลีก ไม่ให้ภาพจำของ “กลุ่มสามมิตร” เกาะเกี่ยวกับคีย์แมนทั้งสามคนมากเกินไปหรือไม่ จึงได้ปรากฏความพยายาม ในการสร้างนิยามใหม่
เหมือนที่ “ภิรมย์ พลวิเศษ” เลขากลุ่มสามมิตร ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาถึง “นิยามกลุ่มสามมิตร”
“บางคนอาจจะสงสัยว่าสามมิตรจริงๆ แล้วคืออะไร คำว่า สามมิตรคือ คนจน คนรวย แล้วก็รัฐบาล ถ้ามี 3 ส่วนมาประกอบกันแล้วมีจุดร่วมร่วมกันนั่นคือ เป้าหมายทิศทางที่เราจะทำให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้ามันน่าจะลงตัวกันได้ นี่คือคำว่า สามมิตร”
“สามมิตรเป็นสื่อกับปัญหาต่างๆ ของประชาชนไปถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งบางเรื่อง พลเอกประยุทธ์ ทำมาล่วงหน้าพวกเราแล้ว บางเรื่องที่เรานำเสนอกำลังจะตกผลึกร่วมกันว่าจะนำเสนอรัฐบาลเป็นครั้งๆ ไปกับข้อกำหนดเวลาที่มีอยู่”
นิยามใหม่ของกลุ่มสามมิตร เดินออกจากความเกาะเกี่ยวที่ตัวบุคคล โดยเฉพาะเดินออกจากความเกาะเกี่ยวกับ 3 ส. ที่ฉายชัดถึงการกลับมาของนักการเมืองเลวจอมเขมือบที่มาจับมือกับระบอบเผด็จการ ภาพใหม่ที่อยากให้ประชาชนเห็น คือภาพของความความพยายามที่จะผลักดันนโยบาย โดยเฉพาะเพื่อ ปากท้องคนยากคนจนคนอีสาน
แต่ที่ปฏิเสธได้ยาก และยังคงชัดเจนตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน คือ กลุ่มสามมิตรไม่รีรอที่จะบอกว่า “เล่นการเมืองครั้งนี้ ทำเพื่อหนุนลุงตู่ให้อยู่ยาว”
ไม่ใช่แค่ นิยามกลุ่มสามมิตร ที่เปลี่ยนไป เพื่อเชื่อมโยงกับคนเล็กคนน้อยในประเทศนี้มากขึ้น อันเป็นการเดินตามแรงบัลดาลใจจากพรรคไทยรักไทย ว่าถ้าจะชนะในคณิตศาสตร์ทางการเมือง ก็จะต้องได้ใจ “คนส่วนมากในประเทศ” นั่นเป็นที่มาของนโยบายประชานิยม
หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยคนหนึ่ง เคยเล่าไว้ว่า “เมื่อเราหาเสียงในปีแรก เรามีนโยบายครบหมดทุกด้าน แต่พอใกล้ๆวันเลือกตั้ง เราพูดอยู่ไม่กี่เรื่อง ที่ผมจำได้แม่นเลยคือ ทุกเวทีเราจะพูดเรื่อง พักหนี้เกษตรกร – กองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท – 30 บาทรักษาทุกโรค”
จะด้วยความตั้งใจ หรือ ไม่ตั้งใจก็ตาม นโยบายแรกแรกของกลุ่มสามมิตรที่แพร่ออกมา เดินตามรอยพรรคไทยรักไทยอยู่ในที
หนึ่ง “นโยบายโค 1 ล้านตัว”
สอง “การผลักดันราคาข้าวนาปรังไม่ต่ำกว่า 8,000 บาทต่อตัน”
สาม “ดูแลเรื่องปากท้อง อาชีพ ราคาพืชผลทางการเกษตร ดูแลตั้งแต่เด็กจนถึงแก่หรือตาย”
ว่าด้วย ความเคลื่อนไหวของ สามมิตร ในเวลานี้
ไม่เพียง “แปลงนิยาม สร้างความหมายใหม่”
ไม่เพียง “ขายนโยบายแนวประชานิยม”
แต่ทั้ง “ดูด” และสร้าง “ขบวนการแดงกลับใจ-ผู้ร่วมพัฒนาประเทศ”
“สุภรณ์ อัตถาวงศ์” หรือ “แรมโบ้อีสาน” ให้สัมภาษณ์กับ คมชัดลึกถึงการตัดสินใจเป็น “แดงกลับใจ” ว่าเป็นผลจากการสั่งสมความน้อยเนื้อต่ำใจมาหลายเรื่อง
“ที่ไหนที่ให้เกียรติเรา ที่ไหนที่ทำงานด้วยแล้วสบายใจ ก็เลือกตรงนั้น”
“นับแต่เขาถูกปล่อยตัวออกมาจากค่ายทหารหลังยึด คสช.อำนาจเมื่อปี 2557 ก็ไม่เคยมีคนในพรรคโทรมาถามสารทุกข์สุกดิบใดๆ รวมทั้งเมื่อครั้งที่แม่และภรรยาป่วยและไม่เคยมีผู้ใหญ่ในพรรคติดต่อไปประชุมหรือพูดคุยในพรรค ยิ่งแสดงว่าเขาไม่ใช่คนในพรรคแล้ว แต่ไม่เข้าใจว่าเมื่อเขาจะไปอยู่พรรคอื่นทำไมต้องออกมาโจมตีกันมากมาย”
เป็นเหตุผลที่ยิงตรงไปที่ “วิธีการทำการเมืองของตระกูลชินวัตร”
เป็นโครงเรื่องเดียวกับที่ สื่อฝ่ายขวากำลังใช้โจมตี “ทักษิณ – เยาวภา”
กลุ่มสามมิตรไม่เพียงยืมมือ “แรมโบ้อีสาน” ประจาน “ทักษิณ” แต่ยังใช้เสียงของ “แรมโบ้อีสาน” สรรเสริญ “พลเอกประยุทธ์” ด้วย
“พล.อ.ประยุทธ์ ท่านเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมือง ท่านตั้งใจเข้ามาทำงาน และท่านก็เป็นคนโคราชด้วย ท่านก็ไม่ใช่คนไม่ดี ฉะนั้นจะเสียหายอะไรถ้าผมจะสนับสนุนลูกหลานย่าโม ที่จะช่วยพัฒนาโคราชได้ ทำให้บ้านเมืองเดินไปได้ ถ้าท่านมาตามกติกา ผมก็พร้อมจะสนับสนุนท่าน”
นอกเหนือไปจาก การรับงาน “ประจานนายเก่า-สรรเสริญนายใหม่” ของแรมโบ้อีสาน คงต้องถือโอกาสชวนคุยเรื่อง คณิตศาสตร์การเมือง ไว้เตือนความทรงจำกันหน่อย
จะพบว่า ในการเลือกตั้งปี 2554 ในพื้นจังหวัดนครราชสีมา มีเก้าอี้ ส.ส.เขตให้ชิงชัยจำนวน 15 เขต ในเวลานั้น บารมีของ “แรมโบ้อีสาน” ในภาพจำของ นักสู้เพื่อประชาธิปไตย ส่งผลให้ ในเขตเลือกตั้งที่ 11 “สัมภาษณ์ อัตถาวงศ์” จากพรรคเพื่อไทย น้องชายแรมโบ้อีสาน สามารถคว้าชัยในเขตนี้ นำหน้า คู่ชิงจากพรรคภูมิใจไทย ไปด้วยคะแนน 44,184 คะแนน
ในการเลือกตั้งปี 2561 ถ้ากลุ่มสามมิตร ส่ง “สัมภาษณ์ อัตถาวงศ์” ลงเลือกตั้งอีกครั้ง นี่จะเป็นตัวชี้วัดที่ดีมาก ว่าในวันที่ภาพจำของแรมโบ้อีสานในพื้นที่ไม่เหมือนเดิม “ไม่ใช่นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างเดิม” ผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ? คณิตศาสตร์การเมืองที่ 4 หมื่นคะแนนขึ้นไป จะยังเป็นไปได้หรือไม่ ?
“สุริยะ-สมศักดิ์” คงไม่ได้หวังให้ แรมโบ้อีสาน กำชัยในสนามเลือกตั้งโคราชมาให้พรรครวมพลังประชารัฐชนิดถล่มทลาย แต่เบื้องลึกคงหวังยืมมือ “แดงกลับใจ” ประจาน “นายเก่า” เป็นการลดทอนกำลังการต่อสู้ของตระกูลชินวัตรในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ทำนองว่าค่อยค่อยบ่อนเซาะ ทั้งดูด ส.ส. เจ้าพ่อหัวเมือง – ชวน นปช.มาเป็นพวก สร้าง “ขบวนการแดงกลับใจ”
แต่เมื่อดูประวัติการเลือกตั้งเก่าๆ บรรดา ส.ส.ที่ตีจากไป ก็ต้องพึงสำเหนียกให้ดี กระทั่ง “ภิรมย์-เลขาสามมิตร” ที่เป็นโทรโข่งคนสำคัญแทน “สุริยะ-สมศักดิ์” ก็ต้องพึงสำเหนียกเสียงประชาชนให้ดี
จำได้ไหมว่า ในการเลือกตั้งปี 2554 เขตเลือกตั้งที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา “ภิรมย์ พลวิเศษ” พรรคภูมิใจไทย พ่ายแพ้ต่อ ส.ส.หน้าใหม่อย่าง “โกศล ปัทมะ” พรรคเพื่อไทย โดยมีคะแนนห่างกันถึง 16,880 คะแนน
ยี่ห้อ “พลวิเศษ” ไม่ได้แพ้ในเขต 5 จังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น แต่ยังแพ้ในเขตที่ 6 เมื่อ “อรทัย พลวิเศษ” ภรรยาของภิรมย์ พรรคภูมิใจไทย ลอยลำมาเป็นลำดับที่สาม ห่างจาก ผู้ชนะในเขตนี้ “สุชาติ ภิญโญ” จากพรรคเพื่อไทย โดยมีคะแนนห่างกันถึง 2 หมื่นคะแนน
แผนการ “สร้างนายกลูกอีสาน-ลูกหลานคนโคราช” นาม “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” คงไม่ได้ง่ายแบบที่ ผู้มีอำนาจ ประสงค์จะเห็น!!