องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการสูญเสียอาหารจากทั่วโลก (Global Initiative on Food Loss and Waste Reduction) ระบุว่า ทุกๆ ปีมี 1 ใน 3 ของอาหารบนโลกที่ผลิตมาสนองตอบการบริโภคของมนุษย์ หรือประมาณ 1.3 พันล้านตัน ต้องกลายเป็นอาหารเหลือทิ้งอย่างสูญเปล่า หรือเน่าเสียระหว่างการขนส่ง ซึ่งช่วงทศวรรษที่ผ่านมาตัวช่วยเก็บรักษาความสดใหม่ และยืดอายุอาหารให้ยืนยาวคือ ‘พลาสติก’
ต้องยอมรับว่า พลาสติกมีความสำคัญมากต่อการเก็บรักษาวัตถุดิบ ดังนั้น การยกเลิกพลาสติกสิ้นเชิงในอุตสาหกรรมอาหาร จึงมีนัยยะสำคัญยิ่งต่อจำนวนที่สูงขึ้นของอาหารเหลือทิ้ง หรืออาหารเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งอาหารเหลือทิ้งไปเปล่าๆ นั้น ทำให้โลกได้รับคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 3,300 ล้านตันต่อปี ยกตัวอย่างเช่น เนื้อวัวที่กลายเป็นขยะ 1 กิโลกรัม สามารถสร้างปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ได้เท่ากับการผลิตพลาสติกสำหรับห่อหุ้ม และรักษาเนื้อให้คงคุณภาพดีถึง 400 แผ่น
ทั้งนี้ บรรดาผู้ผลิตพยายามหันหน้าเข้าหากระบวนการรีไซเคิล แต่กลับเกิดกำแพงที่เรียกว่า ‘ความสับสน’ มาขวางกั้น เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ของอาหารแต่ละชนิดเต็มไปด้วยวัสดุหลากประเภท ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถแยกประเภทได้ ส่งผลให้พลาสติกที่ถูกนำไปรีไซเคิลจริงๆ มีแค่ขวด หรือกล่องเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ความจริงที่พลาสติกเป็นสาเหตุสำคัญในการทำร้ายระบบนิเวศน์ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง หลายฝ่ายจึงเฟ้นหาวิธีรักษาอาหารในแบบที่เป็นมิตรกับธรรมชาติมากขึ้น คำตอบของเรื่องจึงออกมาเป็น ‘บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน’ (Sustainable Packaging) ที่ใช้วัสดุทั้งหมดจากธรรมชาติ
บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนได้รับความนิยมขึ้นมาทันที เพราะสามารถนำมารีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะใช้วัสดุจากธรรมชาติหลากหลายประเภทเช่น อ้อย, ปาล์ม หรือถั่วเหลือง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพืชในอุตสาหกรรมหลักทั้งสิ้น
หากยึดเอาความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้ง ‘บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน’ ก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างน่าชื่นชม เมื่อกระบวนการผลิตพลาสติกที่ทำมาจากอ้อย (Bioplastics) จำนวน 200,000 ตัน สามารถลดการผลิตไดออกไซด์ได้มากถึง 800,000 ตัน ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับทรถยนต์รุ่นใหม่ 800,000 คัน จะผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
ความต้องการบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนของผู้บริโภค เพิ่มสูงขึ้นตามความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยรายงานจากแพ็คเกจจิ้งเวิลด์ (Packing World) บอกว่า 41 เปอร์เซ็นต์ของคนอเมริกันเห็นว่า บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน หรือบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า
รายงานชิ้นเดียวกันยังบอกว่า ชาวอเมริกันกว่า 100 ล้านคนเห็นตรงกันว่า การบริโภคสินค้าที่บรรจุภัณฑ์มีฉลากบ่งบอกว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้พวกเขารู้สึกมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เช่นเดียวกับในยุโรปที่บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนเข้ามามีบทบาทต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคมากขึ้น รายงานเรื่องการสำรวจข้อมูลเชิงลึกในการซื้อของของชาวยุโรป (European Shopper Insights Survey) เผยว่า ชาวอิตาเลียน 81 เปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มจะซื้อผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามมาด้วยชาวสเปน 75 เปอร์เซ็นต์ และน้อยสุดคือชาวเยอรมัน 62 เปอร์เซ็นต์ โดยค่าเฉลี่ยของทวีปยุโรปอยู่ที่ 72 เปอร์เซ็นต์
ออลลี อโบโทราบี (Olly Abotorabi) ผู้จัดการอาสุโสเรื่องข้อมูลเชิงลึกระดับภูมิภาคจากไออาร์ไอ (IRI) บริษัทวิจัยการตลาดจากสหรัฐฯ บอกว่า แพ็คเกจเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า นอกเหนือไปจากขนาด กลิ่น สี หรือราคา และเขายังให้ความเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า
“ผู้คนตระหนักมากถึงผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาบริโภค ทำให้ผู้ผลิตต้องเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น หากต้องการให้แบรนด์ของตนเองอยู่อันดับต้นๆ ในทุกการตัดสินใจของผู้บริโภค”
ที่มา: