ไม่พบผลการค้นหา
ไอร์แลนด์จัดลงประชามติหยั่งเสียงประชาชนว่าจะยกเลิกกฎหมายห้ามทำแท้งหรือไม่ โดยชาวไอริชที่อยู่ต่างประเทศจำนวนมากติดแฮชแท็ก #HometoVote ในสื่อโซเชียล ระหว่างเดินทางกลับบ้านเพื่อไปใช้สิทธิลงประชามติในประเด็นทางสังคมที่สำคัญ

เว็บไซต์ Irish Examiner สื่อของไอร์แลนด์ รายงานว่าประชาชนกว่า 3.2 ล้านคนลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิประชามติเรื่องการแก้ไขกฎหมายทำแท้ง ซึ่งจัดขึ้นอย่างเป็นทางการ วันนี้ (25 พ.ค.) โดยจะมีผู้ใช้สิทธิครั้งแรกกว่า 118,000 คน และจะทำให้การลงประชามติครั้งนี้เป็นการมีส่วนร่วมครั้งสำคัญของประชาชนรุ่นใหม่ที่จะได้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองเพื่อกำหนดประเด็นทางสังคม

คณะกรรมการจัดการลงประชามติของไอร์แลนด์ระบุว่า คูหาประชามติเปิดทำการตั้งแต่ 07.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น และจะปิดคูหาในเวลา 22.00 น. ส่วนผลสำรวจหน้าคูหา หรือเอ็กซิตโพลล์ จะประกาศในเวลาประมาณ 23.30 น. ก่อนที่จะเริ่มต้นนับคะแนนอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ และคณะกรรมการฯ ย้ำว่า ประชาชนทุกคนควรไปใช้สิทธิและแสดงเจตจำนงของตัวเอง ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือคัดค้านการยกเลิกกฎหมายห้ามทำแท้ง

สื่อไอริชระบุด้วยว่า เมืองที่ประชาชนลงทะเบียนว่าจะมาใช้สิทธิลงประชามติมากที่สุดจากการรวบรวมสถิติโดยหน่วยรัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศ พบว่าเขตเทศบาลกรุงดับลินจะมีผู้ใช้สิทธิมากที่สุด เพราะมีผู้ลงทะเบียนแสดงเจตจำนงว่าจะไปใช้สิทธิ 19,805 คน

Pro Choice สิทธิที่จะกำหนดชีวิต VS สิทธิที่จะมีชีวิต Pro Life

เว็บไซต์ The Guardian และ CNN รายงานว่าชาวไอริชที่อยู่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะในยุโรปหรือภูมิภาคอื่นๆ ต่างแสดงความกระตือรือร้นและติดแฮชแท็ก #HometoVote เพื่อแสดงความตั้งใจว่าจะเดินทางกลับไปใช้สิทธิลงประชามติที่บ้านเกิดในวันนี้ จนกลายเป็นแฮชแท็กยอดนิยมในทวิตเตอร์อยู่ช่วงหนึ่ง 

ประชามติไอร์แลนด์-ทำแท้ง-แก้ กม.

การเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนใช้สิทธิลงประชามติมีหลายรูปแบบ โดยฝ่ายรณรงค์โหวต Yes ซึ่งเห็นด้วยกับการยกเลิกกฎหมายห้ามทำแท้ง มองว่า ก.ม.ที่บังคับใช้อยู่นั้นล้าหลัง ไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ไม่เคารพสิทธิในการเลือกที่จะกำหนดชีวิตตัวเองของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ พร้อมชี้ว่า ผู้หญิงไอริชจำนวนมากได้รับอันตรายจากการทำแท้งเถื่อน บางรายต้องเดินทางไปทำแท้งที่อังกฤษ

กฎหมายห้ามทำแท้งในไอร์แลนด์มีการแก้ไขเมื่อปี 2558 โดยเพิ่มเติมเงื่อนไขที่ผ่อนผันให้ผู้หญิงที่มีอาการครรภ์เป็นพิษสามารถทำแท้งได้ แต่ยังมีบทลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้งด้วยเหตุผลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ กรณีไม่พร้อมเลี้ยงดูเด็ก หรือกรณีที่เด็กมีพัฒนาการผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์

ประชามติไอร์แลนด์-ทำแท้ง-แก้ กม.

ส่วนกลุ่มที่ต่อต้านการยกเลิกกฎหมายทำแท้ง รณรงค์ว่าเด็กในครรภ์มีสิทธิที่จะมีชีวิตเช่นเดียวกับแม่ของเด็ก ทั้งยังย้ำด้วยว่าหัวใจของตัวอ่อนในครรภ์จะเริ่มต้นตั้งแต่มีอายุได้ประมาณ 9-10 สัปดาห์ การทำแท้งในช่วงเวลาดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นการทำลายชีวิต

จะ Yes หรือ No ก็ต้อง 'ไปใช้สิทธิ' โหวต

ลีโอ วาราดคาร์ นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ ระบุว่าเขาจะไปใช้สิทธิโหวต 'เห็นด้วย' กับการยกเลิกกฎหมายห้ามทำแท้ง โดยย้ำว่าเขาไม่ได้เห็นด้วยกับการทำแท้งทั้งหมด "แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป" ซึ่งมีนัยบ่งชี้ว่ากฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยหรือวิถีชีวิตของประชาชนก็ต้องปรับเปลี่ยนในที่สุด

กลุ่มที่คัดค้านการยกเลิก ก.ม.ห้ามทำแท้งวิจารณ์นายกฯ วาราดคาร์ ว่าใช้โอกาสนี้ในการหาเสียงสร้างความนิยมให้ตนเอง แต่กลุ่มสนับสนุนการยกเลิก ก.ม.มองว่าการแสดงจุดยืนของวาราดคาร์เป็นภาพสะท้อนความรู้สึกของคนในสังคมที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงและเลือกให้เขามาเป็นผู้นำเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากวาราดคาร์เป็นผู้ลงสมัครท้าชิงตำแหน่งนายกฯ คนแรกที่กล้าประกาศตัวว่าเป็นชายรักชาย ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในไอร์แลนด์ ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์คาทอลิกเคร่งศาสนา

ทั้งนี้ วอชิงตันโพสต์ สื่อของสหรัฐฯ ระบุว่า ประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาส่วนมากได้แก้ไขรับรองการทำแท้งด้วยเหตุผลต่างๆ นอกเหนือจากกรณีที่ผู้ตั้งครรภ์เป็นอันตรายถึงชีวิต

ประชามติไอร์แลนด์-ทำแท้ง-แก้ กม.

โดย 60 ประเทศทั่วโลกอนุญาตให้สถานพยาบาลทำแท้งแก่ผู้ที่อยู่ในเงื่อนไขที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ เช่น ถูกข่มขืน เด็กในครรภ์มีพัฒนาการผิดปกติ การตั้งครรภ์ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตของผู้ตั้งครรภ์ และกรณีที่ผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมเลี้ยงดูทารก รวมถึงเหตุผลด้านสภาพร่างกายและเหตุผลทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเทศและนครรัฐที่บังคับใช้กฎหมายห้ามทำแท้งเกือบทุกกรณี ได้แก่ เอลซัลวาดอร์ นิคารากัว ชิลี มอลตา และนครรัฐวาติกัน โดยเอลซัลวาดอร์มีบทลงโทษผู้ทำแท้งรุนแรงที่สุด คือ จำคุก 30 ปี แม้ว่าผู้ที่ตั้งครรภ์จะมีอาการครรภ์เป็นพิษก็ไม่สามารถทำแท้งได้ ทำให้ในแต่ละปีมีผู้หญิงเอลซัลวาดอร์ติดคุกด้วยสาเหตุนี้เป็นจำนวนมาก

ในกรณีของประเทศไทย กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้เพื่อรักษาชีวิตหรือสุขภาพร่างกายของแม่เด็ก

ที่มา: The Guardian/ CNN/ Irish Examiner/ Washington Post

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: