อ๊อกแฟมออกรายงานการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำประจำปี 2018 ระบุว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยประชากรร่ำรวยทั่วโลก 1 เปอร์เซ็นต์ เป็นเจ้าของทรัพย์สินกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก ขณะที่คนจนก็ไม่สามารถสะสมทุนจจนร่ำรวยขึ้นมาได้
รายงานของอ๊อกเเฟมยังระบุว่า ในอาเซียน อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง โดยมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ การพยายามสร้างความเท่าเทียมภายในประเทศ ด้วยการเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณะสุข การจัดทำสวสัดิการแห่งรัฐในการช่วยเหลือด้านรายได้แก่ประชาชน
“เด็กหลายคนตายจากโรคที่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณด้านสาธารณสุข ขณะที่บริษัทใหญ่ๆและมหาเศรษฐีที่มีรายได้หลายพันล้านกำลังหลีกเลี่ยงภาษี”
ในขณะที่ประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดอย่างสิงคโปร์กลับล้มเหลวในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ โดยในรายงานกล่าวว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่มีการประกันรายได้ค่าแรงขั้นต่ำ และนโยบายเรื่องสิทธิแรงงานระหว่างชายและหญิงยังมีคงมีความเหลื่อมล้ำสูง รัฐบาลใช้งบประมาณเพียงแค่ 39 เปอร์เซ็นต์เท่าในในการใช้จ่ายด้านการศึกษา สาธารณสุขและการสร้างความปลอดภัยในสังคม เทียบเท่ากับลาวที่ถูกจัดอันดับอยู่ในลำดับที่ 150 จาก 157ประเทศทั่วโลกที่มีการประเมินความเหลื่อมล้ำ
ขณะที่เกาหลีใต้และไทยมีการใช้จ่ายงบประมาณสาธารณะทางสังคมถึง 50 เปอร์เซ็นของงบประมาณทั้งหมด
สำหรับประเทศไทยในรายงานชิ้นนี้กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำในระดับปานกลาง โดยอยู่ในลำดับที่ 74 เทียบเท่ากับมาเลเซียจาก 157 ประเทศทั่วโลก โดยไทยได้คะแนนด้านงบประมาณสาธารณะที่รัฐจ่ายให้กับประชาชนอยู่ในลำดับที่ 56จากประเทศต่างๆ แต่สำหรับนโยบายการจัดเก็บภาษีและความเหลื่อมล้ำจากเรื่องค่าแรงนั้น ประเทศไทยยังถือว่ามีความเหลื่อมล้ำสูง โดยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 112 จาก 157 ประเทศ
ขณะที่ประเทศในยุโรปอย่างเดนมาร์ก เยอรมัน ฟินแลนด์ ออสเตรีย นอร์เวย์ ถูกประเมินว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราความเหลื่อมล้ำต่ำ โดยเฉพาะเดนมาร์กที่ได้รับการยกย่องว่า มีนโยบายการจัดเก็บภาษีที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก รวมไปถึงนโยบายที่มีต่อแรงงานและการปกป้องผู้หญิงในสังคมการทำงานที่ดีที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน
ทางอ๊อกแฟมยังเตือนผู้นำทั่วโลกว่า โลกกำลังเข้าสู่ความเสี่ยงในการลดความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2030 และควรมีการจัดทำแผนพัฒนาเพื่ออุดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำนี้จากนโยบายการจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้าและมาตรการลดภาษีต่างๆ
วินนี่ ไบยานิมา ผู้อำนวยการอ๊อกแฟมกล่าวว่า “เด็กหลายคนตายจากโรคที่สามารถป้องกันได้เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณด้านสุขภาพ ขณะที่บริษัทใหญ่ๆและมหาเศรษฐีที่มีรายได้หลายพันล้านกำลังหลีกเลี่ยงภาษี”