ไม่พบผลการค้นหา
จะเป็นอย่างไร หากตัวละครในนวนิยายเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ของศรีบูรพา มีชีวิตขึ้นมาจริง และ ‘นพพร’ ยังคงระลึกถึงรักครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับ ‘หม่อมราชวงศ์กีรติ’ จนสร้าง ‘มิวเซียม ออฟ กีรติ’ มาเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำ

“ความรักของเธอเกิดขึ้นที่นั้นแล้วก็ตายที่นั้น แต่ของอีกคนหนึ่งกำลังจะรุ่งโรจน์ในร่างที่กำลังจะแตกดับ” คือคำตัดพ้อของหม่อมราชวงศ์กีรติ ที่มีต่อหนุ่มน้อยนพพรจาก ‘ข้างหลังภาพ’ นวนิยายเรื่องดังโดยศรีบูรพา แต่หากคุณหญิงมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ เธออาจสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของนพพรที่ยังคงหวนระลึกถึงเธอ จนสร้าง ‘มิวเซียม ออฟ กีรติ’ ขึ้นมา ณ ย่านสาทร

แต่ในโลกแห่งความจริง หลายคนคงทราบดีว่าทั้งคู่เป็นเพียงตัวละครในเรื่องแต่ง และมิวเซียมแห่งนี้ก็เป็นผลงานชิ้นล่าสุดของศิลปินรุ่นใหม่ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ซึ่งต้องการนำนวนิยายชื่อดังเรื่องนี้มาตีความในรูปแบบของตัวเอง พร้อมตั้งคำถามกับสังคม


นพพรเหมือนกับว่าเทิดทูน บูชากีรติในฐานะที่เป็นสตรีที่มีความดีงาม สูงส่ง ในแง่นั้นก็เป็นความรักอีกแบบที่ไม่ใช่ในเชิงชู้สาว แต่เป็นความรักที่ศรัทธาและเชื่อในความดีงามที่มันสมบูรณ์แบบ


“มิวเซียม ออฟ กีรติ เป็นมิวเซียมที่นพพร ตัวละครข้างหลังภาพ สร้างอุทิศให้คุณหญิงกีรติ เหมือนเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่กีรติจะได้มีชีวิตอยู่เป็นนิรันดร์ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้” จุฬญาณนนท์กล่าว “คำถามคือเราจะเข้าใจตัวละครกีรติผ่านความทรงจำของนพพร แล้วมันเป็นความทรงจำที่เกิดขึ้นจริงหรือเปล่า หรือเป็นความทรงจำที่ถูกคัดสรรเพื่อให้เราเชื่อว่าเป็นกีรติจริง ๆ มันมีส่วนไหนที่ถูกคัดออก ส่วนไหนที่ถูกคัดเลือกมาเพื่อที่จะแสดงในมิวเซียมนี้บ้าง เพราะมันพูดถึงความเป็นจริงว่า ประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีต เราเข้าใจมันอย่างไร มันถูกคัดเลือกหรือคัดสรรให้เราเชื่อ แบบที่คนมีอำนาจบอกให้เราเชื่อว่ามันเป็นแบบนั้นหรือเปล่า”

นิทรรศการเดี่ยวลำดับที่สามของศิลปินรุ่นใหม่ผู้เป็นที่รู้จักในวงการภาพยนตร์ แบ่งออกเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกเป็นการจัดแสดงแบบชั่วคราว (Temporary exhibition) ประกอบด้วยภาพวาดสีน้ำบนกระดาษโชจิจำนวน 13 ภาพ และภาพยนตร์ความยาว 40 นาที ‘Behind the Painting’ ที่เล่าเรื่องตามนวนิยายต้นฉบับ แต่มีการปรับบางส่วนให้เข้ายุคปัจจุบัน ซึ่งงานนี้เคยจัดแสดงแล้วที่นิทรรศการครั้งก่อนในปี 2558


สำหรับส่วนที่สองเป็นการจัดแสดงแบบถาวร (Permanent exhibition) ที่ประกอบด้วย “ภาพไม่นิ่ง” ของหม่อมราชวงศ์กีรติในหลากอิริยาบถ ทั้งยามพักผ่อน วาดภาพ ร้อยมาลัย รูปคู่กับบิดา หม่อมเจ้ากิตติพัฒนภูวดล รูปคู่กับนพพร รวมถึงประติมากรรมสำริด และเข็มกลัดภาพเหมือนกีรติ

จุฬญาณนนท์เล่าว่า ประทับใจโศกนาฎกรรมความรักของสองตัวละคร หลังได้ดูภาพยนตร์ ‘ข้างหลังภาพ’ ฉบับเชิด ทรงศรี ที่ออกฉายในปี 2544 แต่เมื่อได้อ่านบทความวิเคราะห์ด้านวรรณกรรม จึงค้นพบว่านวนิยายเรื่องนี้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยเช่นกัน

“จากการที่อ่านบทวิเคราะห์ว่า นพพรคือคนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตยและจะขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต ขณะที่กีรติคือคนรุ่นเก่าซึ่งมีชีวิตก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง และกำลังจะตายลง มันคือความขัดแย้งระหว่างสองตัวละครในยุคที่ศรีบูรพาเขียนนิยายเรื่องนี้ขึ้น แต่ในปัจจุบันเราเห็นความสัมพันธ์ของสองชนชั้นที่มันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ชนชั้นกลางในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองถูกพัฒนาขึ้นและไม่ได้ขัดแย้งกับชนชั้นนำ แต่ในขณะเดียวกันมันมีการเอื้อประโยชน์ หรือมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เห็นได้จากกลุ่มชนชั้นกลางที่ออกมาต่อต้านเพื่อชนชั้นนำ เช่น อย่างที่เห็นก็ PDRC กปปส. อะไรอย่างนี้ เราอยากพูดตรงประเด็นนี้ ในแง่ภูมิศาสตร์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป”



มิวเซียม ออฟ กีรติ Museum of Kirati


ในภาพยนตร์ ‘Behind the Painting’ จุฬญาณนนท์สวมบทบาทเป็นทั้งคุณหญิงกีรติและนพพร เพื่อถ่ายทอดหลากหลายประเด็น ซึ่งภาพยนตร์รีเมคชิ้นนี้ ส่วนหนึ่งถ่ายทำระหว่างที่เขาเป็นศิลปินในพำนักที่จังหวัดอะโอโมริ ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลาสองเดือน

“เราเลือกที่จะเอาตัวเองเข้าไป perform (แสดง) เป็นทั้งนพพรและกีรติ เพื่อที่จะให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสองตัวละครนี้ว่าจริง ๆ มันไม่ได้ขัดแย้งกัน เพราะในตัวกีรติก็มีนพพร ในตัวนพพรก็มีกีรติ ที่มันเอื้อประโยชน์หรือมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน” ศิลปินรุ่นใหม่วัย 31 ปีกล่าว “เราคิดว่าเราคือผลผลิตของสังคมไทยที่มันเกิดขึ้นในช่วง 80 ที่ชนชั้นกลางกับชนชั้นนำเอื้อประโยชน์ต่อกัน เราก็เลยเลือกตัวเองมาเป็นเครื่องมือในการนำเสนอ”

ด้วยความตั้งใจของจุฬญาณนนท์ในฐานะ ‘นพพร’ ที่จะ ‘ปลุก’ คุณหญิงกีรติให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เขาจึงนิมนต์พระสงฆ์ห้ารูปมาทำพิธีเปิด ‘มิวเซียม ออฟ กีรติ’ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน

“ตอนแรกพระก็เข้าใจว่ามาเปิดมิวเซียม แต่พอพระเดินเข้าไปดูผลงานก็มีคำถามกับเราว่า ตอนนี้คุณหญิงยังมีชีวิตอยู่ไหม คุณหญิงมีชีวิตจริง ๆ หรือเปล่า ท่านเองก็ไม่ได้พูดออกมาว่า ท่านเป็นตัวละครในหนัง แต่ว่าลึก ๆ เราว่าท่านอาจเข้าใจว่าอันนี้เป็นเซตติ้งของฉาก และท่านเองก็อยู่ก้ำกึ่งระหว่างการที่ท่านมาทำพิธีเปิดมิวเซียมจริง ๆ กับการที่ท่านมาเป็นตัวละครหนึ่งของเราในการสร้างมิวเซียม” เขาเล่า

“คือทุกอย่างมีความก้ำกึ่งระหว่างความเป็นฟิกชัน (เรื่องแต่ง) กับความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้นอยู่แล้ว ตั้งแต่ตัวนวนิยายของศรีบูรพาเองที่มันมีความเป็นฟิกชัน แต่ก็อ้างอิงถึงประวัติศาสตร์การเมืองในยุคนั้น พอเรารีเมกหนังเรื่องนี้ เราก็ based อยู่กับความเป็นจริงด้วยและอ้างอิงถึงการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน” จุฬญาณนนท์กล่าว “อีกเลเยอร์นึงคือเราเปลี่ยนแกลอรีที่มีอยู่จริงให้กลายเป็นมิวเซียม ซึ่งตรงนี้เราว่ามันเป็นอีกฟิกชันนึงที่อยู่นอกเหนือไปจากภาพยนตร์แล้ว แต่เป็นฟิกชันที่อยู่บนพื้นที่จริง ดังนั้นผู้ชมที่เข้ามาชมงานเลยรู้สึกว่านี่เรากำลังดู exhibition ของจุฬญาณนนท์อยู่หรือเปล่า หรือว่าผู้ชมเข้ามาดูมิวเซียมของนพพรจริง ๆ”

นอกจากทำพิธีเปิดมิวเซียมแล้ว พระสงฆ์ยังเจิมประติมากรรมสำริดที่หล่อเป็นรูปคุณหญิงกีรติ ซึ่งถือเป็นการคืนชีวิตให้กับสตรีผู้เพียบพร้อมอย่างสมบูรณ์

“การที่จะสร้างให้ประติมากรรมกีรติกลับมามีชีวิตอีกครั้งเหมือนกับต้องมีพิธีกรรมอะไรบางอย่างที่จะเอาชีวิตกลับเข้าไปสู่ประติมากรรมที่ทำจากดิน จากธาตุ จากบรอนซ์ เราเลยเลือกที่จะมีพิธีกรรมทางศาสนาขึ้น เหมือนร่างกายกับจิตวิญญาณผนวกเข้าหากัน ถึงแม้ว่าประติมากรรมจะขยับไม่ได้ แต่พอผ่านพิธีกรรม เราคิดว่ามันคือประติมากรรมที่มันมีชีวิตขึ้นมา ซึ่งมันเข้ากันได้กับสื่อวีดิโอหรือภาพเคลื่อนไหวที่เลือกใช้มาโดยตลอด”

และดูเหมือนว่าการ ‘ชุบชีวิต’ หม่อมราชวงศ์กีรติจะได้ผล เมื่อมีผู้นำภาพประติมากรรมดังกล่าวไปโพสต์เล่าว่า หากใครบูชารูปปั้นนี้จะได้คนรักที่อายุน้อยกว่า จนมีคนเชื่อและแชร์ไปเกือบ 300 ครั้งในวันแรก แม้ว่าตามนวนิยายแล้ว คุณหญิงกีรติจะถือได้ว่าเป็น ‘พญานก’ ผู้อาภัพรักจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

“การที่มีคนมาดูงานและสร้างอีกฟิกชันนึงขึ้นมาซึ่งแตกต่างไปจากความตั้งใจของเรา เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่ถูกแตกยอดออกไปแล้วสะท้อนถึงความต้องการของคนทั่วไปว่าจริง ๆ แล้วอยากได้ใครสักคนที่มาดูแลกันและกัน แล้วประติมากรรมนี้ก็ตอบโจทย์ความต้องการทางด้านจิตใจของคนส่วนใหญ่ได้” จุฬญาณนนท์กล่าว “เพื่อความสบายใจของทุกท่านที่อยากจะมีสามีที่อ่อนวัยกว่า 10 ปีหรือ 15 ปี ก็สามารถมาขอพรกับประติมากรรมกีรติได้ ยินดีครับ”

เมื่อชมนิทรรศการแล้ว ดูคล้ายกับว่านพพรจะยังคงฝังใจกับหม่อมราชวงศ์กีรติผู้สมบูรณ์แบบ และงดงามอยู่เหนือกาลเวลา จึงอดสงสัยไม่ได้ว่านพพร ‘รัก’ คุณหญิงจริงหรือไม่

“ถ้าในตัวนิยาย เราคิดว่าความรักของนพพรอาจไม่ได้เป็นความรัก อาจเป็นแค่ความต้องการในตอนแรก แต่ว่าหลังจากคุณหญิงตายไปแล้ว การที่นพพรสร้างความทรงจำถึงคุณหญิงกีรติ เราคิดว่ามันมีนัยยะอะไรบางอย่างที่ซับซ้อนไปกว่าแค่ความรักแบบหนุ่มสาว” จุฬญาณนนท์อธิบาย “สิ่งที่เราสร้างขึ้นเป็นมิวเซียม นพพรเหมือนกับว่าเทิดทูน บูชากีรติในฐานะที่เป็นสตรีที่มีความดีงาม สูงส่ง ในแง่นั้นก็เป็นความรักอีกแบบที่ไม่ใช่ในเชิงชู้สาว แต่เป็นความรักที่ศรัทธาและเชื่อในความดีงามที่มันสมบูรณ์แบบ นี่คือสิ่งที่เราคิดว่านพพรจะคิด”



มิวเซียม ออฟ กีรติ Museum of Kirati

แต่หากถามความเห็นของจุฬญาณนนท์ ในฐานะศิลปิน ก็จะได้คำตอบที่แตกต่างออกไป

“ถ้าเรามองนพพรอีกที เราคิดว่า ก็อาจเป็นเรื่องไม่ค่อย make sense เท่าไร เพราะว่าเราก็ตั้งคำถามถึงความสมบูรณ์แบบหรือความดีงามมาโดยตลอดอยู่แล้วว่าอะไรคือความจริงแท้ หรือความดีงามที่คนทั่วไปคิดว่ามันจริง เราตั้งคำถามกับมาตรฐานหรือสิ่งเหล่านี้ตลอดอยู่แล้ว แต่เรา perform เป็นนพพร เราก็ต้องทำในแง่ที่ว่าเราคือนพพร เราไม่สามารถทำในแง่ที่ว่าเราคือจุฬญาณนนท์ได้”

ไม่ว่าแท้จริงแล้วนพพรจะรู้สึกอย่างไรกับคุณหญิงกีรติ ก็ยากจะปฏิเสธว่า ‘มิวเซียม ออฟ กีรติ’ จะกระตุ้นเตือนความทรงจำของผู้ที่ได้มาเยือน และชวนให้ร่วมตีความจากหลากหลายมุมมอง ซึ่งจะช่วยให้เธอนั้นไม่ถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา

ร่วมรำลึกถึงหม่อมราชวงศ์กีรติได้ใน ‘มิวเซียม ออฟ กีรติ’ เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ จนถึงวันที่ 21 มกราคมนี้ ที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ สาทร ซอย 1

ภาพจาก: Bangkok CityCity Gallery


ร่วมสำรวจ 'มิวเซียม ออฟ กีรติ' ได้ในคลิปนี้: