ในงานเสวนาทางวิชาการ “ปรากฏการณ์ตูน : ภาพสะท้อนระบบสาธารณสุขไทย” จัดโดยคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 7 ธ.ค ว่า การที่ประชาชนส่วนหนึ่งให้ความสนใจกับการวิ่งของนายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม ขอบริจาคจากประชาชนทั่วไปคนละ 10 บาทเพื่อระดมทุนให้ได้ 700 ล้านบาทช่วยเหลือโรงพยาบาลศูนย์ 11 แห่งทั่วประเทศซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ภายใต้โครงการ “ก้าวคนละก้าว” โดยวิ่งจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ถึงอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายนั้น
รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุว่าในมุมมองทางสังคมวิทยาแล้ว มองได้ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ฉาบฉวยและเป็นไปตามกระแส ไม่ได้มีการค้นหาข้อมูลข้อเท็จจริงว่าตูน บอดี้สแลมกำลังทำอะไร หลายคนชอบเซลฟี่ ชอบออกสื่อ หรืออย่างน้อยได้ถ่ายรูปแล้วโพสต์รูปก็พอใจแล้ว แต่ไม่ได้คิดว่า ตูน บอดี้สแลมมาวิ่งเพื่อระดมทุนซึ่งโจทย์ที่ลึกว่านั้นคือเพื่อต้องการกระตุ้นให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหาการคลังเรื่องสาธารณสุขขึ้นใหม่ ขณะที่ภาพด้านบวกนั้นก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนที่อยากเจริญรอยตามทั้งในด้านอาชีพที่เป็นศิลปินที่ให้ความหวังและโอกาส
ผมเชื่อว่าหลายคนไม่รู้ รู้แค่ว่าพี่ตูนวิ่งมาแล้ว ขอเซลฟี่หน่อย ขอร่วมบริจาคหน่อย ขอต่อเงินให้ยาวหน่อย เรารับรู้ปรากฎการณ์ทางสังคมแบบฉาบฉวย นี้คือสังคมไทย
ขณะที่ ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวตั้งแต่การวิ่งบางสะพานต่อเนื่องมาถึงโครงการก้าวคนละก้าวชี้ให้เห็นถึงปฏิกิริยาของผู้บริหารในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยในช่วงที่มีโครงการวิ่งเพื่อระดมทุนให้กับโรงพยาบาลบางสะพาน ปฏิกิริยาของผู้บริหารบางคนออกมาบอกว่า ทรัพยากรในระบบมีเพียงพอ แต่ในความจริงทรัพยากรมีไม่เพียงพอและกระจายอย่างไม่เป็นธรรม
แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีเสียงออกมาว่า การที่ตูน บอดี้สแลมวิ่งเป็นตัวอย่างที่ดีและมีเสียงสนับสนุนตามมา ทั้งนี้ยังมีผู้บริหารบางส่วนก็พร้อมโหนกระแสในเรื่องของการทำดีและประชารัฐ โดยที่ไม่ได้ไปต่อว่าภาครัฐว่าทำไมไม่ให้การสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพให้เพียงพอ ขณะเดียวกันในส่วนของฝ่ายค้านสวัสดิการสังคมก็ใช้เป็นเหตุผลเพื่อสนับสนุนการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม การวิ่งของตูน บอดี้สแลมทำให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุข รวมทั้งช่องทางการพัฒนานโยบายเพื่อเอื้อต่อการระดมทรัพยากรจากนอกระบบ ขณะเดียวกันระบบราชการก็ควรจะมองเรื่องของสุขภาพเป็นปัญหาของสังคมและจำเป็นที่ต้องหาทางแก้ร่วมกันกับปัญหาด้านอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่น ประเด็นผู้พิการหรือผู้สูงอายุ หรือแม้แต่งบประมาณของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ยังขาดกลไกที่จะนำมาใช้ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน รศ.ดร.ศิริเพ็ญ ศุภกาญจนกันติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจากการคาดการณ์ภาระทางการคลังของ 3 ระบบหลักประกันสุขภาพไทย พบว่า งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคมและประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2558 มีประมาณ 259,543 ล้านบาท และอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,521,512 ล้านบาทในปี 2606 หรือเพิ่มขึ้น 5.9 เท่าของปี 2558 เนื่องจากภาวะสังคมผู้สูงอายุซึ่งในการจะหางบประมาณจำนวนมากขนาดนั้นมาสนับสนุนภาระทางการคลังของระบบสาธารณสุขนั้นเป็นไปยากมากยกเว้นเศรษฐกิจของไทยจะเจริญเป็นประเทศที่มีรายได้สูงมาก
“อันนี้เป็นคำตอบว่าทำไมพี่ตูนต้องวิ่ง เพราะว่า ระบบมันมีเงินไม่พอ โรงพยาบาลก็จะไม่มีงบประมาณ มีแต่ค่าใช้จ่ายในเรื่องของการดูแล แต่ไม่มีงบลงทุน งบลงทุนหายไปเพราะถูกผลักให้มาเป็นงบดำเนินการทั้งหมด ดังนั้นเมื่อรัฐไม่มีเงิน ปรากฎว่า โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งไม่มีเงินลงทุนซื้อเครื่องมือใหม่หรือสร้างตึกใหม่ และหากดูสัดส่วนรายจ่ายที่เป็นรายจ่ายภาครัฐ ขณะนี้ 10.4 เปอร์เซต์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 30 เปอร์เซนต์ ขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงรัฐบาลจ่ายไม่ถึง 20 เปอร์เซนต์” รศ.ดร.ศิริเพ็ญ กล่าว