ไม่พบผลการค้นหา
กรมการแพทย์เผยพบงานวิจัยรองรับและอนุญาตให้ใช้กัญชารักษาโรคในต่างประเทศ แต่ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย บูรณาการและส่งเสริมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องค้นคว้าวิจัยให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากกัญชาอย่างแท้จริง

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์และประธานคณะทำงานเพื่อพิจารณากัญชามาใช้ทางการแพทย์ กล่าวว่า ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความสนใจและห่วงใยประเด็นข่าวการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์อย่างเหมาะสม ข้อมูลที่ถูกต้องคือ สารสกัดจากกัญชาในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสมสามารถนำมาใช้รักษาโรคได้ ซึ่งในหลายประเทศใช้สารสกัดกัญชาในทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย

โดยโรคที่มีหลักฐานทางวิชาการวิจัยสนับสนุนชัดเจนว่ากัญชามีประโยชน์ในการรักษา ได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดแล้วคลื่นไส้อาเจียน โรคลมชักในเด็กที่รักษายากหรือลมชักที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีต่างๆ และผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งที่มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเส้นประสาทที่รักษาด้วยวิธีการต่างๆ แล้วไม่ได้ผล สารสกัดจากกัญชาอาจจะช่วยบรรเทาอาการปวดของผู้ป่วยลงได้ 

แต่การนำมาใช้ต้องอยู่ภายใต้ดุลพินิจของแพทย์และเงื่อนไขผู้ป่วยเป็นกรณีไป เพราะกัญชาเป็นยาเสพติดที่ออกฤทธิ์แบบผสมผสาน ทั้งกระตุ้นประสาท กดประสาท และหลอนประสาท ซึ่งในสารสกัดของกัญชามีสาร Tetrahydrocannabino (THC) ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและระบบประสาท เมื่อเสพกัญชาสาร THC จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสมองอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดโทษและอาการไม่พึงประสงค์ได้ โดยอาการพบได้บ่อย ได้แก่ ซึมเศร้า สับสน ประสาทหลอน กระสับกระส่าย ตื่นเต้น เวียนศีรษะ ปากแห้ง เป็นต้น 

สิ่งสำคัญของการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ คือ การคำนึงถึงประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นหลักและอาการไม่พึงประสงค์ต้องเป็นที่ยอมรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำกัญชามาใช้ในเด็กต้องใช้อย่างระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจส่งผลต่อการพัฒนาทางสมองของเด็ก

ทั้งนี้ สารสกัดกัญชา ขนาด และปริมาณที่ใช้ต้องถูกต้องตามข้อมูลวิชาการสนับสนุน ซึ่งในอนาคตหากประเทศไทยสามารถปลูกกัญชาเพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์ได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาที่เป็นสารสกัดหรือสารสังเคราะห์กัญชาจากต่างประเทศลงได้ รวมถึงยาอื่นๆ ที่สามารถใช้กัญชารักษาแทนได้เช่นกัน

สำหรับกรณีกัญชาหรือน้ำมันกัญชาใช้ได้ดีในการรักษามะเร็ง ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือเพียงพอสนับสนุนประเด็นดังกล่าว ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ ได้ทำการศึกษาวิจัยในการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในประเด็นของมะเร็งและโรคอื่นๆ ต่อไป

อธิบดีกรมการแพทย์ ย้ำว่า กรมการแพทย์เป็นกรมวิชาการ มีความมุ่งมั่นให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษา อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความปลอดภัย สามารถลดอาการเจ็บป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สำหรับประเด็น การนำกัญชามาใช้รักษาปัญหาด้านสุขภาพจิต อาทิ สมองเสื่อม ซึมเศร้า โรควิตกกังวล นั้น ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างรอรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ทั้งนี้ คณะทำงานเพื่อพิจารณากัญชามาใช้ทางการแพทย์ยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อการดำเนินการให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการรักษาด้วยกัญชาอย่างแท้จริง