ไม่พบผลการค้นหา
ถือเป็นเรื่องดีที่ผู้คนยังให้ความสนใจข่าว “คดีทุ่งใหญ่ 61” กรณีเปรมชัย กรรณสูต ซีอีโอบริษัทก่อสร้างแสนล้านกับพวก เข้าป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกเพื่อล่าสัตว์ ทั้งๆ ที่เวลาผ่านไปจะครบเดือนแล้ว  แสดงให้เห็นว่า คำพูดที่ว่า “คนไทยลืมง่าย” ไม่จริงเสมอไป

แต่ท่ามกลางเรื่องดีๆ แบบนี้ กลัวมีสิ่งที่ชวนกังวล และอยากให้มาหยุดตั้งสติกันในหลายๆ ประเด็น ผมจะลองไล่ไปทีละประเด็น เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

1. ทำไมเปรมชัยยังไม่ถูกออก “หมายจับ” ถ้าหนีไปจะทำอย่างไร?

ต้องยอมรับที่มาของคำถามนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากสื่อบางสำนักที่ไปอธิบายเป็นฉากๆ หวังกดดันตำรวจให้เร่งจับกุม “พรานบรรดาศักดิ์” รายนี้ ด้วยข้อมูลที่เกิดจากความเข้าใจผิดทั้งในเชิงข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง

คดีนี้ ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกตำรวจ สภ.ทองผาภูมินำตัวส่งฟ้องศาลไปตั้งแต่วันแรกๆ ที่จับกุม โดยเปรมชัยกับพวกขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ 150,000 บาท คดีนี้จึงถือว่าอยู่ใน “อำนาจของศาล” แล้ว ตามกฎหมาย จำเลยทุกคนจะต้องมารายงานตัวเมื่อครบผัดฟ้อง คือทุกๆ 12 วัน แต่เนื่องจากศาลจังหวัดทองผาภูมิอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ศาลจึงอนุญาตให้มาปรากฏตัวเมื่อครบผัดสุดท้ายทีเดียว คือในวันที่ 26 มี.ค.

ส่วนการมาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน ที่เคยขอเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง และบิ๊กตำรวจออกมาขู่ว่า หากไม่มาอีก จะไปยื่นขอให้ศาลออกหมายจับและถอนประกันตัว ที่สุดเจ้าตัวก็มาเข้าพบพนักงานสอบสวนแล้ว ในช่วงเช้าของวันที่ 2 มี.ค.

การดำเนินคดีในศาลอาญา มีขั้นตอนของมันอยู่ หากเปรมชัยไม่มาตามนัด สักวันจะต้องถูกออก “หมายจับ” แน่ๆ อยู่แล้ว

2. ทำไมถอนข้อหา “ทารุณกรรมสัตว์” ออก ตั้งใจจะช่วยกันใช่หรือไม่?

มาตรา 3 ใน พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 อาจทำให้หลายคนสับสนว่าเหตุใดถึงใช้ยื่นฟ้องเปรมชัยกับพวกในคดีนี้ไม่ได้ ทั้งที่นิยามคำว่า “สัตว์” ตาม พ.ร.บ.นี้ นอกจากสัตว์เลี้ยง ยังรวมถึง “สัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ” ด้วย

หากย้อนไปดูร่างแรกของกฎหมายนี้ จะเขียนไว้ชัดเจนว่า ให้ใช้กับเฉพาะ “สัตว์เลี้ยง” ไม่รวมถึง “สัตว์ป่า” ทั้งที่เป็นสัตว์สงวนและสัตว์คุ้มครอง โดยมียกตัวอย่างด้วยว่า สัตว์เลี้ยงที่ พ.ร.บ.จะคุ้มครองมีอะไรบ้าง เช่น หมา แมว วัว ควาย ม้า หมู เป็ด ไก่ ฯลฯ

แม้ร่างสุดท้ายจะมีการรวบคำให้กระชับขึ้น และเติมข้อความให้รวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติด้วย แต่สัตว์ที่ว่าจะต้องให้ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศมากำหนดก่อนว่าหมายถึงสัตว์ชนิดใดบ้าง (ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีประกาศทีว่าแม้แต่ฉบับเดียว)

การถอนฟ้องข้อหานี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่การภาคทัณฑ์ร้อยเวรที่รับฟ้อง หลายคนก็มองว่าผู้บังคับบัญชาทำเกินกว่าเหตุไปหน่อย

3. ทำอย่างไรเสือดำถึงจะไม่ตายฟรี คนรวยจะไม่ติดคุกอีกแล้วใช่หรือไม่?

เหตุที่หลายคนมีอารมณ์โกรธมากๆ เมื่อข่าวอ่านคดีนี้ ส่วนลึกในหัวใจคงเชื่อว่า ที่สุดแล้ว “เปรมชัยจะไม่ติดคุก” ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ สำนวนอ่อน มีคนแอบช่วย หรือหนีไปต่างประเทศ

ที่มาของความเชื่อดังกล่าว เกิดจากการเป็นอาชีพ “ต้นทุนต่ำ” อยู่แล้ว ของตำรวจ (ไม่ต่างจากสื่อมวลชน) และผลการทำคดีหลายๆ คดีก็ยิ่งทำให้สังคมไม่ไว้วางใจตำรวจ ยิ่งมีเคสล่าสุดกรณีหวย 30 ล้านบาท ที่ตำรวจระดับผู้การจังหวัดถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจมิชอบในการแก้ไขสำนวน

ผมมักพูดอยู่บ่อยๆ ว่า กระแสสังคมหรือ “ดราม่า” จะช่วยให้ประเด็นปัญหาใดๆ เป็นที่พูดถึงในสังคม แต่การจะแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างแท้จริง ต้องว่ากันด้วย “ข้อกฎหมาย” และ “ข้อเท็จจริง”

กระบวนการยุติธรรม ต้องใช้เวลา เพราะโดยหลักการต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็น “ผู้บริสุทธิ์”

สิ่งที่คนทั่วๆ ไปซึ่งมีโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือพอจะทำได้ และทำได้ง่ายๆ เลย ก็คืออย่าหยุดสนใจ พูดถึงบ่อยๆ มีข่าวก็ตามแชร์ ไม่มีข่าวก็ตั้งคำถามว่า ข่าวหายไปไหน

เชื่อหรือไม่ว่า คดีที่ถูกอ้างถึงกันบ่อยๆ อย่างคดีทายาทกระทิงแดง ส่วนที่ทำให้ทั้งตำรวจและอัยการเผชิญแรงกดดัน จนขีดเส้นตายให้ผู้ต้องหามามอบตัว ก่อนที่สุดท้ายจะตัดสินใจหนีไปอยู่ต่างประเทศ (และกดดันอีกทีให้ขอตำรวจสากลออกหมายจับ) ก็มาจาก “พลังของโซเขียลมีเดีย” นั่นเอง

ถ้าอยากให้เสือดำไม่ตายฟรี คณะพรานไฮโซต้องถูกลงโทษ พลังอยู่ในมือของทุกคน แต่ใช้ให้ถูกทาง ดราม่าได้ แต่อยู่บนพื้นฐานของข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริง



พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog