ภาพยนตร์ Bohemian Rhapsody กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ยากมากเหลือเกิน สำหรับแฟนๆ ที่ติดตามการสร้างหนังเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น หลายคนแทบจะถอดใจ เพราะปัญหามากมายที่เกิดขึ้น เพราะซาชา บารอน โคเฮน นักแสดงที่จะมารับบทเป็นเฟรดดี เมอร์คิวรีในตอนแรกประกาศถอนตัว แล้วพอได้รามี มาเลกมาแสดงแทนแล้ว ฟ็อกซ์ก็ไล่ไบรอัน ซิงเกอร์ ผู้กำกับของเรื่องนี้ออกไป เพราะมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์กระทบการทำงาน ฉะนั้น แค่มีหนังเรื่องนี้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้ขนาดนี้ก็ดีใจจะแย่แล้ว
การสร้างภาพยนตร์ชีวประวัติถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก เพราะเรื่องราวชีวิตของคนไม่ใช่เรื่องที่จะดัดแปลงเสริมแต่งได้ง่ายๆ เหมือนการสร้างหนังจากหนังสือนิยาย และการเลือกเล่าเหตุการณ์ไหนก็เป็นเรื่องยากสำหรับคนที่มีชีวิตน่าสนใจมากอย่างเฟรดดี เมอร์คิวรี เมื่อนักวิจารณ์ภาพยนตร์มืออาชีพตามสื่อต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์ Bohemian Rhapsody ทำให้แฟนเพลงหลายคน (รวมถึงเราด้วย) เลือกที่จะไม่อ่าน เพราะกลัวจะใจเสียจนไม่กล้าไปดู และในยุคที่ทุกคนก็เขียนรีวิวหนังได้เองบนโซเชียลมีเดีย ความเห็นของนักวิจารณ์มืออาชีพจึงหมดความศักดิ์สิทธิ์ไปโดยปริยาย
ภาพยนตร์ฟอกขาวชีวิตเฟรดดี เมอร์คิวรี?
Bohemian Rhapsody เล่าเรื่องของวงร็อกในตำนานนี้แบบเบื้องต้น เล่าไปแบบทื่อๆ เล่าเรื่องช่วงต้นไปแบบไวมาก และนอกจากเพลง Love of My Life ก็ไม่ได้ทำให้เราได้เห็นแง่มุมที่ลึกซึ้งหรือสะท้อนตัวตนของเฟรดดีออกมาอย่างเต็มที่ มีการชื่นชมพรสวรรค์ของเฟรดดีที่เสกเพลงออกมาได้อย่างมหัศจรรย์ หนังยังสับสนตัวเองว่าจะเล่าชีวประวัติของเฟรดดี หรือจะเล่าประวัติของวง Queen ทำให้ไปไม่สุดสักทาง
หนังไปทุ่มให้กับคอนเสิร์ต Live Aid อย่างเต็มที่ แล้วตัดจบที่ตรงนั้น แค่แสดงให้เห็นว่า คอนเสิร์ตการกุศลที่มีศิลปินดังสุดๆ ในยุคนั้นไปรวมกันอยู่ที่นั่น ทั้ง The Who, Bob Dylan, Led Zeppelin แต่ Queen กลับเป็นวงที่คนจดจำมากที่สุด จนเอลตัน จอห์นที่ขึ้นแสดงต่อถึงกับสบถว่า You bastards! You stole the show! (ไอ้พวกเวร! พวกแกขโมยซีนคนอื่นหมดแล้ว!)
แต่การไปไม่ถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตเฟรดดีก็ทำให้ความคาดหวังส่วนตัวสลายไป รู้สึกผิดหวังนิดๆ ที่ไม่ได้เห็นตอนที่เฟรดดีป่วยหนักจนไบรอัน เมย์ มือกีตาร์ของวงคิดว่าเขาน่าจะอัดเพลงไม่ได้แล้ว แต่เฟรดดีบอกว่า I'll fucking do it, darling (กูจะร้องให้ได้จ้ะ ที่รัก) ยกวอดก้าขึ้นซด แล้วเข้าไปร้องเพลง The Show Must Go On
การตัดเรื่องราวสำคัญๆ ทำให้นักวิจารณ์หักคะแนนหนังเรื่องนี้กันจนเหี้ยนเหมือนกัน เพราะมองว่าเป็นการฟอกขาวชีวิตเฟรดดีจนน่าเบื่อ แทนที่หนังจะทำให้คนหันมาตระหนักเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์กันมากขึ้น และช่วงที่เฟรดดียังตั้งหน้าตั้งตาทำเพลงต่อไปทั้งที่ป่วยหนักมันน่าจะขายดราม่าได้อีกมาก ซึ่งส่วนตัวก็รู้สึกเสียดายที่อุตส่าห์มีวัตถุดิบที่ดี แต่กลับไม่ใช้
อีกประเด็นที่กลุ่มหลากหลายทางเพศดูจะยอมไม่ได้เลยคือ ภาพยนตร์ทำราวกับว่าจิม ฮัตตัน คู่ชีวิตเพศเดียวกันที่คบกันอยู่ 7 ปีจนเฟรดดีตาย ไม่มีความสำคัญอะไรเลย เอาแต่พูดถึงแมรี ออสติน ผู้หญิงที่เป็น “ความรักของชีวิต” ของเฟรดดี ทั้งที่เฟรดดีเป็นไอคอนที่สำคัญมากคนหนึ่งของกลุ่มหลากหลายทางเพศ แต่สำหรับแฟนเพลง การพูดถึงแมรี ออสตินไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย ถ้าพวกคุณเคยอ่านสัมภาษณ์ของเฟรดดีมาก่อน เพราะเธอคือ “ความรักของชีวิต” เฟรดดีจริงๆ
ไม่ว่าเฟรดดีจะคบใคร เขาจะวางแมรีไว้บนหิ้งเสมอ เขายังยกมรดกยกบ้านให้เธอ และช่วงที่หนังเรื่องนี้ตัดจบตรงคอนเสิร์ต Live Aid ไม่ได้ต่อไปยาวจนถึงเฟรดดีตาย การพูดถึงจิม ฮัตตันน้อยกว่าแมรี ออสติน ยิ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้
อันที่จริง ก่อนที่นักวิจารณ์จะมาวิจารณ์ประเด็นเหล่านี้ ซาชา บารอน โคเฮนที่เคยถูกวางให้มาแสดงเป็นเฟรดดี เมอร์คิวรี เถียงเรื่องพวกนี้อย่างดุเดือด เพราะไบรอัน เมย์และโรเจอร์ เทย์เลอร์ต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรต 13+ เพื่อให้เข้าถึงคนทั่วไป ร่วมถึงเด็กรุ่นใหม่ที่อาจไม่เคยรู้จัก Queen เลย และพวกเขาต้องการ “รักษาเกียรติ” ของเฟรดดี
ในเมื่อสมาชิกวงผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเป็นผู้อำนวยการสร้างหนัง ขีดข้อจำกัดมาแบบนี้ โคเฮนรับไม่ได้ก็ต้องถอนตัวออกไป
แล้วทำไมคนยังไปดู Bohemian Rhapsody?
เกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ในยุคที่ทุกคนก็เขียนรีวิวหนังได้เองบนโซเชียลมีเดีย ความเห็นของนักวิจารณ์มืออาชีพหมดความศักดิ์สิทธิ์ไปเสียแล้ว ต่อให้มีเพจรีวิวหนังที่มีคนตามจำนวนมาก เราก็จะพบว่า เราไม่ใช่คนเดียวที่เห็นต่างจากนักวิจารณ์ และเราไม่ได้ดูเป็นคนโง่หรือคนดูหนังไม่เป็น รสนิยมไม่ถึง แบบที่เราเข้าใจในยุคโซเชียลมีเดียเฟื่องฟู อย่างในเว็บไซต์ rottentomatoes.com นักวิจารณ์ค่อนข้างเสียงแตก มีคนชอบแค่ร้อยละ 61 แต่คนดูทั่วไปชอบกันถึงร้อยละ 94 เลยทีเดียว
แต่ทำไมคนถึงชอบทั้งที่เล่าเรื่องก็ทื่อๆ เหมือน “ฟอกขาว” ชีวิตเฟรดดี แล้วเรื่องราวต่างๆยังไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น จริงๆ แล้ว ตอนเล่น Live Aid เฟรดดียังไม่รู้ว่าตัวเองมีเชื้อเอชไอวี ส่วนตัวมองว่าเหตุผลมันง่ายมากๆ คือ ภาพยนตร์ตอบโจทย์คนดูแล้ว จนทำให้ Bohemian Rhapsody ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในหลายประเทศ
ตอนแรกนึกว่าคนไทยน่าจะไปดูหนังเรื่องนี้กันไม่เท่าไหร่ แต่กลับกลายเป็นว่ามีคนไปดูเรื่องนี้กันเยอะกว่าที่คาด แต่เหตุผลสำคัญที่คนสนใจหนังเรื่องนี้ก็เพราะ มันเป็นเรื่องของเฟรดดีและวง Queen นี่คือนักร้องที่ติดอันดับนักร้องที่ดีที่สุดของโลกตลอดกาล วงร็อกที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการเพลงทั่วโลก มีอิทธิพลกับนักร้องและนักดนตรีรุ่นหลังจำนวนมาก คนก็สนใจกันอยู่แล้ว หรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องเคยร้องเพลง We Will Rock You ในงานกีฬาสีอยู่บ้าง หนังเรื่องนี้ก็ตอบโจทย์คนที่ไม่ได้รู้จัก Queen จริงจังมากในแง่ที่เรื่องนี้ก็เป็นเหมือนวิชา Queen 101 แนะนำให้รู้จักวงเบื้องต้น รู้จักพลังและความสามารถที่เป็นเลิศของพวกเขา เผลอๆ จะทำให้ Queen ได้แฟนเพลงรุ่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากทีเดียว
สำหรับแฟนเพลง Queen ที่มีอยู่ทั่วโลก เรารู้จักชีวิตของเฟรดดี เมอร์คิวรีอยู่แล้วล่ะ เขาก็ตายไปตั้งนานแล้ว เราอยากดูหนังเรื่องนี้ เพราะเราคิดถึงเฟรดดีเท่านั้นแหละ และสำหรับแฟนที่เกิดไม่ทันช่วงที่เฟรดดีมีชีวิตอยู่ เราอยากเห็นเขาลุกจากหลุมขึ้นมาร้องเพลงอีกครั้ง อยากได้รู้จักเฟรดดีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ได้เห็นความสัมพันธ์ของเขากับคนรอบข้าง อยากมีประสบการณ์เหมือนได้อยู่ในคอนเสิร์ต Live Aid อยากเข้าไปโยกหัว กระทืบเท้า และร้องเพลงตาม Queen แบบที่คนข้างๆ จะไม่หันมามองด้วยสีหน้างงงวย และในราคาถูกกว่าซื้อบัตรคอนเสิร์ตจริงราคา 10,000 บาท
ดังนั้น แม้หนังจะไม่ได้เสนอข้อเท็จจริงออกมาตรงเป๊ะๆ แต่เดชะบุญ นักแสดงเรื่องนี้ดีเหมือนตัวจริงอยู่พอสมควรเลยทีเดียว โดยเฉพาะรามี มาเลก ที่สามารถถ่ายทอดบุคลิกของเฟรดดีได้ออกมาได้ดีมาก ทำให้เรา “รู้สึก” ถึงจิตวิญญาณของเฟรดดี หลายครั้งเราเห็นภาพเฟรดดีทับซ้อนกับรามีจนลืมไปว่านี่รามีแสดงอยู่ ไม่ใช่เฟรดดี เมอร์คิวรี
ช่วงที่แสดงคอนเสิร์ต Live Aid เหมือนเฟรดดีมาเล่นในหนังเอง จนทำให้เราร้องไห้ (ร้องไห้หนักจริงๆ นะ) ตั้งแต่ได้ยินคำว่า "Mamaaaaaaaa" ในเพลง Bohemian Rhapsody ยาวไปจนจบ
ที่มา : Rotten Tomatoes, Rolling Stone