ผู้เดินเกมยื่นญัตติร้อนให้รัฐสภาอนุมัติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ารัฐสภามีอำนาจในการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้การกำเนิดของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้หรือไม่
ทั้ง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ทั้ง “สมชาย แสวงการ” ส.ว. ต่างแสดงความเชื่อมั่นในงานเสวนาของ “สถาบันทิศทางไทย” เรื่อง “รัฐธรรมนูญ 2560 ปราบโจร” ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่อาจจะตีความว่าให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เพียงรายมาตรา มากกว่าแก้ไขทั้งฉบับโดยมี ส.ส.ร.
“ไพบูลย์” ระบุว่า ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาในทางที่ตกไปทั้งฉบับ และการลงมติในวาระที่สามต้องยุติ เพราะรัฐสภาไม่มีอำนาจพิจารณาวาระสาม ที่กำหนดให้พิจารณาทั้งฉบับ
แต่หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าทำได้ ต้องนำไปสู่การลงมติวาระสาม โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา โดยต้องมีเสียงของฝ่ายค้านและส.ว. ร่วมลงมติเห็นชอบด้วย และเมื่อรัฐสภาเห็นชอบต้องนำไปลงประชามติ
“สมชาย” เชื่อว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีการพบกันครึ่งราคาแน่นอน หากศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าทำไม่ได้ เชื่อว่าจะไม่มีโหวตวาระสาม ส่วนหากศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าทำได้ ต้องโหวตวาระสามที่บอกว่า ส.ว.เสียงข้างน้อย 84 เสียง คว่ำอาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้
ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทย อย่าง พงศ์เทพ เทพกาญจนา - ชูศักดิ์ ศิรินิล มองอีกทาง คือ “ไม่แท้งทั้งฉบับ แท้งแค่บางส่วน” กล่าวคือ ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อตัดจำนวนเสียง 1 ใน 3 ของ ส.ว. หรือ 84 เสียง ซึ่งเป็นล็อกสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป ให้เหลือเฉพาะจำนวนเสียงข้างมาก 3 ใน 5 ของรัฐสภา หรือ 450 เสียง กับส่วนที่สองว่าด้วยวิธีการมี ส.ส.ร.เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ศาลรัฐธรรมนูญอาจปล่อยผ่านในส่วนแรก ที่ตัดเสียง 84 ของ ส.ว.ทิ้งไปจากการโหวตวาระที่ 1 และ วาระ 3 แต่ศาลจะไม่ยอมให้ผ่านในส่วนที่สอง คือการมี ส.ส.ร.
ดังนั้น หากคำวินิจฉัยออกมาในทางที่สาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาก็จะแก้ไขรายมาตราง่ายขึ้นกว่าเดิมค่อนข้างมาก
แต่สุดท้าย “คำตอบ” จะอยู่ในการวินิจฉัยของ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 11 มี.ค.นี้ว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้โดยมี ส.ส.ร.
หรือ แท้ง...ห้ามแก้ทั้งฉบับ
หรือ “ไม่แท้งทั้งฉบับ แท้งแค่บางส่วน”
อย่างไรก็ตาม เมื่อไล่เลียง “ไทม์ไลน์” การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนจะถึงวันชี้ชะตา 11 มีนาคม 2564 อาจไล่เลียงเหตุการณ์สำคัญได้ดังนี้
18 กรกฎาคม 2564 กลุ่มเยาวชนปลดแอก Free Youth นัดชุมนุมครั้งแรก ภายหลังที่มีกลุ่มบุคคล VIP ของรัฐบาล นำโควิด-19 เข้าประเทศ ไปพักที่ จ.ระยอง จนสร้างความแตกตื่น ขณะที่มีการจับกุมนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะที่ลงพื้นที่ จ.ระยอง นั่นทำให้เป็นจุดไฟม็อบครั้งใหม่ของมลมหาม็อบเยาวชน นักเรียน นักศึกษา พร้อมยื่นเงื่อนไข 3 ข้อเรียกร้อง 1.ต้องยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
พลันที่กระแสเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนอกสภาดังกระหึ่ม รัฐสภานัดพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน - ฝ่ายรัฐบาล ที่ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องกับกระแสนอกสภาเรียกร้อง
23-24 ก.ย. 2563 รัฐสภามีวาระการประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งมีรวมกันอยู่ 6 ญัตติ แต่แล้วนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ได้เสนอญัตติให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อพูดคุยระหว่าง ส.ส.และ ส.ว. ตามข้อบังคับการประชุมสภา ข้อที่ 121 วรรคสาม
“ไพบูลย์ นิติตะวัน” ลุกขึ้นสนับสนุนให้มีตัวแทนทั้งพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และ ส.ว.ได้ร่วมกันศึกษาร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ให้มีข้อมูลที่ครบถ้วน
ที่สุดแล้วก็กำเนิดคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ก่อนรับหลักการ ขั้นรับหลักการ ที่มี “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานพิจารณาในกรอบ 30 วัน โดยที่ 6 พรรคฝ่ายค้านบอยคอต
ต่อมาวันที่ 26 ต.ค. 2563 เกิดจุดพลิกครั้งสำคัญ ระหว่างการประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา เพื่ออภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อหาทางออกจากม็อบนักศึกษาที่กำลังลุกลาม
“พล.อ.ประยุทธ์” ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า "รัฐบาลได้มีการพูดคุยหารือ เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2563 ได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล หารือว่าเราจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญกันอย่างไรในสภา และได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบแล้ว ในเดือน พ.ย.นี้ สภาจะพิจารณารัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 1-3 จะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค."
"แต่ยังประกาศใช้ไม่ได้ เพราะต้องรอการทำประชามติก่อน และรัฐบาลจะเสนอร่างพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติเข้าสู่การพิจารณาสภา เมื่อ พ.ร.บ.เสร็จเมื่อใดก็จะทำประชามติเมื่อนั้น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลก็สนับสนุนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" นายกรัฐมนตรี กล่าว
เมื่อนายกฯ กดปุ่มไฟเขียวแก้ไขรัฐธรรมนูญ 18 พ.ย. 2563 รัฐสภา จึงพิจารณารับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน แต่ไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ไอลอว์ ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 แก้ไขรายมาตราโดยคณะกรรมาธิการ 45 คน เพื่อนำไปสู่การลงมติในวาระที่ 2 ในวันที่ 24-26 ก.พ. 2564
แต่ก็มีญัตติร้อนของ ไพบูลย์ และ สมชาย เข้ามาคั่นกลาง โดยเป็นญัตติขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ให้อนุมัติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ารัฐสภามีอำนาจในการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้การกำเนิดของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้หรือไม่
9 ก.พ. 2564 ที่ประชุมจึงมีมติ 366 เสียง ต่อ 315 เสียง ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ 18 ก.พ. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง พร้อมกับให้ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อุดม รัฐอมฤต อดีต กรธ. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ทำความเห็นเป็นหนังสือ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 3 มีนาคม 2564 และนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 4 มีนาคม 2564
ต่อมา 26 ก.พ. 2564 ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระที่ 2 และทิ้งไว้ 15 วันเพื่อลงมติในวาระที่ 3
ผ่านมาถึงวันที่ 3 มี.ค. 2564 หัวหน้า - แกนนำ 6 พรรคฝ่ายค้านยื่นความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญในฐานะผู้มีส่วนได้เสียประกบไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีกทางหนึ่ง ก่อนในวันรุ่งขึ้น 4 มี.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดวินิจฉัยคำร้องของ ไพบูลย์ - สมชาย
11 มี.ค. 2564 จะมีคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง