ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยว่า ยอดการส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 รวมทั้งสิ้น 1,098 โครงการ เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,088 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 223,720 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15% ที่มีมูลค่ารวม 262,470 ล้านบาท
ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยมีจำนวน 556 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 128,980 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 37,550 ล้านบาท ตามด้วยอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร 26,880 ล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 19,980 ล้านบาท และอุตสาหกรรมการแพทย์ 14,710 ล้านบาท
ทั้งนี้ คำขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการแพทย์ยังคงมีจำนวนโครงการและมูลค่าขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีจำนวน 65 โครงการ เพิ่มขึ้น 132% มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 14,710 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 9 เดือน มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 657 โครงการ ลดลง 1% โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 118,504 ล้านบาท ลดลง 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่น มีการลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 139 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 37,545 ล้านบาท ตามด้วยจีน จำนวน 129 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 21,237 ล้านบาท และเนเธอร์แลนด์ จำนวน 62 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 17,514 ล้านบาท
สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีจำนวน 313 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 109,430 ล้านบาท แบ่งเป็นจังหวัดชลบุรี 165 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 46,860 ล้านบาท จังหวัดระยอง 112 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 48,370 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 36 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 14,200 ล้านบาท
นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพิเศษ ได้แก่ มาตรการส่งเสริม SMEs ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 54 โครงการ เพิ่มขึ้น 38% เงินลงทุน 2,240 ล้านบาท ขณะมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 138 โครงการ เพิ่มขึ้น 23% เงินลงทุน 15,190 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18%