วันที่ 21 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 13 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 11 คน เป็นวันที่สาม จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในประเด็นคดีเหมืองทองอัครา เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำผิด โดยการใช้มาตรา 44 และมติ ครม. จำเป็นต้องอภิปรายประเด็นนี้อีกครั้ง เนื่องจากคดียังไม่ถึงที่สุด วันนี้จะเป็นการอภิปรายเพื่อทวงคืนความเป็นธรรมแก่ประชาชน
จิราพร เผยว่า ตนมีเอกสารหลักฐานสำคัญฉบับใหม่ที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน ซึ่งตนจะมอบให้ประธานสภาฯ ต่อไป สืบเนื่องจากคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัทคิงส์เกต ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งขึ้น เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับบริษัทคิงส์เกต ประเทศออสเตรเลีย หน่วยงานเช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) มีความเห็นว่า ควรเจรจากับบริษัทคิงส์เกต เพราะไทยมีโอกาสแพ้คดีเหมืองทองอัคราสูง
อย่างไรก็ตาม มีบุคคลลึกลับ 2 คน หนึ่งคนเป็นระดับรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีความรู้ด้านกฏหมาย และอีกคนเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และขณะนี้ย้ายไปเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยทั้ง 2 คน ไม่ปรากฏรายชื่อในคณะกรรมการฯ แต่เป็นไอ้โม่งรับคำสั่งจาก พล.อ.ประยุทธ์ เข้าครอบงำการทำงานของคณะกรรมการฯ จนขาดอิสระ จิราพร ยืนยันว่า หากเรื่องเข้าสู่ชั้นศาล ตนมีพยานบุคคลที่จะซัดทอดไอ้โม่ง 2 คนนี้ เพื่อเอาผิดที่ครอบงำคณะกรรมการฯ จนไม่เป็นไปเพือประโยชน์ของประชาชน
จากนั้น จิราพร ได้เปิดเผยเอกสารลับที่ร่างขึ้นโดยสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ส่งไปยัง หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่ไทยถูกฟ้องร้อง ซึ่ง อสส. มีหน้าที่ว่าความให้รัฐบาลในฐานะทนายแผ่นดิน โดยระบุว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการสร้างเหมืองแร่ของเหมืองทองอัครา จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ ซึ่งผ่านไปกว่า 4 ปี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังไม่สามารถหาหลักฐานที่ชัดเจนมาสนับสนุนการใช้มาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองอัคราได้
“แต่ที่น่าอดสูใจที่สุดคือ ในหนังสือฉบับนี้ ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อับจนหนทางถึงขนาดที่ว่า มีความคิดสร้างหลักฐานเท็จ เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิงแวดล้อมขึ้นมา ทำให้ที่ปรึกษากฏหมายฝ่ายไทยเตือนว่า จะเป็นอันตรายมาก เพราะบริษัทคิงส์เกตจะอ้างว่า รัฐบาลพยายามสร้างความเดือดร้อนกับบริษัทอัคราเพิ่มขึ้น และเป็นการขัดขวางกระบวนการในชั้นอนุญาโตตุลาการ” จิราพร กล่าว
สำนักงาน อสส. พยายามระงับปัญหา โดยปรากฏข้อเสนอในเอกสารว่า ให้คณะกรรมการฯ ชุดนี้ มีมติเป็นอย่างอื่น ซึ่งต่างจากคำสั่ง คสช. ได้ แต่เป็นวิธีซับซ้อน ใช้เวลานานอาจเยียวยาไม่ทันการณ์ และแนวทางที่ 2 คือ เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 7/2559 เพื่อคืนสิทธิแก่บริษัทเอกชน หยุดความเสียหายโดยทันที และส่วนท้ายของเอกสารดังกล่าว เสนอให้ใช้แนวทางที่ 2 เท่ากับเป็นการประจานให้เห็นว่า การใช้มาตรา 44 ถือว่าเป็นความผิด และสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศ
“ดิฉันอยากถามท่านว่าได้เคยเห็นหนังสือฉบับนี้หรือไม่ เคยอ่านข้อความในหนังสือฉบับนี้หรือยัง ถ้าเคยเห็นแล้ว ทำไมยังเลือกไม่ฟังคำทัดทาน จนเกิดความเสียหายต่อประเทศ แต่ดิฉันสันนิษฐานว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจยังไม่เคยอ่านเอกสารฉบับนี้เลยด้วยซ้ำ เพราะดิฉันเคยเห็นรูปที่ท่านนั่งเครื่องบินแล้วอ่านเอกสารแล้ว ชักไม่แน่ใจ ว่าท่านได้อ่านจริงหรือเปล่า เพราะท่านชอบอ่านกระดาษเปล่า” จิราพร กล่าว
จิราพร ย้ำว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการด้วยความชักช้า ไม่เร่งรีบ ขาดความรอบคอบและระมัดระวังในการออกคำสั่ง ทำให้จากคำสั่งมาตรา 44 ที่เคยอ้างว่าเป็นคำสั่งชั่วคราว ที่ใช้ในการตรวจสอบ กลายเป็นคำสั่งถาวรตามความเห็นของอัยการสูงสุด ทำให้เกิดผลกระทบและปัญหาที่ลุกลามบานปลายจนเกินแก้ในเวลาต่อมา แม้จะมีการตักเตือนจากหลายหน่วยงานสำคัญถึง 9 ครั้ง ว่าการใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาจะไม่เกิดผลดี ทว่ากลับไม่มีการใช้อำนาจยกเลิกคำสั่ง ทั้งที่รัฐธรรมนูญระบุให้ทำได้
“ดิฉันสงสัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ เสียสติไปแล้วหรือเปล่า หลายหน่วยงานสำคัญทักท้วง ทัดทาน แต่ก็ยังนิ่งเฉยไม่สะทกสะท้านใดๆ จนกระทั่ง ส.ส.อภิปรายในสภาถึง 5 ครั้ง ก็ยังเพิกเฉยอีก เท่ากับว่า ตั้งแต่ปี 2559 จนปัจจุบัน มีการเตือน พล.อ.ประยุทธ์ ทุกปี เท่ากับจงใจกระทำความผิดซ้ำซาก ไม่รีบหาทางแก้ไข ทำให้คำสั่งมาตรา 44 จากคำสั่งชั่วคราว เป็นคำสั่งชั่วนาตาปี”
ความเสียหายที่ประเทศต้องจ่ายจากคดีความนี้ ต้องหารกับประชาชนทั้งประเทศ โดยต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับ บ.คิงส์เกต ปีงบประมาณ 2550-2564 จำนวน 731 ล้านบาท ค่าภาคหลวงที่จัดเก็บไม่ได้ ตั้งแต่ปี 2550-ปัจจุบัน ราว 3 พันล้านบาท แม้จะยังไม่มีคำพิพากษาจากอนุญาโตตุลาการว่าแพ้หรือชนะ แต่ความเสียหายก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ยังไม่นับภาพลักษณ์ของประเทศ และผลกระทบในภาคธุรกิจที่สูญเสียไปอย่างประเมินค่าไม่ได้ และหากไทยแพ้คดี ค่าเสียหายที่ไทยต้องจ่ายอาจเฉียดถึงแสนล้านบาท
จิราพร ระบุว่า ยังไม่รวมความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากข้อต่อรองของ บ.คิงส์เกต ทื่ยื่นให้ไทย เช่น เรียกร้องให้ล้มคดีทั้งหมดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่กำลังสืบสวน บ.อัครา ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ผิดปกติ จะไม่มีข้อเรียกร้องเช่นนี้ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นเพราะเขาเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถล้มคดีได้ทั้งหมด เท่ากับเป็นการลากประเทศไทยไปประจานว่า ประเทศเราเป็นเผด็จการ หากทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว จะเป็นการทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมอย่างร้ายกาจ ตลอดจนอีกหลายข้อเรียกร้องที่ไทยมีแต่เสียเปรียบ
“คนรักชาติอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ คำพูดกับการกระทำต่างกันมาก เพราะเพิ่งเห็นคนรักชาติที่ใช้ผลประโยชน์ของชาติ เสนอให้เอกชนต่างชาติ เพื่อให้ตัวเองพ้นจากการกระทำผิด เดิมเหมืองทองอัคราทำธุรกิจบนพื้นที่ไม่กี่พันไร่ กลายเป็นว่าความลุแก่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้เกิดข้อเรียกร้องมากมาย เป็นความเสียหายที่ลุกลามบานปลาย ตอนนี้ทุกตารางพื้นที่ของประเทศไทย กลายเป็นเหมืองทองของ บ.คิงส์เกตไปแล้ว เพราะเขาจะเอาอะไร ต่อรองอะไร ได้ทั้งหมด”
“ด้วยพยานหลักฐานที่ดิฉันจะยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อฟ้องเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ หลังการอภิปรายในวันนี้ จะสามารถทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ายจากบ้านหลวงในค่ายทหาร ไปอยู่บ้านหลวงหลังใหม่ ข้าวฟรี น้ำฟรี ไฟฟรี ที่เรียกว่า เรือนจำ ได้” จิราพร กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง