ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่บริษัทผู้ผลิตผลไม้กระป๋อง 'เนเชอรัล ฟรุต จำกัด' ยื่นฟ้อง 'อานดี้ ฮอลล์' นักวิจัยและนักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษ ในข้อหาหมิ่นประมาทและกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ วันนี้ (31 พ.ค.) โดยศาลพิพากษาว่า ฮอลล์ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา และการทำวิจัยด้านแรงงานเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ได้กลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่เคยมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 ให้ลงโทษจำคุกฮอลล์ 4 ปี และลดโทษเหลือ 3 ปี พร้อมทั้งให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี พร้อมทั้งสั่งปรับเงิน 200,000 บาท แต่ลดเหลือ 150,000 บาท โดยให้เหตุผลว่า การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของฮอลล์ในช่วงก่อนเกิดคดีความนั้นถือว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมอยู่บ้าง
ทางฝ่ายกฎหมายของฮอลล์ได้ยื่นค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยระบุว่าขัดกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) พร้อมยืนยันว่าการกระทำของฮอลล์ไม่ได้ผิดตามคำฟ้องของฝ่ายโจทก์เรื่องการนำเข้าข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
ศาลอุทธรณ์รับฟังคำร้องของทนายฝ่ายจำเลย ซึ่งบ่งชี้ว่า ฮอลล์ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์แรงงานในโรงงานผลิตผลไม้กระป๋องจริง และการจัดทำรายงานเรื่อง Cheap has a high price ให้กับองค์กร 'ฟินน์วอทช์' เป็นการกระทำเพื่อปกป้องสิทธิแรงงาน และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ฮอลล์พ้นผิดทุกข้อกล่าวหา
ซอนย่า วาร์เทียล่า ผู้อำนวยการองค์กรฟินน์วอทช์ ออกแถลงการณ์ระบุว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นสิ่งที่น่ายินดี และเป็นการยืนยันว่าการทำวิจัยของฮอลล์เพื่อเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัทเอกชน เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม ไม่ใช่การกระทำผิดในคดีอาญา ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะด้วย
การนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในวันนี้ เป็นการเลื่อนจากกำหนดการเดิมเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2561 ซึ่งมีการออกหมายจับฮอลล์ที่ไม่ไปรายงานตัวต่อศาล เพราะเขาเดินทางออกจากประเทศไทยไปตั้งแต่ปี 2559 แต่ทีมทนายของฮอลล์ในอังกฤษ ได้ยื่นคำค้านต่อตำรวจสากลอินเตอร์โพล ไม่ให้ดำเนินการจับกุมฮอลล์ตามหมายจับของไทย โดยยืนยันว่าการปฏิบัติหน้าที่ของฮอลล์เป็นการกระทำบนพื้นฐานของการปกป้องสิทธิมนุษยชน จนกระทั่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาที่เป็นคุณกับฮอลล์ในวันนี้
ทนายฝ่ายโจทก์ยังไม่เปิดเผยว่าจะยื่นค้านคำตัดสินของศาลอุทธรณ์หรือไม่ แต่การฟ้องร้องดำเนินคดีกับฮอลล์ได้รับความสนใจจากตัวแทนทางการทูตของประเทศต่างๆ ทางตะวันตก รวมถึงคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานของสหประชาชาติ
โดยเมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNCHR) ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ประณามศาลไทยที่อนุมัติออกหมายจับและดำเนินคดีกับฮอลล์ โดยระบุว่าการใช้กฎหมายอาญาเพื่อดำเนินคดีแก่นักต่อสู้เพื่อสิทธิในด้านต่างๆ รวมถึงกรณีอานดี้ ฮอลล์ เป็นเรื่องที่่น่าวิตกกังวล และคณะผู้เชี่ยวชาญฯ ขอเรียกร้องทางการไทยไม่ใช้ข้อหาหมิ่นประมาทเป็นคดีอาญา เพื่อไม่ให้บริษัทเอกชนใช้ข้อกล่าวหาดังกล่าวในทางที่ผิด
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากฮอลล์อีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลพระโขนงได้มีคำพิพากษาในคดีแพ่งเมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าฮอลล์กระทำผิดจริง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 420 ทำให้ฝ่ายโจทก์ได้รับความเสียหายจากการเผยแพร่ข้อมูล ทั้งยังกำหนดให้ฮอลล์จ่ายค่าเสียหาย 10 ล้านบาท โดยระบุว่า ระหว่างการเก็บข้อมูลวิจัยทำรายงานให้กับองค์กรฟินน์วอทช์ ฮอลล์สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของโจทก์เพียงบางส่วน และเป็นการบอกต่อกันมา ไม่มีการเข้าไปดูในโรงงานของโจทก์ แต่องค์กรระหว่างประเทศได้ร่วมกันระดมทุน 1,200 ยูโร เพื่อช่วยเหลือฮอลล์ในการต่อสู้คดีแพ่งนี้ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: