นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง ร่วมกันแถลงข่าว กรณีสื่อญี่ปุ่นรายงานว่าประเทศไทยนำเข้าปลาจากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น พื้นที่เกิดปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อปี 2554 และปัจจุบันนำเข้าเนื้อปลามาขายที่ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย นั้น ทาง อย. และกรมประมง ขอชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนทราบว่า อย. ได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าอาหาร โดย อย. ได้ถ่ายโอนภารกิจการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ยังไม่แปรรูปให้กระทรวงเกษตรฯ ได้แก่ สินค้าประมง เนื้อสัตว์ ปศุสัตว์ อาหารทะเล ถั่วธัญพืช เครื่องเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2559 โดยมาตรการควบคุมอาหารที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีมี 2 มาตรการ ได้แก่
1. การกำหนดปริมาณการปนเปื้อนกัมมันตรังสี โดยมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีกำหนดให้ปนเปื้อนได้ไม่เกิน ไอโอดีน – 131 ไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม หรือ เบคเคอเรลต่อลิตร , ซีเซียม – 134 และ ซีเซียม – 137 รวมกันไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม หรือ เบคเคอเรลต่อลิตร
2. การกำหนดชนิดอาหารและพื้นที่เสี่ยงในการนำเข้าจะต้องมีหลักฐานในการระบุประเภทปริมาณอาหารจากประเทศต้นทางแสดงที่ด่านนำเข้าทุกครั้ง
อย. ได้มีการประสานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุขของประเทศญี่ปุ่นโดยผ่านสถานทูตญี่ปุ่นในประเทศไทย ซี่งสถานทูตญี่ปุ่นได้แจ้งให้ทราบว่าประเทศญี่ปุ่นมีมาตรการจัดการกับสินค้าที่ตรวจพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีอย่างเข้มงวด โดยหากตรวจพบอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเกินมาตรฐานอาหารจากพื้นที่นั้นจะถูกควบคุมและทำลายโดยทันที เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระจายสินค้าไปสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ อย. ได้ตรวจสอบผลการเฝ้าระวังในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นมีการเก็บตัวอย่างปลาและผลิตภัณฑ์ประมงจากเมืองฟูกุชิมะ จำนวน 7,408 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนเกินเกณฑ์ 8 ตัวอย่าง เป็นปลา Whitespotted char 4 ตัวอย่าง และ Cherry salmon 4 ตัวอย่าง ส่วนปลานำเข้าเป็นปลากลุ่มปลาตาเดียวไม่ใช่ปลาที่มีปัญหาดังกล่าว
ผลการตรวจเฝ้าระวังที่ดำเนินการโดย อย. ในกรณีผลิตภัณฑ์ประมงที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2554 ไม่พบการปนเปื้อน สารกัมมันตรังสีเกินมาตรฐานแต่อย่างใด และทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการสุ่มตรวจสารกัมมันตรังสีในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโอกาสปนเปื้อนทั้งในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2559 ไม่พบการปนเปื้อนสารซีเซียม – 137 เช่นกัน
เลขาธิการฯ อย. ระบุว่า อย. ร่วมกับกระทรวงเกษตรดำเนินการเฝ้าระวังอาหารที่นำเข้าอย่างเข้มงวดซึ่งหากพบการปนเปื้อน อย. จะใช้มาตรการส่งคืนหรือทำลายทันที ขอให้ประชาชนวางใจในการดำเนินงานของ อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้รับฟังข้อมูลข่าวสารให้รอบด้าน อย. จะเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลจากทั้งในและต่างประเทศ หากพบผลิตภัณฑ์อาหารใดที่เป็นอันตราย และประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนทราบทันที หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารใดสงสัยว่าจะเป็นอันตราย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด
ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่เชื่อถือการแถลงข่าวของทั้งสองหน่วยงานเนื่องจากกรมประมงยอมรับเองว่า ไม่มีการตรวจซ้ำที่ด่าน เป็นการเชื่อข้อมูลใบรับรองจากผู้นำเข้าเท่านั้น ดังนั้นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องให้มีการตรวจซ้ำเพื่อยืนยันความปลอดภัยที่จะมีต่อผู้บริโภคในล็อตที่เพิ่งนำเข้า และขอให้เปิดเผยชื่อร้านอาหารทั้ง 12 ร้าน ชะลอการจำหน่ายปลาจนกว่าจะมีการตรวจซ้ำจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากทางการไทย
“ขอเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกระทรวงเกษตรเปิดเผยใบรับรองการนำเข้าปลาตาเดียว พร้อมทั้งให้เปิดเผยรายชื่อร้านอาหาร 12 นำเข้าปลาจากฟุกุชิมะเพื่อจำหน่าย เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค และเรียกร้องให้ร้านอาหารทั้งหมดชะลอการใช้ปลาที่นำข้าวจนกว่าจะมีการตรวจสอบความปลอดภัยซ้ำจากหน่วยงานในประเทศไทย และให้หยุดการนำเข้าล็อตอื่นๆ”
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนถึงปัญหาที่องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคย้ำมาตลอดคือ การที่ อย.ถ่ายโอนอำนาจหน้าที่การตรวจอาหารนำเข้า 7 พิกัดไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นอำนาจการต่อรองทางการค้ากับประเทศคู่ค้า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 59 จากแรงผลักดันของธุรกิจอาหารส่งออก
“ก่อนหน้านี้ อย.ตรวจสอบอาหารนำเข้ามาโดยตลอด แต่เมื่อมีการถ่ายโอนกรมประมงกลับอ้างว่า ไม่มีหน้าที่กัก หรือตรวจสอบซ้ำ ให้ อย.ไปสุ่มตรวจหลังเข้าสู่ตลาดแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ผ่านมาเกือบ 2 ปี อย.ไม่เคยมีการประเมินการถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้ว่าดีหรือเลวลงอย่างไร ซึ่งสะท้อนอย่างชัดเจนจากการนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะครั้งนี้”
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคย้ำว่า หากไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายผู้บริโภคจะพิจารณาฟ้องให้เพิกถอนประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องการถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบการนำเข้าสินค้า ฉบับวันที่ 15 พ.ค.2559