ไม่พบผลการค้นหา
สามีภรรยาชาวเมียนมาเจอข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์ หลังนำครอบครัวชาวเมียนมา 12 คนเข้ามาทำงานประมงในไทยแล้วแจ้งว่ามีภาระหนี้สินเพื่อบังคับให้หาเงินใช้หนี้ เผยเป็นคดีแรกๆ ที่เข้าข่าย 'แรงงานขัดหนี้' ซึ่งตรวจสอบยาก กลุ่มรณรงค์ชี้คดีส่อเค้าว่าจะมีผู้เกี่ยวข้องอีกมาก

มูลนิธิเพื่อสิทธิมุษยชนและการพัฒนาและเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติแจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ร่วมกันเข้าจับกุมสามีภรรยาชาวเมียนมาที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในข้อหาสมคบและร่วมกันค้ามนุษย์ โดยพวกเขาได้นำชาวเมียนมา 12 คนเข้ามาทำงานในไทย บังคับใช้แรงงานโดยอ้างว่าติดหนี้สิน ต้องทำงานชดใช้ โดยทั้งหมดนั้นมาจากจังหวัดปิเลวะ พะยะเต่า ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของนครย่างกุ้ง

นายปภพ เสียมหาญ จากโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงานของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนากล่าวว่า แรงงานทั้งกลุ่มนั้นอันที่จริงเป็นคนในครอบครัวเดียวกันหมด และพวกเขาเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้ประมาณ 5-6 เดือนแล้ว แม้จะเข้ามาอย่างผิดกฎหมายแต่ในช่วงจังหวะนั้นเป็นเวลาที่ทางการไทยกำลังเปิดโอกาสให้มีการนำแรงงานที่ทำงานโดยผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบ ทำให้มีการนำพวกเขาเข้าสู่ระบบจึงพวกเขาได้ทำงานอย่างถูกต้อง 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คนทั้งหมดให้ข้อมูลว่าถูกบังคับให้ทำงานเพื่อชดใช้หนี้สิน โดยหลังจากที่เดินทางถึงประเทศไทยที่อ่าวน้อย ประจวบคีรีขันธ์แล้วก็ได้รับแจ้งจากสามีภรรยาทั้งคู่ว่า พวกเขาติดหนี้สินค้าใช้จ่ายต่างๆตั้งแต่ค่าเดินทาง ค่าที่พัก และต้องหาเงินชดใช้รวมทั้งดอกเบี้ย แม้แต่การช่วยหาบ้านพักก็ถูกคิดค่าบริการ คนทั้งหมดทำงานบนเรือประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และเนื่องจากงานที่มีให้ทำนั้นไม่ต่อเนื่องจึงมีปัญหาในการหารายได้ เมื่อต้องชดใช้หนี้สินทำให้ไม่มีเงินเก็บ 

ข้อมูลจากมูลนิธิชี้ว่า การจับกุมทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้หลังจากที่ทางเครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการหลอกลวงและนำคนมาทำงาน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนำไปสู่การจับกุมของเจ้าหน้าที่ ในเบื้องต้นเชื่อว่าในจำนวนเหยื่อทั้งหมดนั้นมีอยู่ 7 คนที่เข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 

นายปภพเปิดเผยด้วยว่า ทางมูลนิธิได้ตั้งข้อสังเกตไปกับเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนว่า การกระทำผิดเช่นในกรณีนี้น่าจะมีเครือข่ายมากกว่านี้มาก ลำพังสองสามีภรรยาไม่น่าจะลงมือได้เองทุกอย่าง เชื่อได้ว่าน่าจะมีผู้ร่วมมืออย่างน้อยก็ในประเทศและในกลุ่มคนไทย แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ 

ส่วนสิ่งที่ทำให้กรณีนี้เข้าข่ายการค้ามนุษย์นั้น เขาชี้ว่าเพราะถือว่ามีการบังคับใช้แรงงานด้วยการสร้างภาระหนี้สินให้ ซึ่งเข้าข่ายการเป็นแรงงานขัดหนี้ อันถือว่าสามารถนับได้เป็นการค้ามนุษย์อย่างหนึ่งตามคำจำกัดความของกฎหมายว่าด้วยการค้ามนุษย์ซึ่งได้รับการแก้ไขปรับปรุงใหม่ มีการใส่ข้อความดังกล่าวลงไปเพื่อให้ครอบคลุมกรณีเช่นนี้ ปภพชี้ว่า แรงงานขัดหนี้นับว่าเป็นปัญหาที่มีมานาน ในช่วงหนึ่งคนที่ตกเป็นเหยื่อจำนวนมากคือผู้ที่ถูกหลอกลวงให้มาค้าประเวณี และที่ผ่านมา คดีค้ามนุษย์มักจะมีลักษณะของการถูกบังคับ ทำร้ายร่างกาย แต่แรงงานขัดหนี้เป็นการบังคับด้วยวิธีการอีกประเภทหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า การจะตรวจสอบและรู้ได้ว่ามีการบังคับให้ทำงานด้วยการหลอกลวงสร้างภาระหนี้สินนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล นอกเสียจากว่าจะมีการร้องเรียน ดังนั้นการกระทำความผิดเช่นนี้จึงยากที่จะสอบสวนและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ในส่วนของแรงงานข้ามชาตินั้นต้องอาศัยการตรวจสอบให้ดีเพื่อมองหาจุดอ่อนที่แสดงให้เห็นว่ามีการบังคับกันในลักษณะเช่นนี้หรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: