คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย กรณี อ.เคท ครั้งพิบูลย์ ยื่นฟ้องร้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารฯ ว่า คณะสังคมสงเคราะห์มีประกาศรับสมัครอาจารย์ ลงวันที่ 7 ก.พ. 2557 อ.เคท เป็นผู้สมัครและผ่านการคัดเลือกโดยคณะ แต่คณะกรรมการบริหารฯ มีมติเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2558 ว่าไม่สมควรว่าจ้าง ทำให้ อ.เคท ไม่เห็นด้วยจึงมีหนังสืออุทธรณ์มติดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการบริหารฯ มีมติในเวลาต่อมา คือ วันที่ 22 มิ.ย. 2558 ยืนยันตามมติเดิม อ.เคทจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง
ศาลปกครองมีคำพิพากษาจากกรณี อ.เคท เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2561 คือ คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขที่ บ.77/2561 ตัดสินถอนมติคณะกรรมการบริหารฯ ที่ไม่ว่าจ้าง อ.เคท ในตำแหน่งอาจารย์ เพราะเหตุที่เป็นมติซึ่งมีลักษณะเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากแม้พฤติการณ์ของ อ.เคทจะไม่เหมาะสม แต่ไม่ถึงเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีที่มหาวิทยาลัยจะไม่ว่าจ้างได้
อย่างไรก็ดี ศาลได้พิพากษาว่า มติของคณะกรรมการบริหารฯ ที่ไม่ว่าจ้างนั้นมิใช่เพราะประเด็นกับเพศสภาพของ อ.เคท แต่อย่างใด
จนกระทั่งวันนี้ (19 มี.ค.) คณะกรรมการบริหาร มธ. ได้ทบทวนมติที่เคยไม่รับ อ.เคท และน้อมรับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ บ.77/2561 โดยคณะกรรมการบริหารฯ ตัดสินว่า การที่ อ.เคท เคยโพสต์ภาพที่ไม่เหมาะสมในสื่อสังคมออนไลน์นั้น ไม่ถึงขนาดจะปฏิเสธไม่รับเข้าเป็นอาจารย์ และคณะกรรมการบริหารฯ ปัจจุบันซึ่งมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยและคณบดีใหม่หลายท่าน ได้ลงมติในการประชุมให้รับ อ.เคท ครั้งพิบูลย์ เข้าเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ ด้วยเหตุผลดังกล่าว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงไม่อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
ทั้งนี้ อ.เคท ครั้งพิบูลย์ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง 'พรรคอนาคตใหม่' ที่นำโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล จะส่งผลกระทบต่ออาชีพอาจารย์ประจำคณะหรือไม่นั้น อ.เคท ตอบกับวอยซ์ ออนไลน์ว่า คิดว่าไม่น่าจะกระทบ เพราะในรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประกอบด้วยอาจารย์หลายท่าน และโดยส่วนตัวยินดีเข้าร่วม เพราะพรรคอนาคตใหม่ เป็นการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดต้องการพัฒนาประเทศ