นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากที่มีการรายงานข่าวเรื่องเด็กชายวัย 7 ปี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือถูกระบุว่าเสียชีวิตจากเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นั้น กรมควบคุมโรคยืนยันว่าขณะนี้ไม่พบโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในไทยแต่อย่างใด ยังคงเป็นสายพันธุ์ประจำฤดูกาลที่สามารถพบได้ จากรายงานสอบสวนโรคเบื้องต้นในพื้นที่พบว่า ผู้ป่วยคนดังกล่าวเสียชีวิตด้วยโรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) ไม่ได้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากผลทางห้องปฏิบัติการตรวจไม่พบเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ โดยผู้เสียชีวิตมีประวัติเล่นน้ำคลอง หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ผลทางห้องปฏิบัติการพบติดเชื้อในกระแสเลือด
สถานการณ์โรคเมลิออยโดสิสจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 20 สิงหาคม 2561 พบผู้ป่วยแล้ว 1,572 ราย เสียชีวิต 3 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากสุด ได้แก่ อายุ 55-64 ปี รองลงมาอายุ 45-54 ปี และอายุ 65 ปีขึ้นไป พบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2560 ที่ผ่านมา ทั้งปีมีผู้ป่วยทั้งหมด 3,439 ราย โดยผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ (อายุ 35 ปีขึ้นไป) พบถึง 2,906 ราย คิดเป็นร้อยละ 84.5 ของผู้ป่วยทั้งหมด
โรคเมลิออยโดสิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถพบได้ในช่วงฤดูฝน โดยผู้ป่วยมักรับเชื้อที่อยู่ในดินและน้ำ จากการสัมผัสดินหรือน้ำเป็นเวลานานหรือผ่านทางบาดแผล จากการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป หรือจากการหายใจเอาอากาศที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป หลังรับเชื้อประมาณ 1- 21 วัน ผู้ป่วยมักมีอาการไข้เป็นเวลานาน ไม่ทราบสาเหตุ มีเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอด ตับ ม้าม แผลอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
กรมควบคุมโรค แนะนำวิธีปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันและให้ปลอดภัยจากโรคนี้ คือ การใส่รองเท้าบู๊ตเมื่อจำเป็นต้องเดินลุยหรือย่ำน้ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม ดื่มน้ำต้มสุก หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์สุกๆ ดิบๆ และหลังสัมผัสน้ำและดิน ควรทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดทันที หากมีอาการไข้เกิน 2 วันหรือเกิดแผลอักเสบเรื้อรัง ควรจะรีบไปพบแพทย์โดยทันที พร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสน้ำหรือดินเป็นเวลานาน หากประชาชน มีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422