สำนักงานสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น (JAXA) เปิดเผยว่ายานสำรวจอวกาศ ฮายะบุสะ 2 ซึ่งถูกปล่อยจากฐานยิง H-2A ของญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2557 ใช้เวลา 3 ปี 6 เดือน 25 วันในการเดินทางกว่า 3,200 กิโลเมตรสู่ชั้นบรรยากาศเหนือโลก และถึงจุดหมายปลายทาง ดาวเคราะห์น้อย 'ริวกู' ซึ่งมีรูปทรงคล้ายเพชร และมีความกว้างประมาณ 900 เมตร เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา
แถลงการณ์ของ JAXA ระบุว่ายานฮายะบุสะ 2 โคจรถึงดาวเคราะห์น้อยริวกุด้วยความสำเร็จ โดยระบบการทำงานทุกอย่างของยานฮายะบุสะ 2 อยู่ในภาวะปกติ และจะคงระดับการโคจรในรัศมี 20 กิโลเมตรเหนือดาวเคราะห์น้อย เพื่อปฏิบัติภารกิจตามแผนการที่วางไว้
(เจ้าหน้าที่ของ JAXA แถลงความสำเร็จขณะยานฮายะบุสะ 2 เดินทางถึงดาวเคราะห์น้อยริวกูเมื่อ 27 มิ.ย. 2561)
ทั้งนี้ ภารกิจหลักของยานฮายะบุสะ 2 รวมถึงการเก็บภาพถ่ายพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยริวกู และในปีหน้าจึงจะเริ่มต้นภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การปล่อยหุ่นยนต์สำรวจอวกาศ MASCOT ลงจอดบนดาวเคราะห์น้อย เพื่อเก็บตัวอย่างแร่ธาตุ หิน ผงฝุ่น และวัตถุอื่นๆ ที่พบบนพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย จากนั้นจึงจะนำกลับมายังศูนย์บัญชาการภาคพื้นดินที่ญี่ปุ่น โดยคาดว่ายานฮายะบุสะ 2 จะกลับมายังโลกในปี 2563
ปฏิบัติการสำรวจอวกาศของ JAXA ครั้งนี้ เป็นการสานต่อความสำเร็จของโครงการยานสำรวจอวกาศฮายาบุสะ 1 ซึ่งเดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อยอิโทะคะวะ และนำฝุ่นผงบนดาวเคราะห์น้อยกลับมายังโลกได้สำเร็จเมื่อปี 2553
ส่วนดาวเคราะห์น้อยริวกู ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในโครงการสำรวจอวกาศ LINEAR เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2542 และในตอนแรกได้รับหมายเลขประจำดาว คือ 1999 JU3 ก่อนจะถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็นดาวเคราะห์น้อยริวกูเมื่อปี 2558 ซึ่งหมายถึง 'วังมังกร' ตามความเชื่อในนิทานปรัมปราของญี่ปุ่น
ที่มา: The Guardian/ JAXA/ Space
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: