ไม่พบผลการค้นหา
อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะประชาชนพก 4 ยาสมุนไพรคู่กาย บรรเทาอาการคลื่นไส้ วิงเวียน เดินทางไกลช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ พร้อมเตือนดูแลสุขภาพช่วงฤดูหนาว

 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำประชาชนที่ต้อง เดินทางไกลในช่วงเทศกาลปีใหม่อาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย หรือไอ ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นได้เสมอทั้งในภาวะปกติและช่วงเวลาเดินทางไกล จึงขอแนะนำให้มีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสมุนไพร 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ยาอมแก้ไอมะขามป้อม ยาหม่องสมุนไพร/น้ำมันไพล ยาหอมเทพจิตร และยาดมสมุนไพร ควรพก 4 ยาสมุนไพรคู่กาย     บรรเทาอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้น ได้แก่ ยาอมแก้ไอมะขามป้อม สรรพคุณ ช่วยบรรเทาอาการขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ    ยาหม่องสมุนไพร/น้ำมันไพล สรรพคุณ บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ยาหอมเทพจิตร สรรพคุณ แก้ลม บำรุงหัวใจ และ ยาดมสมุนไพร สรรพคุณ บรรเทาอาการวิงเวียน ช่วยให้สดชื่นผ่อนคลาย สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

สำหรับช่วงปีใหม่นี้ หลายจังหวัดของประเทศไทยมีอากาศที่หนาวเย็น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงฉับพลัน   จึงอยากแนะนำให้ประชาชนดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาไทยด้วยการบริโภคอาหารและใช้รสชาดอาหารเป็นยา ด้วยผักพื้นบ้านอาหารเป็นยา ตามหลักทฤษฎีการแพทย์แผนไทย จะใช้รสชาติของอาหารเป็นยาช่วยปรับสมดุลของร่างกายให้พร้อมรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยรสชาติอาหารเป็นยาที่เหมาะในฤดูหนาว คือ รสเปรี้ยว รสขม และรสเผ็ดร้อน เพราะรสเปรี้ยวจากผลไม้ เช่น มะม่วง มะขาม มะยม ส้ม จะช่วยขับเสมหะ มีวิตามินซีสูง ซึ่งทำให้ร่างกายสดชื่น ตี่นตัว ทางการแพทย์แผนไทยอธิบายว่า สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว จะทำให้ธาตุไฟกำเริบ ช่วยให้ร่างกายกระฉับกระเฉง รสขม เช่นมะระ ขี้เหล็ก สะเดา ช่วยเจริญอาหารทำให้หลับง่าย ส่วนรสเผ็ดร้อน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กระเทียม กระเพรา หอมแดง จะช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ขับลม ดังนั้นช่วงหน้าหนาวควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ ยกตัวอย่างเมนูอาหารที่เหมาะจะทานในช่วงหน้าหนาว เช่น แกงส้ม ต้มยำต่างๆ จะเห็นว่าส่วนประกอบของต้มยำจะมีสมุนไพรรสเผ็ดร้อน ได้แก่ ขิง ข่า ขมิ้น ตระไคร้ พริกใบกะเพรา มะกรูด พริก หัวหอม หัวกระเทียม เป็นต้น 

ขณะที่ กรมสุขภาพจิตแนะนำใช้ 3 วิธีคลายเครียด ขณะรถติดในช่วงเดินทางไปฉลองเทศกาลปีใหม่ในต่างจังหวัด โดยฟังเพลงที่ชื่นชอบแบบนันสต๊อป ฟังวิทยุ และบิดขี้เกียจ ยืดเหยียดคลายกล้ามเนื้อหดเกร็ง เช่น การกำมือสลับแบมือ  ก้ม-เงยศีรษะ หันหน้าไปซ้าย-ขวา ขยับไหล่ขึ้น-ลง นวดขมับ นวดหัวคิ้วและสันจมูก จะช่วยคลายความเครียดได้ดี และมีสมาธิดีขึ้น  

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงวันหยุดยาวฉลองปีใหม่ 2561  ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2560 จนถึงวันที่ 2 มกราคม 2561 คาดว่าจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนหรือพบปะญาติพี่น้องในต่างจังหวัด สภาพการจราจรหนาแน่นติดขัด  อาจทำประชาชนเกิดความเครียด มีอารมณ์หงุดหงิดได้ง่าย เนื่องจากไม่สามารถทำเวลาอย่างที่ตั้งใจไว้ได้

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า  ในการลดความความเครียดระหว่างรถติด ประชาชนอย่าไปจดจ่อกับเรื่องรถติด เพราะเครียดแค่ไหน หงุดหงิดแค่ไหน ก็ไม่ได้ช่วยให้รถเคลื่อนตัวไปได้   จึงขอให้เอาเวลาขณะรถติดมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ผ่อนคลายความเครียดแทน  3 วิธีการง่ายๆ ดังนี้ 1. ฟังเพลง เพลงสามารถเพิ่มความเพลิดเพลินขณะใช้รถทั้งคนขับและผู้โดยสาร โดยผู้ที่ชื่นชอบเสียงเพลงอาจคัดเลือกเพลงที่ชอบแล้วคัดลงซีดีหรือเอมพี 3 ( MP3) เอาไว้ฟังในรถแบบนันสต๊อป ( non stop) ฟังได้นานเป็นชั่วโมงๆ โดยไม่ต้องเปิดปิดเครื่องเล่น และยังสามารถร้องคลอตามไปด้วย  

“ผลการวิจัยทั้งในและต่างประเทศยืนยันตรงกันว่า การฟังเพลงมีผลดีต่อสุขภาพ ช่วยผ่อนคลายความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ก่อให้เกิดสมาธิดีขึ้น ส่วนการร้องเพลงตามนั้นจะมีประโยชน์ สามารถระบายความตึงเครียดในใจออกมา ช่วยบริหารปอด ทำให้ร่างกายสดชื่นแข็งแรง และยังเสริมสร้างความมั่นใจในตนเอง”อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว  

วิธีที่2.  ฟังรายการวิทยุที่ชอบ ซึ่งสามารถเลือกฟังได้หลากหลาย ทั้งเพลงเพราะๆ ความรู้ที่หลากหลาย ฟังนักจัดรายการที่ชื่นชอบจากต่างสถานีกัน หรือฟังรายงานจราจรก็ได้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถติดตามและรับรู้สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในเส้นทางที่เรากำลังใช้ได้เช่นกัน และ วิธีที่3. การทำกายบริหารคลายเครียดระหว่างอยู่บนรถ บิดขี้เกียจเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็งขณะขับรถ เช่นการกำมือสลับแบมือ  ก้มเงยศีรษะ หันหน้าไปซ้าย-ขวา การขยับไหล่ขึ้น-ลง การนวดขมับ นวดหัวคิ้ว และสันจมูก นวดบ่าทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น จะช่วยคลายกล้ามเนื้อและช่วยลดความเครียดลงได้   อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว