ไม่พบผลการค้นหา
"เธอเคยจูบผู้หญิงไหม แล้วชอบหรือเปล่า" คำตอบของชายวัย 20 ปีก็คือ "ไม่" เมื่อผู้ชายถูกเคที เพอร์รีคุกคามทางเพศในรายการอเมริกัน ไอดอล แต่เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องขบขัน สะท้อนให้เห็นถึงอาการมือถือสากปากถือศีลของกระแส #MeToo ในสังคมอเมริกัน

เคที เพอร์รี นักร้องชื่อดังชาวอเมริกันวัย 33 ปีเคยประกาศว่าเธอเป็นเฟมินิสต์ ส่งเสริมพลังหญิง แม้ก่อนหน้านี้จะปฏิเสธ เพราะยังไม่เข้าใจความหมายของเฟมินิสต์ แต่หากใครได้ดูรายการอเมริกัน ไอดอลตอนล่าสุดอาจจะเห็นได้ว่า เคที เพอร์รียังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า เฟมินิสต์ หรือสตรีนิยม

ในรายการอเมริกันไอดอลตอนล่าสุด เคที เพอร์รีไปจูบปากเบนจามิน เกลซ ผู้เข้าแข่งขันร้องเพลงวัย 19 ปีโดยที่เขาไม่ยินยอม โดยเคทีและกรรมการคนอื่นๆ เรียกให้เกลซไปจูบเคที ซึ่งเขาเลือกที่หอมแก้มเธอแทน แต่พวกเขาให้เกลซหอมแก้มเคทีอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เคทีหันไปจูบที่ริมฝีปากของเกลซแทน

เกลซเปิดเผยกับสำนักข่าวเดอะ นิวยอร์ก ไทม์สว่ามันเป็นจูบที่น่าอึดอัดใจ และนี่เป็นจูบแรกของเขา เขาอยากจะเก็บไว้ให้สาวคนแรกที่เขาจะคบหาดูใจอย่างจริงจัง เพื่อให้จูบแรกเป็นสิ่งพิเศษ และหากเคทีขออนุญาตเขาก่อน เขาก็จะปฏิเสธด้วย แต่เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาถูกคุกคามทางเพศแต่อย่างใด

คุกคามหรือไม่?

จริงๆ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคนที่โดนกระทำ ซึ่งเกลซมองว่าไม่รู้สึกว่าเป็นการคุกคามทางเพศ และเราก็เคารพการตัดสินใจของเขา เช่นเดียวกับที่เราเคารพผู้หญิงหลายคนที่มองว่าการถูกพูดแซวในที่ทำงานไม่ใช่การคุกคามทางเพศ แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ถูกกระทำเช่นกันแล้วรู้สึกว่าถูกคุกคาม

ผู้หญิงหลายคนไม่เคยคิดว่าอีกฝ่ายมีเจตนาที่จะคุกคามทางเพศจึงไม่ได้รู้สึกอะไร จนกระทั่งมีกระแส #MeToo หรือแคมเปญต่อต้านการคุกคามทางเพศอื่นๆ หยิบยกตัวอย่างการถูกคุกคามขึ้นมา และทำให้บางคนนึกขึ้นมาได้ในภายหลังว่าบางเหตุการณ์ในชีวิตอาจเข้าข่ายการถูกคุกคามทางเพศ หรือในกรณีนี้ลองสลับเพศกันดู หากผู้ชายอายุ 33 ปีที่เป็นกรรมการการแข่งขันไปจูบปากผู้เข้าแข่งขันสาววัย 19 ปีโดยที่เธอไม่ยินยอม ทั้งตัวเธอเองและคนอื่นๆ จะมองว่าเป็นการคุกคามทางเพศหรือไม่


นี่คือเรื่องของอำนาจ ไม่ใช่เรื่องเพศ

ขณะที่หลายคนมองกระแส #MeToo และการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องของการส่งเสริมพลังหญิง แต่จริงๆ และการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องของอำนาจมากกว่าเรื่องเพศ ซึ่งโครงสร้างสังคมปิตาธิปไตยทำให้โดยรวมแล้วผู้ชายมีอำนาจมากกว่าผู้หญิง ทั้งด้านการศึกษา การทำงานและอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน เป็นโปรดิวเซอร์ มีอำนาจตัดสินว่าจะให้ใครแสดงภาพยนตร์เรื่องไหน ตัดสินว่าจะให้งบเรื่องไหนเท่าไหร่ ความรู้สึกเหนือกว่าทำให้เขาคุกคามทางเพศคนหลายคน

05 Harvey Weinstein (2).jpg

ในกรณีนี้ก็ชัดเจนว่าเคทีใช้อำนาจของตัวเองโดยมิชอบ เธอทั้งอายุมากกว่า เป็นดาราดัง และเป็นกรรมการตัดสินในรายการนี้ เธอมีอำนาจเหนือผู้แข่งขันหนุ่มในทุกทาง นอกจากนี้ การแข่งขันนี้ยังเป็นเรียลลิตี้ที่มีกล้องคอยถ่ายสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องออดิชั่น เกลซก็อาจกลัวภาพลักษณ์ของตัวเองแย่ หากแสดงอาการไม่พอใจออกไปในทันที เพราะรู้ว่าภาพเหล่านั้นจะถูกนำไปเผยแพร่ทั่วโลก

แม้เคทีและกรรมการคนอื่นๆ จะมองว่านี่เป็นเรื่องตลก เป็นการหยอกเอินกัน ไม่ได้มีเจตนาไม่ดี แต่อย่าลืมว่าก็มีผู้ชายจำนวนมากที่ไม่คิดว่าการผิวปากแซวผู้หญิงในที่ทำงาน เป็นการคุกคามทางเพศ เผลอๆ มองว่านี่เป็นเรื่องที่ควรจะภูมิใจเสียด้วยซ้ำที่มีคนแซว ในกรณีนี้ เด็กหนุ่มก็ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้เช่นกันว่า หากเป็นผู้ชายบางคนก็อาจจะดีใจที่ได้จูบกับเคที แต่ไม่ใช่เขา


ผู้ชายก็เป็นเหยื่อของสังคมปิตาธิปไตย

ทำไมเวลาที่ผู้ชายเป็นผู้ถูกกระทำ แล้วสังคมไม่ค่อยสนใจมากนัก ทำไมการถูกคุกคามทางเพศของผู้ชายจึงกลายเป็นเรื่องขบขัน หรือเหมือนไม่มีอยู่จริง เมื่อมีข่าวเคที เพอร์รีออกมา เราไม่เห็นดาราคนไหนออกมาตำหนิว่านี่มันเป็นการคุกคามทางเพศ กระแส #MeToo นี่ดังมากในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่พูดเลยว่าพฤติกรรมเช่นนี้เป็นการรุกล้ำพื้นที่ปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน และพฤติกรรมนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้

ในความเป็นจริง มีผู้ชายที่ถูกคุกคามทางเพศจำนวนมาก ทั้งจากผู้ชายกันเองและผู้หญิงด้วย บางคนถูกเจ้านายผู้หญิงคุกคามทางเพศ ผู้ชายจำนวนมากถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัด ในโบสถ์ ในค่ายทหาร ขณะที่นักแสดงชายบางคนก็ออกมาเปิดเผยว่าพวกเขาถูกคุกคาม เช่น เทอร์รี ครูส์ และเจมส์ แวน เดอร์ บีก รวมถึงแอนโทนี แรพ

Male Victim

Photo by Malik Earnest on Unsplash

หลายคนออกมาประณามดาราชายเหล่านี้ด้วยซ้ำว่าพวกเขาพยายามลดทอนความสำคัญของประเด็นที่ผู้หญิงถูกสังคมปิตาธิปไตยเอารัดเอาเปรียบ โดยที่ไม่ได้สำรวจตัวเองด้วยซ้ำว่าการมองการคุมคามทางเพศผู้ชายเป็นเรื่องเล็กก็เป็นส่วนหนึ่งของชุดความคิดสังคมชายเป็นใหญ่ ที่กำหนดบทบาทว่าผู้ชายจะต้องเข้มแข็งปกป้องตัวเองได้

การที่ผู้ชายถูกผู้ชายด้วยกันคุกคามทางเพศจึงเปรียบเหมือนเขาได้สูญเสีย "ความเป็นชาย" ไปแล้ว หรือถ้าเขาถูกผู้หญิงคุกคาม สังคมก็กดดันให้เขาต้องรู้สึกดีที่มีผู้หญิงอยากได้เขา และหากเขายืนยันว่าไม่ชอบให้ผู้หญิงมาคุกคามทางเพศ บางคนก็จะกล่าวหาว่าเขาเป็นเกย์หรือเปล่า ทั้งที่ผู้หญิงที่ไม่ชอบให้ผู้ชายมาจูบโดยไม่ยินยอมก็ไม่ได้เป็นเลสเบี้ยน ดังนั้น หลายครั้งผู้ชายรู้สึกอายที่จะยอมรับว่าตัวเองถูกคุกคามทางเพศ ซึ่งจะแปลว่าเขาอ่อนแอ