หลังอ่านจบ ก็คาดเดาไม่ยากว่า องค์กรปราบโกงอย่าง ป.ป.ช. จะเป็น “ตัวละครสำคัญ” ที่ชี้ชะตาการเมืองไทยได้ในอนาคต โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า
เพราะต้องไม่ลืมว่า นอกเหนือจากอำนาจมหาศาลในการปราบโกงที่มีอยู่แล้ว รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังเพิ่มพลังให้ ป.ป.ช. อีกหลายอย่าง เช่น เอาผิดคนที่ไม่ปฏิบัติตาม “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ฉบับของ คสช. หรือเอาผิดคนที่ไม่ปฏิบัติตาม “มาตรฐานจริยธรรม”
ที่ผ่านมา กฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งเริ่มใช้ฉบับแรกเมื่อปี 2542 เคยถูกแก้ไขไปแล้ว 4 ครั้ง แต่ละครั้ง มักส่งผลให้ ป.ป.ช. มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
- แก้ครั้งแรก (ปี 2550) ให้ ป.ป.ช. หยิบคดีขึ้นมาทำเองได้ ไม่ต้องรอให้มีผู้ร้อง
- แก้ครั้งที่สอง (ปี 2554) เพิ่มอำนาจหลายอย่าง อาทิ คุ้มครองพยาน เงินรางวัลแจ้งเบาะแส กันไว้เป็นพยาน ฯลฯ
- แก้ครั้งที่สาม (ปี 2558) เพิ่มอัตราโทษคดีทุจริตสูงสุดคือประหารชีวิต และถ้าจำเลยหลบหนี ให้ไม่มีอายุความ
- แก้ครั้งที่สี่ (ปี 2559) ให้ตั้งพนักงานไต่สวนมาช่วยทำงานได้ เพราะ ป.ป.ช. มักอ้างว่าที่ผ่านมาทำงานช้า เพราะมีคนไม่พอ
แต่กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับปี 2561 นี้ ไม่ใช่ฉบับแก้ไข แต่เป็นฉบับทำใหม่ทั้งหมด ซึ่งนอกจากอำนาจเดิมๆ ที่มีอยู่แล้ว ยังเพิ่มเติมอำนาจใหม่ๆ เข้าไปอีก
นี่ขนาดถอดเรื่องการ “ดักฟัง แฝงตัว สะกดรอย” ออกไปแล้ว แต่ค่าพลังใหม่ที่มีให้กับ ป.ป.ช. อยู่ ก็ยังสุดจะ powerful
เช่น
- ให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ต่อสาธารณชน ซึ่งเดิมจะเปิดเฉพาะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. แต่หลังจากนี้จะรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และผู้บริหารท้องถิ่นด้วย (มาตรา 106)
- ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกตำแหน่งที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ไปยื่นบัญชีทรัพย์สินกับหัวหน้าส่วนราชการแทน (มาตรา 130)
- แค่แจ้งข้อกล่าวหา ยังไม่ถึงขั้นต้องชี้มูล ก็สามารถขอให้หัวหน้าส่วนราชการสั่งพักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐคนนั้นๆ เป็นเวลาหกเดือนได้ เพื่อประโยชน์ต่อการไต่สวน (มาตรา 90)
ฯลฯ
แต่ในทางกลับกัน สำหรับกรณีนี้ Great Power กลับไม่มาพร้อมๆ Great Responsibility หรือ “อำนาจที่มากขึ้นไม่ได้มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากขึ้น”
เพราะกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจของ ป.ป.ช. กลับไม่เพิ่มตามไปด้วย
เชื่อหรือไม่ สิ่งแรกๆ ที่ ป.ป.ช. ทำ เมื่อกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ ก็คือการถอดรายงานความคืบหน้าการไต่สวนคดีทุจริตต่างๆ ของ ป.ป.ช. ออกจากเว็บไซต์! (อ้างมาตรา 36) ทั้งที่การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2554 เพื่อให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช. และเพื่อแสดงความโปร่งใสขององค์กรปราบโกงนี้
นอกจากนี้ ยังปฏิเสธการให้หน่วยงานภายนอก เช่น ผู้ว่าฯ สตง. เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของคนของ ป.ป.ช. โดยเขียนไว้ว่าจะดำเนินการ “ไต่สวนกันเอง” (มาตรา 159)
ส่วนเนื้อหาในส่วนที่ว่าด้วยการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. ก็เป็นเนื้อหาเดิมๆ ที่มีอยู่���ล้ว ไม่ได้เพิ่มขึ้นเหมือนอำนาจที่ได้รับ ทั้งเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อประธานวุฒิสภา หรือถ้าใครถูกร้องเรียนก็ให้ประธานรัฐสภาส่งไปให้ประธานศาลฎีกาตั้งผู้ไต่สวนอิสระ (มาตรา 42-45)
ที่สุด การใช้อำนาจของ ป.ป.ช. จึงอยู่บนฐานคิดที่ไม่ต่างอะไรกับราชการไทยแบบโบราณ คือให้อำนาจฉันมา ไว้ใจฉัน แล้วฉันจะตรวจสอบกำกับดูแลการทำงานกันเอง ก็กฎหมายได้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการทุกคนไว้แล้วนี่ว่า “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”
แม้กฎหมายใหม่นี้จะกำหนด deadline ให้ ป.ป.ช. ทำคดีต่างๆ ด้วยความรวดเร็ว เช่น ถ้าเริ่มไต่สวนคดีใดแล้วต้องทำให้จบภายใน 2 ปี (มาตรา 48) แต่นั่นก็เป็นเพียงการกำหนดขั้นตอนการทำงานเท่านั้น ไม่ได้การันตีว่าการทำงานจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือเข้าข้างใคร เพื่อ “ล้างทุจริตให้สิ้นแผ่นดินไทย” เหมือน slogan ของ ป.ป.ช.
เพราะต้องไม่ลืมว่า ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ก็ถูกสังคมคลางแคลงใจมาแต่ต้น ด้วยกรรมการ 6 ใน 9 คน ถูกแต่งตั้งมาในยุครัฐบาลทหาร ตัวประธานเองเคยเป็นถึงเลขานุการของนายทหารใหญ่รายหนึ่ง แถมได้ต่ออายุทำงานออกไปอีกทั้งๆ ที่น่าจะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ (พ้นจากการเป็นข้าราชการการเมืองไม่ถึงสิบปี)
แล้ว ป.ป.ช. จะให้บทบาท หน้าที่ รวมถึงอำนาจที่ได้รับมา อย่าง “สุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวง” ดังที่เขียนไว้ในกฎหมายได้มากน้อยเพียงใด
ที่ผ่านมา สังคมก็เพ่งเล็งอยู่แล้วว่า คดีใดเกี่ยวกับทหารหรือกองทัพ ถ้าไม่ยกคำร้อง ก็มักเดินหน้าล่าช้า
ป.ป.ช. ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าจะใช้อำนาจที่ได้รับมาอย่างเหมาะสม ซึ่งบทพิสูจน์ที่ดีที่จะบอกใครต่อใครว่า ป.ป.ช. ทำงานตรงไปตรงมา ไม่สนระบบอุปถัมภ์ ก็คือ “คดีนาฬิกาบิ๊กป้อม” ที่ผ่านไปสองในสามของปีแล้ว ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ออกมาให้สังคมได้พอใจ
จนหลายๆ คนเริ่มบ่นว่า ไม่อยากฝากความหวังการปราบโกงไว้กับองค์กรที่มีอายุใกล้จะครบ 20 ปี องค์กรนี้แล้ว